รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า SMEs ในบ้านเราส่วนใหญ่ยังขาดนวัตกรรม ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งนวัตกรรมจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1.นวัตกรรมที่เปลี่ยนสินค้าหรือบริการจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่สมัยก่อนโทรได้อย่างเดียว แต่ตอนนี้สามารถทำได้หลายอย่าง การที่จะปรับปรุงในส่วนนี้ไม่ยาก ถ้าเรามีความรู้และทุน
2.นวัตกรรมที่จะนำไปสู่การลดต้นทุนในการผลิต และทำให้สินค้าของเรายากที่จะถูกลอกเลียนแบบ เรียกว่า “นวัตกรรมสะสม” ซึ่งก็คือองค์ความรู้ที่สะสมอยู่ในตัวของบุคลากรที่เกี่ยวกับการให้บริการคู่ค้าทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการในการให้บริการที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บริการที่เราให้ลูกค้าแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน จะทำให้ลูกค้าประทับใจ ที่เรารู้ใจลูกค้า
“ใครก็เอาไปจากเราไม่ได้ ก็อปปี้ก็ไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นเป็นคำตอบที่ว่าองค์กรยั่งยืนทั่วไป จะไม่ปลดพนักงานตัวเอง เพราะพนักงานมีองค์ความรู้ที่จะก่อให้เกิด “นวัตกรรมสะสม” ที่จะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่สูงมาก” รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าว
รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าวต่อว่า หากองค์กรต้องการที่จะมีนวัตกรรม ในส่วนของ R&D (Research & Development) นั้น อาจต้องขอความช่วยเหลือจากแหล่งทุน เพื่อนำเงินมาลงทุนในส่วนนี้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น SME Development Bank หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และในส่วนที่ขาดหายไป คือเรื่องขององค์ความรู้ อย่างบางคนมีวัตถุดิบอยู่แล้ว ต้องการที่จะพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ ก็ต้องหาคนที่จะมาช่วย ถ้าเป็น SMEs ทั่วไป คิดว่าแหล่งมหาวิทยาลัยจะมีอาจารย์ที่ทำการศึกษาตรงนี้อยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร อาหาร เคมีภัณฑ์ เขาจะช่วยได้ เพราะเขาทำงานวิจัยเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ อาจไปขอความช่วยเหลือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หรือ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งตอนนี้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ SMEs เยอะมากเพียงแค่เราต้องรู้ช่องทาง
สำหรับคนที่มีข้อมูล แต่ยังไม่รู้ว่าจะต่อยอดนวัตกรรมสินค้าอย่างไร รศ.ดร.สุขสรรค์ บอกว่าคนที่จะตอบโจทย์นวัตกรรมได้ก็คือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ อย่างตอนนี้สังคมของเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีเรื่องของปัญหาสุขภาพต่างๆ เราก็ต้องพยายามพัฒนาสินค้าและบริการของเราให้ตอบโจทย์เทรนด์ตรงนี้
“เพราะฉะนั้น เป้าหมายหลักของการสร้างนวัตกรรม ก็คือสังคม และลูกค้าของเรา สังคมจะมีอิทธิพลต่อลูกค้า อย่างตอนนี้เราจะระมัดระวังเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากเลย เพราะฉะนั้น สินค้าที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคปัจจุบัน จะต้องเป็นสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน เป็นต้น ก็ต้องดูสภาพแวดล้อมทางธุรกิจก่อนว่า ปัจจุบันแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เราอยู่ไปทางไหน ถึงจะตอบโจทย์ได้ตรงประเด็น” รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าว
รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าวด้วยว่า การจัดการองค์กรยังคงเป็นปัญหารากฐานสำหรับ SMEs ในบ้านเรา ซึ่งปัจจุบันจะจัดการองค์กรแบบจัดคนตามกลุ่มของงาน เช่น ฝ่ายผลิตก็อยู่กับฝ่ายผลิต การตลาดก็อยู่กับฝ่ายการตลาด ซึ่งการจัดการแบบนี้จะใช้ได้ ถ้ามีคนในองค์กรไม่มาก ประมาณ 20-30 คน และมีผลิตภัณฑ์น้อยแค่ 1-2 ชิ้น คนในองค์กรทั้งหมดไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนก็จะรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร มีความต้องการอย่างไร เราก็สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามโจทย์ลูกค้าได้ แต่ถ้าสินค้าขายดี มีปริมาณมาก แล้วเราก็ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงใช้โครงสร้างองค์กรแบบเดิม ก็จะทำให้เกิดการสูญเสีย Customer Focus หรือ การมุ่งเน้นลูกค้าไป เช่น เรามีผลิตภัณฑ์ 40 ชนิด เราก็จะมีลูกค้าเยอะไปหมด และไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคนอย่างไร
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องจัดองค์กรแบบใหม่ ต้องเป็น Customer Focus จัดกลุ่มของคนตามสินค้าและบริการของเรา เช่น ถ้าเป็นสินค้าสบู่ ก็ต้องมี Product Manager ที่ดูแลเรื่องสินค้าสบู่ไปเลย และให้มีลูกน้องคนหนึ่งที่ถูกกำหนดจากฝ่ายต่างๆ ให้มาทำงานเฉพาะเรื่องสบู่อย่างเดียว ก็จะเป็นการตอบโจทย์ จะรู้ว่าตลาดสบู่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร “ถ้าเราไม่บริการจัดการองค์กรให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตขององค์กร มันก็จะไม่เกิดนวัตกรรม หรือเกิดยากมาก มันไม่ทันกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป”
ทั้งนี้ หากในองค์กรได้พัฒนานวัตกรรม เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ แต่คนในองค์กรอาจมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลง รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าวว่า เป็น Mindset (กระบวนการทางความคิด ความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม) ของคน ซึ่งทำให้เราแข่งขันในตลาดโลกได้ “ถ้าเรามองแต่ตัวเอง แต่เราลืมไปว่าคู่แข่งของเราซึ่งมาจากทั่วโลก เขาพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราทำทุกวันดีอยู่แล้ว วันดีคืนดี เราก็จะขายของไม่ได้เลย เพราะการแข่งขันในโลกธุรกิจนั้น ห้ามหยุดนิ่ง จะต้องมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับการจัดการองค์กรนั้น รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับ SME ที่ในการเริ่มต้นธุรกิจ เราจะต้องหาคนที่มาร่วมทุน หรือคนที่มาทำงานกับเรา จะต้องมีทัศนคติแบบเดียวกัน มีค่านิยมร่วมและมีวิสัยทัศน์เหมือนกัน เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่อธุรกิจมีการขยายตัว การจะคัดเลือกคนเข้ามาก็ต้องเลือกให้ถูก
“ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือดูว่าบจากมหาวิทยาลัยไหน เกรดเฉลี่ยเท่าไร มีประสบการณ์ทำงานเท่าไร อาจมีการทดสอบ Attitude (ทัศนคติ)แล้วรับเข้ามา แต่ไม่ได้ดูว่า เขาเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ กับค่านิยมร่วมขององค์กรหรือไม่ ถ้าเขาเห็นด้วย ก็จะทำให้คนในองค์กรเป็นกลุ่มเป็นก้อน ตื่นนอนแล้วอยากจะมาทำงานทุกวัน แต่ถ้าเขาไปอยู่ในองค์กรที่มีค่านิยมร่วมไม่เหมือนกัน เขาก็จะอยู่ในองค์กรนั้นได้ไม่นาน และเมื่อรับเขาเข้ามาทำงานแล้ว ก็จะต้องมีการประเมินผลประจำปี ซึ่งเราไม่ได้ประเมินผลเฉพาะงาน หรือสิ่งที่เขาทำให้เรา แต่เราต้องประเมินผลว่าคนๆ นี้ มีค่านิยมสอดคล้องกับบริษัทหรือไม่ ถ้าไม่สอดคล้อง เราก็ต้องให้คะแนนเขาน้อย ในการประเมินตรงส่วนนี้ และเวลาที่เราโปรโมทตำแหน่งงาน หรือการเพิ่มเงินเดือน เราก็ต้องเอาเรื่องของค่านิยมร่วมที่สอดคล้องกับบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินด้วย ถ้าเราทำแบบนี้ต่อเนื่องไปทุกๆ ปี เราก็จะได้กลุ่มของพนักงานที่อยากจะมาทำงานกับเราทุกวัน” รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าว
ส่วนการที่ SMEs มองว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็ก การจัดการต่างๆ ในองค์กร ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น รศ.ดร.สุขสรรค์ กล่าวว่า ก็ต้องค่อยๆ ทำไป อะไรทำได้ก็ทำไปก่อน จะบอกว่าเราไซส์เล็ก แล้วจะไม่ทำนั้นไม่ได้ เราต้องหาวิธีการที่มันเหมาะสมกับองค์กรของเรา
ที่มา : รายการลับคมธุรกิจ วันที่ 6 พ.ย.2561 ทาง FM 90.5
สัมภาษณ์โดย คุณณัฐฏ์ บุณยสิริยานนท์