“ขอนแก่นโมเดล” เมื่อท้องถิ่นร่วมมือกันจัดตั้งบริษัท ระดมทุนเพื่อพัฒนาเมือง สร้างรถไฟรางเบา โดยไม่ใช้งบประมาณจากรัฐ
“ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ถึง “ขอนแก่นโมเดล” ที่เป็นการพัฒนาเมืองแบบประชารัฐ หรือกระบวนการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ว่า เริ่มต้นจากการที่เทศบาลนครขอนแก่น ร่วมมือกับ อบจ.ขอนแก่น ศึกษาระบบขนส่งมวลชน เพื่อให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร โดยได้ศึกษามานาน 10 ปีแล้ว
คิดว่าจะใช้ระบบ BRT เหมือนที่ กทม.ทำ แต่เมื่อเสนอโครงการไปยังรัฐบาล ก็ได้รับคำตอบว่า รับาลไม่มีนโยบายในสมัยนั้น และไม่มีงบประมาณที่จะสนับสนุน จึงมีการกลับมาหารือกันในขอนแก่น ซึ่งภาคเอกชนที่เคยไปอบรมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็รู้ว่าถ้าจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทางจังหวัดสามารถตั้งได้ เพื่อระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์มาทำโครงการ
ขณะที่เทศบาลก็ได้ศึกษาเพิ่มเติม เห็นว่า กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ เขาก็มีการจัดตั้งบริษัท กรุงเทพธนาคม เพื่อทำรถไฟฟ้า BTS และเมื่อไปดู พ.ร.บ.เทศบาล ก็พบว่าเราสามารถจัดตั้งบริษัทได้เช่นเดียวกัน
แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแนวคิดการทำระบบขนส่งมวลชนจากระบบล้อยางเป็นระบบราง และได้นำเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ที่มาตรวจราชการที่ขอนแก่น เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการสนับสนุนโดยใช้งบจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน ก็เห็นชอบและสนับสนุน
ขณะเดียวกันเราก็ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้อนุมัติหลักการในการดำเนินการรถไฟรางเบา หรือ LRT ซึ่งหัวหน้า คสช.ก็เห็นชอบ และมอบหมายสั่งการให้หน่วยงานราชการต่างๆ สนับสนุน จนนำไปสู่การตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวต่อว่า KKTS จดทะเบียนเบื้องต้นด้วยเงิน 5 ล้านบาท ที่ภาคเอกชนบริจาคให้ โดยมี 5 เทศบาลที่เส้นทางรถไฟนำร่องเส้นทางแรกผ่าน คือ สายเหนือ-ใต้ ระหว่างเทศบาลตำบลสำราญ กับเทศบาลตำบลท่าพระ ระยะทาง 22.6 กม. เป็นเจ้าของโครงการ ถือหุ้น 100% โดยไม่มีเอกชนเข้าร่วม
ซึ่งต่อมาเอกชนได้บริจาคเงินเพิ่มอีก 20 ล้านบาท ทำให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านบาท และหลังจากโครงการดำเนินการบริหารจัดการแล้ว 2 ปี จึงจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนได้
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็เดินคู่ขนาน โดยภาคเอกชนใน จ.ขอนแก่น 20 ราย ได้รวมกันจัดตั้งบริษัท ขอนแก่น ทิงก์ แทงก์ หรือ KKTT ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟรางเบาให้เกิดขึ้น เช่น การจัดทำ Smart Bus เพื่อรองรับในการส่งคนเข้า-ออกให้กับรถไฟฟ้า
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวต่อว่า ขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินงานได้เห็นชอบ จ้างที่ปรึกษาทางการเงินระดับประเทศ และจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรระดับประเทศแล้ว จากนั้นจะต้องหาสถาบันการเงินที่จะให้ KKTS กู้ ซึ่งมีหลายแห่งที่ยื่นความสนใจมา
ส่วนการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์รอบสถานีขนส่งนั้น เพื่อเสริมรายได้ให้กับโครงการ เพื่อให้โครงการอยู่รอดได้แบบยั่งยืนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอใช้ที่ดินดังกล่าวที่ปัจจุบันทำเป็นสถานีวิจัยข้าว เพื่อนำมาพัฒนาหารายได้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. กระทรวงการคลังพิจารณาว่า วิธีการลงทุนโครงการรถไฟรางเบา เข้าข่ายโครงการร่วมลงทุน หรือ PPP หรือไม่ ถ้าหากเข้าข่าย PPP ก็ต้องรออีกหลายปี แต่ถ้าไม่เข้าข่าย PPP ก็สามารถดำเนินการได้เลย @
ภาพ : KHONKAENLINK.COM