“หัวเว่ย” หลังถูกกูเกิลแบน จำเป็นต้องสร้างระบบปฏิบัติการใหม่แทนแอนดรอยด์ แต่การจะสร้างชื่อได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ล่าสุด ถูก ARM เจ้าของสถาปัตยกรรม CPU หยุดทำธุรกิจด้วย เสียหายหนักกว่าถูกกูเกิลแบน
การที่กูเกิลประกาศระงับความร่วมมือทางธุรกิจกับหัวเว่ย หลังจากหัวเว่ยถูกขึ้นบัญชีดำจากรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะบริษัทที่เป็นภัยด้านความมั่นคงของสหรัฐ ทำให้หลายคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือของหัวเว่ยเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น “สุภโชค ภัทรามรุต” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อใหม่ของพีพีทีวี กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ในกลุ่มของคนที่ซื้อหัวเว่ยมาแล้วยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ หรือ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่เราต้องการหรือที่ใช้อยู่เป็นประจำทุกวันได้ ไม่มีปัญหา ยังมีการอัพเดทต่อเนื่อง
โดยกูเกิลได้ออกมาทวีตหลังมีข่าวออกมาว่า สามารถที่จะอัพเดท Google Play อัพเดท Google Protect ได้ ขณะที่หัวเว่ยออกมายืนยันว่าเขาจะปรับปรุงอัพเดทด้านซีเคียวริตี้ให้ต่อเนื่องต่อไป ซึ่งตนเองมองว่าทั้ง 2 จุดนี้ user ทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถใช้งานต่อไปได้ แต่มันมีประเด็นที่ 3 คือการจะอัพเกรดไปใช้แอนดรอยด์เวอร์ชั่นถัดไป ตนเองมองว่าไม่น่าจะสามารถทำได้
เพราะเมื่อเร็วๆนี้ เพิ่งมีข่าวว่ากูเกิลถอดรายชื่อ Huawei Mate 20 Pro ออกจากรายชื่อทดสอบ Android Q Beta Program ที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ก็เป็นสัญญาณว่าไม่น่าจะได้ใช้ต่อในแอนดรอยด์เวอร์ชั่น Q แปลว่าถ้ามือถือหัวเว่ยรุ่นใหม่ออกมาก็คงต้องเปลี่ยนระบบปฏิบัติการ ส่วนคนที่ใช้เครื่องเก่าอยู่ระบบแอนดรอยด์คงไปไม่ถึงเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ Android Pie 9.0 ซึ่งถ้าเวอร์ชั่นใหม่เขา launch ออกมา เข้าใจว่าไม่น่าได้ไปต่อ ซึ่งตามภาษา user เรียกกันคือโดนลอยแพ
หัวเว่ยต้องหาระบบปฏิบัติการใหม่แทนแอนดรอยด์ และกว่าจะสร้างชื่อได้คงไม่ง่าย
“สุภโชค” กล่าวว่า หัวเว่ยบอกว่ามีระบบปฏิบัติการของตัวเอง สามารถที่จะลงแอปพลิเคชั่นแอนดรอยด์เดิมได้ แต่มันมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เช่น ต้องเข้าไปดาวน์โหลดผ่าน AppGallery ซึ่งเป็นสโตร์ของหัวเว่ยเอง ใน AppGallery ตอนนี้ก็ไม่มีแอปดังๆ เข้าไป ทั้ง Twitter, WhatsApp เข้าไป และคิดว่าอาจไม่เข้าไป คงต้องรอดูหลังพ้นเดทไลน์ 90 วันที่รัฐบาลสหรัฐผ่อนผันให้หัวเว่ย หรือถ้าเขายังเจรจากันไม่สำเร็จก็ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ซึ่งตอนนี้หัวเว่ยก็พยายามส่งอีเมลไปให้นักพัฒนาทั่วโลกให้พยายามเข้าไปใช้ AppGallery ของเขา ทั้งนี้ ถ้าไม่สามารถเจรจากันได้ หัวเว่ยก็คงไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องหาระบบปฏิบัติการขึ้นมา สร้างระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมาเป็นระบบปฏิบัติการใหม่ ซึ่งอาจ base on แอนดรอยด์เดิมที่เป็น Open Source ที่ถูกตัดบริการกูเกิลออกไปทั้งหมด เพราะเขาไม่ได้ปิดกั้นว่าห้ามใช้แอนดรอยด์ Open Source แค่ห้ามใช้ชื่อแอนดรอยด์ในการทำการตลาด
แต่ประเด็นก็คือกว่าที่กูเกิล แอนดรอยด์ จะดังขึ้นมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการที่หัวเว่ยจะเริ่มต้นก็เป็นงานที่หนักมากเหมือนกัน ส่วนการที่แอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มจากสหรัฐไม่ร่วมงานกับหัวเว่ย
โอกาสนี้จะทำให้การผลักดันแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มของจีน เช่น weibo เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมในฝั่งเอเชียได้หรือไม่นั้น ตนเองมองว่าหัวเว่ยไม่สามารถทิ้งบริการพวกนั้นไปได้เลย อย่างบริการแผนที่ บริการ push notification หรือการเช่าหนังฟังเพลงซึ่งเดิมมีหมด มียูทูป มีกูเกิลแมพให้ใช้ ถ้าไม่มีแล้ว อย่างไรหัวเว่ยก็ต้องหากลับมาทดแทน แต่มันจะดังได้เท่าเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามมาก
ARM เจ้าของสถาปัตยกรรม CPU หยุดทำธุรกิจหัวเว่ย เสียหายหนักกว่าถูกกูเกิลแบน
ในส่วนของคนไทยที่เป็นผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อย่างไรบ้างนั้น “สุภโชค” กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องตัดสินใจว่าเราอยากจะใช้มือถือเพราะอยากใช้แอปที่มีกูเกิลเซอร์วิส หรือไม่จำเป็น ไม่แคร์เรื่องพวกนั้น เปลี่ยนไปใช้แอปที่เป็นค่ายจีนให้หมด แต่ก็ต้องดูว่าแล้วมีเพื่อนเราใช้ด้วยหรือไม่ มันมีหลายปัจจัยที่คนจะตัดสินใจเลือกใช้ ตนเองมองว่าถ้าในประเทศจีน คนจีนคงไม่ยากที่จะเลือกใช้หัวเว่ย ใช้แอปที่คนจีนใช้อยู่แล้ว
แต่ถ้าไม่ใช่คนจีน นอกประเทศจีน คิดว่ามีผลกระทบกับหัวเว่ยค่อนข้างเยอะ ที่ user จะหายไป สุดท้ายมันจะไปกระทบกับเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ว่าปีหน้าเขาจะเป็นยอดขายเบอร์ 1 ของโลกและตอนนี้ก็กลายเป็นสงครามเทคโนโลยี ที่ต่างคนต่างอยากจะกันเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่อยากให้เอาเทคโนโลยีตัวเองไปให้คนอื่นใช้ อย่างคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ออกมา ก็คือการบล็อกเทคโนโลยีของสหรัฐ ไม่ส่งเทคโนโลยีเหล่านี้ไปให้กับประเทศที่เขามองว่าเป็นภัยคุกคาม และดูเหมือนจะเริ่มมีบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในสหรัฐเข้ามาร่วมด้วย
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวบริษัท ARM ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาชิปเซตบนมือถือรายใหญ่ของโลก เป็นเจ้าของสถาปัตยกรรม CPU ที่ใช้กับสมาร์ทโฟน 100% คือแทบทุกค่าย ได้แจ้งพนักงานให้หยุดดำเนินธุรกิจกับหัวเว่ยในทุกด้าน ซึ่งหัวเว่ยเองที่บอกว่ามีชิปเซตที่ชื่อว่า Kirin ก็ใช้สถาปัตยกรรมของ ARM เหมือนกัน
การที่ ARM ตัดหัวเว่ย ทำให้หัวเว่ยไม่สามารถใช้ไลเซนส์ของ ARM ได้ต่อไป ตนเองมองว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าถูกกูเกิลแบนเสียอีก สำหรับเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยนั้น ตนเองมองว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูจะไม่ได้ใส่ใจทำตามสหรัฐ และดูจะไปทางหัวเว่ยมากกว่า เพราะราคาอุปกรณ์ของหัวเว่ยถูกกว่า และเมื่อเทียบประสิทธิภาพแล้วก็ไม่ได้แย่อะไร สามารถใช้งานได้ @