SME D Bank จับมือกับ วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล รายการ “ลับคมธุรกิจ” ดึงนักธุรกิจไซส์เอสเจ้าของนวัตกรรมสุดล้ำมาตอกย้ำ “คนไทยรวยได้!! ด้วยเกษตรนวัตกรรม ” ควอลิตี้พลัส เอสเทติคฯ เห็นคุณค่าของเหลือทิ้งจากพืชผลไม้ไทยต่อยอดงานวิจัยเชิงลึก ( Deep Biotech) สารออกฤทธิ์จากเปลือกมังคุดสู่อุตสาหกรรมความงามคว้ารางวัลระดับโลกจาก silicon valley ขณะที่ “นิวเจน” ผลิตหมอนสมุนไพรอบร้อนด้วยไมโครเวฟ ด้าน นักวิชาการ แนะวิธีพิชิตนวัตกรรมต้องจัดการองค์กรเอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์พนักงานมีทักษะหลากหลาย นำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ ส่วน SME D Bank หยิบยื่นหลากสินเชื่อให้เข้าถึงเงินทุนง่ายขึ้น พร้อมติวเข้มเสริมความรู้เติบโตยั่งยืน ณ ห้องประชุมชั้น 2 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) กล่าวเปิดงานเสวนา ”คนไทยรวยได้!! ด้วยเกษตรนวัตกรรม” ว่า งานนี้เป็นงานที่ SME Development Bank ตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจไซส์เอส ให้มีโอกาสเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาพลังสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างในด้านผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม จากวัตถุดิบภาคเกษตรมาสู่เกษตรนวัตกรรม ที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมายมหาศาล ซึ่งในวันนี้ มีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ มาถ่ายทอดประสบการณ์ จากการนำของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาสู่กระบวนการวิจัย Deep Biotech และสามารถพัฒนาเป็นสินค้าที่แทบไม่มีมูลค่าสู่สินค้ามูลค่าสูง หรือ New Value Creation รวมถึงสามารถขยายสู่ตลาดโลกได้อีกด้วย นวัตกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องพยายามศึกษา ซึ่งในวันนี้ ทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาเพิ่มพูนความรู้ การมุ่งสู่องค์กรนวัตกรรม และการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ขณะที่ทาง SME Development Bank พร้อมจะผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าด้วยเงินทุนและองค์ความรู้ที่ช่วยให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน
นายสุนทร สุขสมเนตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ SME Development Bank กล่าวในเวทีเสวนา ว่าทางแบ้งก์เองมีการออกแบบสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เพื่อให้ก้าวทันโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในปีนี้มีสินเชื่อหลากหลายมากมายหลายแบบ เช่น สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก สร้างและกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการในชุมชนอย่างทั่วถึง วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ สิ้นสุดรับคำขอกู้ภายใน 18 ธันวาคม 2561 หรือจนกว่าจะหมด วงเงิน สูงสุดไม่เกิน 5.0 ล้านบาท ต่อราย บุคคลธรรมดา วงเงินสูงสุดไม่เกิน 2.0 ล้านบาท บุคคลธรรมดา ที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และนิติบุคคล วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5.0 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืม สูงสุดไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก ปีที่ 4 ถึง ปีที่ 7 MLR ต่อปี
นอกจากนี้ ยังมี สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 กู้ เพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุง พัฒนากิจการ ให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เพื่อลงทุนการเริ่มต้นธุรกิจ สร้างธุรกิจใหม่ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ วงเงิน 8,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1.0 ล้านบาท ต่อราย กรณีผู้กู้เคยปรับโครงสร้างหนี้ให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท หากมีผลการชำระหนี้เป็นปกติไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 เดือน ให้สามารถขอวงเงินเพิ่มได้ตามความเหมาะสมและความสามารถชำระหนี้ ระยะเวลากู้ยืม สูงสุดไม่เกิน 7 ปีปลอดชำระคืนต้น สูงสุดไม่เกิน 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกเซ็กเตอร์ที่รัฐบาลต้องการผลักดันการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ทางแบ้งก์ จึงออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว & ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล ในจังหวัดต่างๆ โดยมีวงเงินโครงการ 7,500 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ บุคคลธรรมดากู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท นิติบุคคล วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย กรณีใช้หลักประกัน บสย. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR ต่อปี กรณี ใช้หลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธพว. เฉพาะประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR – 1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นนอกจากเงินทุนแล้ว ทางแบ้งก์ ยังมีโครงการให้ความรู้ การฝึกอบรม เวอร์คช็อป ตลอดปี สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ ทางเว็บไซต์ และเฟสบุ้ค ของ SME Development Bank ตลอดเวลา
นักวิชาการแนะจัดองค์กรเอื้อสร้างสรรค์นวัตกรรม
ด้าน รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดี งานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ยังคงมีนวัตกรรมออกมาไม่มากนัก ส่วนหนึ่งจากการไม่ค่อยสนใจลงทุนใน วิจัยและการพัฒนา (R & D ) ประกอบกับปัจจัยอื่นๆอีก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการองค์กรที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
สำหรับข้อควรปฎิบัติสำหรับ เอสเอ็มอี เพื่อให้มีนวัตกรรม รศ.ดร.สุขสรรค์ เสนอแนะว่าผู้ประกอบการต้องหมั่นประเมินโครงสร้างองค์กรของตนว่ายังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ปรับโครงสร้างองค์กร โดยใช้ Matrix และ/หรือ Networked Structure บางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ให้บริการกับลูกค้าโดยตรง โครงสร้างแบบ Networked Structureซึ่งโครงสร้างแบบนี้ ทุกคนบริหารจัดการกันเองเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน พนักงานมีทักษะที่หลากหลาย นำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ มีนวัตกรรมสูง และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ต้องรอคำสั่ง มีการฝึกอบรมบุคคลากรเกี่ยวกับการทำงานในโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ ทำให้ลูกค้าร้องเรียนน้อยลง พนักงานที่ customer focused สามารถให้บริการแบบ “รู้ใจ” ลูกค้า ทำให้พนักงานพยายามปรับปรุงงานที่ทำให้ดีขึ้นเสมอๆ นำไปสู่นวัตกรรมความพึงพอใจของทั้งพนักงานและลูกค้าสูง
เอสเอ็มอีรุ่นใหม่สุดล้ำสร้างนวัตกรรมจากของเหลือทิ้ง
นายวุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอาง และให้คำปรึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ กล่าวถึงโมเดลธุรกิจของบริษัท ว่า เป็นโรงงานโออีเอ็ม หรือรับจ้างผลผิตเครื่องสำอางให้แบรนด์อื่นๆ มีโรงงานที่ดอนเมือง และจ.ปทุมธานี และมีสำนักงานที่ มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน และที่โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยเปิดบริษัทลูกทำแบรนด์สินค้าขึ้นมา และทำการส่งออก เพื่อให้ได้ประสบการณ์นำมาแบ่งปันกับลูกค้าได้ แบรนด์ที่ทำส่งออกในนาม “ACNOC” เป็นผลิตภัณฑ์ลดปัญหาสิว
“เราเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องสำอางในไทยมีจำนวนเยอะมาก การแข่งขันสูง จึงเริ่มมองไปต่างประเทศ โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นช่องทางใหม่ๆ สำหรับผู้ส่งออก”นายวุฒิพงษ์กล่าวและว่าส่งสินค้าไปจีน ก็จะมีข้อมูลและมีคำแนะนำ เรื่องขั้นตอนการค้าขายกับจีน ซึ่งการขอส่งออกไปจีนโดยตรง ต้องผ่านขั้นตอนการขออย.ของจีน ต้องใช้เวลา 8 เดือนถึงปีกว่า แต่ถ้าขายผ่านอีคอมเมิรซทำได้เลย ในมาร์เก็ตเพลสต่างๆ เช่น เถาเป่า เจดีดอทคอม
วิจัยสารสกัดต่อยอดนวัตกรรมส่งออก
สำหรับโมเดลธุรกิจของบริษัท ก่อนจะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นรูปแบบการทำงานที่ครบวงจร โดยร่วมมือกับ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลังพบว่า ปัญหาซัพพลายเชนเครื่องสำอางบ้านเรา พึ่งพานำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ เกือบทุกบริษัททำเหมือนกันใช้เหมือนกัน ทำให้วัตถุดิบที่ผลิตสินค้าออกมาเหมือนกันเต็มตลาด บริษัทจึงหันมาเน้นงานวิจัย สร้างขีดความสามารถการแข่งขันกลุ่มธุรกิจความงาม
กระบวนการแปรรูปเกษตร จะเกิดของเหลือทิ้งนำมาสร้างมูลค่าใหม่ เป็นการสร้าง New Value Creation สร้างของเหลือของทิ้งมาเป็นของที่มีมูลค่าโดยใช้การวิจัย( Deep Biotech) เช่น เปลือกมังคุด สารสกัดบริสุทธิ์มาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทำราคาได้เป็นหลักล้านต่อกิโลกรัม และอีกชนิดหนึ่งที่กำลังดำเนินการคือ เหง้าสัปปะรด ซึ่งใช้บริเวณรากมาสกัดเอ็นไซม์ สร้างมูลค่าเพิ่มได้กิโลกรัมหลายแสนบาท อีกโครงการที่สถาบันวิจัยทำอยู่ คือ กากรำข้าวที่หนีบน้ำมันออกไปแล้ว ในกระบวนการสีข้าวจะได้รำข้าวมาปริมาณหนึ่ง ปกติเอาไปเลี้ยงสัตว์ ช่วงหลังบีบน้ำมันจากรำข้าวส่วนกากเหลือทิ้ง แต่เราใช้งานวิจัยเข้ามาสามารถสกัดโปรตีน มีกรดอะมิโนอยู่จำนวนมาก เอาไปเป็นผลิตเครื่องสำอางค์ได้ หรือต่อยอดเป็นอาหารเสริม เป็นยาก็ได้
อย่างไรก็ตามสตาร์ทอัพ หรือ เอสเอ็มอี เมื่อมีสินค้าแล้ว แต่ไม่สามารถขยายตลาดได้เท่าที่ควร บริษัท จึงคิดแฟลตฟอร์มสตาร์ทอัพ ที่ทำให้ขายได้และยังได้ข้อมูลผู้ซื้อจริง โดยสร้างแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลตรงจากลูกค้า มาใช้ประโยชน์กับการสร้างแบรนด์ได้เป็นอย่างมาก
หมอนสมุนไพร “ฮานาอี” ปั้นความชอบส่วนตัวเป็นธุรกิจ
“เป็นคนที่ชอบเรื่องสมุนไพรมาก ชอบสูตรสมุนไพรโบราณ จึงมาทำหมอนสมุนไพรฮานาอี” นางสาวนุตสรา รักแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวเจน อินเตอร์ เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของธุรกิจหมอนสมุนไพร “ฮานาอี” (Hana-e) เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของธุรกิจหมอนสมุนไพร
นิวเจน อินเตอร์ เทรดดิ้ง ทำธุรกิจหมอนสมุนไพร เป็นอีกกิจการที่ทำเสริมเพราะความชอบส่วนตัว ซึ่งก่อนหน้าจะทำหมอนสมุนไพร มีธุรกิตบริการระบบข้อมูลสารสนเทศ หรือบริการด้านไอทีให้กับธุรกิจต่างๆ ธุรกิจเดิมยังทำอยู่ แต่ก็ขยายมาทำหมอนสมุนไพรเพราะความชอบสมุนไพรไทย จึงเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าและออกแบบทำแผนธุรกิจ กว่าจะได้เป็นผลิตภัณฑ์หมอนสมุนไพร ฮานาอี ซึ่งมีทั้งหมด 8 แบบ โดยออกแบบให้เหมาะสมกับกล้ามเนื้อของคนทั่วไป และมีหมอนอรรถประโยชน์ที่ใช้ได้กับทุกส่วน ออกแบบให้ใช้ได้ง่าย สามารถใช้กับไมโครเวฟได้แทนการนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง แบรนด์คลาส (Klass) ซึ่งออกแบบให้แตกต่างเป็นชื่อที่จำง่าย
นางสาวนุตสรา อธิบายว่าจุดขายของผลิตภัณฑ์คือสูตรที่คิดค้นและแตกต่าง แต่มีเอกลักษณ์สมุนไพร ที่สำคัญออกแบบให้ใช้งานง่ายเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน และก่อนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ออกมา ได้มีการค้นคว้าวิจัย รวมทั้งจดทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยา (อย.) ตามมาตรฐานกำหนด จากนั้นจึงเริ่มออกสู่ตลาดมาได้ปีกว่าๆ ตอนนี้ทำตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เจาะตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยออนไลน์ ทำผ่านทุกช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เฟซบุ๊ค ไลน์ รวมทั้งมาร์เก็ตเพลส อย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้ ไทยเทรดดอทคอม และอเมซอน ส่วนออฟไลน์ ก็มีพันธมิตรธุรกิจกับร้านใบเมี่ยงทั้ง 7 สาขา และกำลังจะขยายเข้าตลาดโรงพยาบาลพฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ การทำตลาดปัจจุบัน จำเป็นต้องทำตลาดสินค้าควบคู่กัน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นผลิตภัณฑ์ นุตสรา บอกว่า ที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปเปิดตลาดต่างประเทศกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ล่าสุดไปอินเดียมาได้รับความสนใจดีมากเพราะคนอินเดียชอบเรื่องสมุนไพรอยู่แล้ว แต่ตลาดต่างประเทศ ที่มีโอกาสมากที่สุดคือจีน และไต้หวัน ช่องทางขายตลาดจีนนอกจากออนไลน์ ก็ยังวางจำหน่ายที่ล็อตเต้ดิวตี้ฟรีในไทย และอีกจุดที่เอเชียทีค ซึ่งเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวจีน แวะเวียนมาตลอด
“การสร้างแบรนด์ในโซเชี่ยลมีเดีย เราต้องเข้าใจผลิตภัณฑ์ตัวเองก่อน ดูรายละเอียดสินค้าเป็นอย่างไร ต้องการภาพลักษณ์แบบไหน ทาร์เก็ตกรุ๊ปเป็นใคร” นุตสรา กล่าวและว่า ต้องเริ่มเล่าที่มาผลิตภัณฑ์ ต้องบอกให้ได้ว่าลูกค้าจะได้อะไรหากใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าในการจ่าย
“เพื่อนเอสเอ็มอีหลายคนบ่นเรื่องเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เราก็แนะนำว่ามีหลายช่องทาง เอสเอ็มอีแบงก์ช่วยเหลือได้ภาครัฐก็ส่งเสริม แต่เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง” นางสาวนุตสรา ย้ำและว่า การทำธุรกิจนอกจากมี passion แล้วใจต้องตั้งมั่น และการเป็นเอสเอ็มอี เราต้องทำทุกอย่างได้ในตัวคนเดียว เพราะเป็นธุรกิจเล็กเพิ่งเริ่มต้น ต้องทำได้ทุกอย่างได้ทุกสถานการณ์
โมเดลธุรกิจของ ฮาน่าอี และ คลาส นอกจากผลิตภัณฑ์ได้คุณพภาพแล้ว ยังต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย “เราไม่ใช้สัตว์มาทดลองสินค้าเราเลย สินค้าสมุนไพรต้องวางแผนการผลิต เข้าไปดูที่ไร่ ชาวไร่ชาวนาเป็นพาร์ทเนอร์ เราต้องใส่ใจพาร์ทเนอร์และใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนเป้าหมายนั้นก็คาดหวังการเติบโตตามศักยภาพ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ราว 20% @@@