เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย มีทั้งสร้างสรรค์ และน่าเป็นห่วง ในช่วงโค้งสุดท้าย มีเฟคนิวส์เยอะ ผู้บริโภคต้องศึกษา ตรวจสอบ และหนักแน่น
ดร.ปอยหลวง โคนทรงแสน ซีอีโอ บริษัท เดอะ แพลทฟอร์ม จำกัด Digital Marketing Agency กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ เป็นครั้งแรกที่ศักยภาพของสื่อใหม่อย่างโซเชียล มีเดีย ได้ใช้อย่างเป็นประโยชน์จริงๆ ซึ่งทุกพรรคการเมืองทำได้ค่อนข้างดี ซึ่งก็มีทั้งสิ่งที่สร้างสรรค์ และน่าเป็นห่วง โดยข้อได้เปรียบของสื่อใหม่ คือ การที่สามารถตั้งกลุ่มเป้าหมายเพื่อที่จะส่งเนื้อหาคอนเทนต์ไปเสิร์ฟกลุ่มเป้าหมายได้ตรง เพราะเนื้อหาที่ทำมาแมทช์กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร ทำให้แมสเสจที่แต่ละพรรคใช้ค่อนข้างได้รับการตอบสนอง ได้รับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มเป้าหมาย มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการเมืองอย่างแท้จริง ได้คุยโดยตรงกับพรรคและนักการเมือง
ทำสื่อออนไลน์ต้องเข้าใจความหมาย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ดร.ปอยหลวง กล่าวว่า ในการทำงานออนไลน์หรือสื่อใหม่ จะต้องทำบนพื้นฐานในการเข้าใจความหมายจริงๆ บางพรรคยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ในโลกออฟไลน์ เนื้อหาเหมือนคุยอยู่ด้านเดียว โดยนำเสนอ Story Telling ส่งต่อให้กลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ได้คำนึงว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ได้คาดหวังเนื้อหาอย่างนั้น แต่เขาคาดหวังเนื้อหาที่เป็น Two-way Communication หรือการสื่อสารสองทาง หากเป็นเช่นนี้จะถือว่าเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะในพื้นที่ของสื่อใหม่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่นั้น ทุกครั้งที่เราโฆษณาออกไป เรากำลังใช้พื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ขณะที่กลุ่มเป้าหมายกำลังเล่นในฟีดของเฟซบุ๊ก แล้วเห็นโฆษณาของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งขึ้นมา มันคือการที่เรากำลังจะเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขา เพราะมันคือฟีดของเขา ถ้าแมสเสจไม่ถูกจริต หรือไม่ได้คุยกับเขาเหมือนสองทาง เขาก็ต้องมองว่ายิง Targeting มาทำไม เขาไม่ได้เรียกร้อง ก็จะโดนโต้กลับ เข้าไปคอมเมนต์ว่ากล่าวที่รุนแรง เป็นผลเสียในมุมที่ไม่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายก่อนทำเนื้อหาไม่ได้รีเสิร์ชเรื่องของอินไซด์ข้อมูลที่เขาต้องการได้ยิน
การส่งเนื้อหา สามารถทำร่วมกับแชนแนล และแพลตฟอร์มที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ
ดร.ปอยหลวง กล่าวว่า ในการส่งเนื้อหาหนึ่ง องค์ประกอบไม่ได้อยู่ในการทำโฆษณา 1 ตัว แล้วยิงออกไปยังกลุ่มเป้าหมาย แต่มันสามารถทำร่วมกับคนที่เป็น Influencer (ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย) อย่างบางพรรคที่ค่อนข้างสมัยใหม่ก็จะไปทำเนื้อหาร่วมกับเพจที่เขาต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย เข้าไปทำรายการร่วมมีเนื้อหาที่สอดแทรกทั้งสาระและความบันเทิงระดับหนึ่ง ซึ่งต้องเข้าใจว่า คนที่บริโภคเนื้อหาเขาไม่ได้คาดหวังกับการยัดเยียด แต่เขาคาดหวังการที่เขาอยากจะบริโภคอยู่แล้วในส่วนของเขา เราแค่มาจอยมาทำเนื้อหารวม ซึ่งเนื้อหาตรงนี้มันกระจายออกได้ค่อนข้างเยอะ ใช้แชนแนล ใช้แพลตฟอร์ม ที่เป็นของคนอื่นที่มาร่วมมือกับเรา พูดง่ายๆ ก็คือ การที่เราวางกลยุทธ์ล้อมแบรนด์ของเรา ด้วยเนื้อหาให้ดึงกลับเข้ามาในแชนแนลของเรา ทำให้เราเห็นถึงใยแมงมุมของตัวเนื้อหาอยู่ทั่วไป แล้วให้มันมีลิงก์ดึงกลับมาเข้าไปแบรนด์เรา เพราะโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก แม้จะมีการจัดกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจ แต่มันก็ไม่ได้การันตีว่าเขาจะตอบสนองดีต่อเนื้อหาที่เราส่งไป
โลกโซเชียลมีเดียทำให้คนละเลยการตรวจสอบ กลายเป็นเครื่องมือใช้ปลุกปั่น
ส่วนเรื่องข่าวปลอม คลิปปลอม ดร.ปอยหลวง กล่าวว่า ถ้าเป็นสื่อหลัก ภาระในการตรวจสอบเป็นของสื่ออยู่แล้ว ไม่ใช่ภาระของผู้บริโภค แต่ถ้าเป็นสื่อใหม่อย่างเฟซบุ๊ก เพจต่างๆ ส่วนใหญ่ทักษะในการดู ต้องดูความเป็นไปได้ของที่มาก่อน ซึ่งสามารถตรวจสอบโดยการก็อปปี้ URL ของภาพนั้น ไปตรวจสอบกับกูเกิลอิมเมจ ก็จะทราบที่มาของภาพว่ามาจากแหล่งข่าวหลักที่น่าเชื่อถือ หรืออาจอุปโลกน์ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม โลกของโซเชียลมีเดียนั้น จะทำให้คนอยู่ในกรอบของคนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน โดยคนจะจับกลุ่มลิงก์กับเพจที่ตัวเองเห็นด้วย เมื่อคนส่วนใหญ่ในกลุ่มโซเชียลมีเดียที่เราอยู่พูดกันว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เราเห็นว่าไม่ต้องตรวจสอบแล้ว ถูกต้องแล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่พูดถึงนั้น ไม่เกิน 200 คนในโซเชียลมีเดียของเรา ซึ่งมันก็เป็นปัญหา ตอนนี้ทางด้านสื่อสารการเมืองก็มองว่า มันเป็นเครื่องมือให้คนกลายกลุ่มใช้ในการปลุกปั่น ซึ่งในฐานะผู้บริโภค ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะสื่อหลักจะต้องตรวจสอบด้วย
สื่อหลักชอบนำเสนอคลิป เพราะปรับตามพฤติกรรมของผู้บริโภค
ส่วนการที่สื่อหลักนิยมนำคลิปมานำเสนอนั้น ดร.ปอยหลวง กล่าวว่า เพราะเดี๋ยวนี้สื่อนิยมใช้ทางลัด ในการที่จะบอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีคนพูดถึงเยอะ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยจะใช้คำว่า”ชาวเน็ตพูดถึงสิ่งนี้” ซึ่งการพูดแบบนี้มันก็อุปโลกน์ได้ เพราะไม่มีจำนวนชัดเจนที่ชี้วัด ทั้งนี้ สื่อหลักที่ต้องการปรับตัว เพื่อจะเข้าไปมีพื้นที่ในสื่อใหม่ เขาก็พยายามจะเอาใจผู้บริโภค ด้วยการปรับลดรูปแบบ หาทางลัด เอาเนื้อหามานำเสนอกลุ่มเป้าหมายให้บริโภคได้ง่าย กลายเป็นว่าสื่อปรับตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคของสื่อใหม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบที่เคยสอนมาเรื่องการคัดกรองข่าว แบบแผนของการเสนอข่าวต้องมีอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ก็จะหายไป กลายเป็นว่า ผู้บริโภคควรจะมีความรู้ทันในเนื้อหาขนาดไหน หรือสื่อหลักควรมีจุดยืนในการที่จะไม่ไหลไปตามความต้องการของตลาดในการบริโภคเนื้อหา แล้วกลับมานำเสนอข่าวที่มีกติกาเหมือนในสมัยก่อน ส่วนตัวมองว่ามันคงกลับไปยาก เพราะสื่อหลักก็ต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคก็มีส่วนทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น แต่จะไปถามหาจรรยาบรรณของผู้บริโภค มันยากกว่าไปถามหาจรรยาบรรณจากสื่อ ขณะที่สื่อก็คงต้องกลับมาวิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้ว ที่เป็นอย่างทุกวันนี้มันโอเคแล้วหรือยัง
ผู้บริโภคต้องศึกษา รู้เท่าทัน Digital Marketing ของนักการเมือง
ดร.ปอยหลวง ยังแนะนำผู้บริโภคให้รู้เท่าทัน Digital Marketing ของนักการเมือง ว่า ให้ดูเนื้อหาที่เป็นทางการของพรรค ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเว็บไซต์ มีเนื้อหาที่เป็นนโยบายเชิงหลักการ สามารถที่จะเข้าไปศึกษาและเปรียบเทียบของพรรคต่างๆ ได้ทันที ขณะที่ในช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง จะมีเฟคนิวส์ค่อนข้างเยอะ ก็อาจต้องศึกษาและหนักแน่นกับพรรคที่เราต้องการจะเลือก ซึ่งปีนี้ก็ดีที่มีพรรคและตัวแทนค่อนข้างหลากหลาย มีทุกกลุ่ม ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่มีทางเลือกมากขึ้น @@@