หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวง ให้สามารถใช้ “ไม้ยืนต้น” เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2561
นายปรีชา หงอกสิมมา เจ้าของวนพรรณการ์เด้น และกรรมการตรวจสอบธนาคารต้นไม้ บ้านท่าลี่ ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนที่เป็นธนาคารต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทย กล่าวว่า การตั้งธนาคารต้นไม้ที่บ้านท่าลี่ เป็นการสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมองว่าการที่พี่น้องประชาชนมีต้นไม้ขึ้นในที่ดินของตัวเองถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ อาทิ ให้ความร่มเย็น ทำฟืน ทำถ่าน แปรรูปเพื่อทำสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตามหลักการ ต้นไม้ทุกต้นนั้นมีคุณค่าของมันอยู่แล้ว แต่เราจะพิจารณาปลูกไม้ที่สามารถแปรรูปได้เป็นกลุ่มแรกๆ ทั้งนี้ บ้านท่าลี่ มีสมาชิกเกือบ 60 ราย มีต้นไม้จากการสำรวจคร่าวๆ เกือบ 3 หมื่นต้น แต่ถ้าสำรวจทั้งหมดก็ประมาณการว่ามีเกือบแสนต้น
ส่วนกฎกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ใช้ไม้ยืนต้น เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้นั้น คุณปรีชา กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องสเปกของไม้ ซึ่งจากที่ประกาศออกไปมี 58 ชนิดนั้น ตนได้ประเมินเองว่า มี 2 กลุ่มหลัก คือ 1.ไม้กลุ่มที่สามารถแปรรูปเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง ทำสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์
2.ไม้ที่ไม่สามารถแปรรูปได้ แต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มไม้ประดับ ไม้ล้อม ซึ่งตามหลักเกณฑ์ในการนำทรัพย์สินไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในขณะนี้ คือ การนำเอาที่ดินบวกกับต้นไม้ จากที่แต่ก่อนจะใช้เฉพาะที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่เราอยากให้ภาครัฐ หรือ ธนาคารพาณิชย์
แยกต้นไม้ออกจากที่ดิน แต่เขายังไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ได้
ต่างจากที่บ้านท่าลี่ ซึ่งมีการระดมทุนจากสมาชิกมาจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และไม่ใช้เงินนอกระบบ ซึ่งคนที่มากู้ นอกจากจะเป็นสมาชิกสถาบันการเงินชุมชนแล้ว ต้องเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ด้วย ซึ่งในการค้ำประกันจะใช้เพียงต้นไม้อย่างเดียว จะไม่เกี่ยวกับที่ดิน และในกรณีที่ไม่ชำระหนี้ ก็จะมีหนังสือสัญญาที่ผู้กู้เซ็นยินยอมให้ไปตัดต้นไม้เพื่อชำระหนี้ได้
คุณปรีชา บอกด้วยว่า มีการกำหนดสเปกต้นไม้ที่นำมาใช้ค้ำประกันในการกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงที่สถาบันการเงินชุมชนจะต้องแบกรับ คือ ต้นไม้จะต้องมีระดับความสูง 130 ซม. มีเส้นรอบไม่ต่ำกว่า 80 ซม. เพราะมันจะสามารถนำไปแปรรูปได้ หรือหากมีการลักลอบตัดต้นไม้ ชาวบ้านก็จะได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ดัง ก็สามารถแจ้งให้กรรมการสถาบันการเงินชุมชนไปตรวจสอบได้ ซึ่งการควบคุมในระดับชาวบ้านจะทำได้ทั่วถึงมากกว่า เป็นการใช้โมเดลขนาดเล็ก ให้ชุมชนบริหารจัดการกันเอง แต่ต้องมีกฎหมายมารองรับ ถ้าใช้โมเดลใหญ่อย่างรัฐบาล จะควบคุมยาก
ส่วนแนวคิดการปลูกต้นไม้ให้เป็นแหล่งคาร์บอนเครดิต และเพื่อการซื้อขายในอนาคตนั้น คุณปรีชา บอกว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่ภาครัฐควรให้การส่งเสริมที่เข้มข้นมากกว่านี้ เพราะกระบวนการวัดว่าต้นไม้ต้นหนึ่งมีคาร์บอนเท่าไร จะต้องใช้คนที่มีความรู้เฉพาะทาง เพราะชาวบ้านไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังต้องเป็นที่ยอมรับของสากลถึงจะสามารถทำการซื้อขายได้ ซึ่งในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ เราจะเป็นฮับเรื่องคาร์บอนได้เลย เพราะต้นไม้บ้านเราโตเร็วกว่าต่างประเทศหลายเท่า เพราะเราอยู่ในเขตร้อน