ITD ชี้ “ความยั่งยืน” เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสำคัญ ผู้ประกอบการต้องใส่ใจเรื่องนวัตกรรม และเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“วิมล ปั้นคง” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าส่วนใหญ่เพื่อการส่งออก ซึ่งสถาบันที่ตนเองทำงานอยู่ต้องหาคำตอบว่า ทำอย่างไรให้การค้าระหว่างประเทศนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการที่สินค้าจะถูกใจผู้ซื้อจะต้องมีนวัตกรรม ราคาต้องแข่งขันได้ และถ้าเป็นของดี แม้ราคาแพง ผู้บริโภคก็ซื้อ ซึ่ง ITD ก็ทำหลายอย่าง เช่น ทำเรื่องการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนานโยบาย เพื่อให้คนที่ส่งออกแล้วสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และทำให้คนที่ยังไม่เข้าสู่ตลาดสามารถยกระดับการผลิตจนส่งออกไปขายในต่างประเทศได้
ตลาดต่างประเทศ ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องn”ความยั่งยืน”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้ ITD กล่าวด้วยว่า “ความยั่งยืน” ถูกนำมาจับเป็นประเด็นในประเทศผู้ซื้อ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศใหญ่ๆ ทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ที่ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้จะเสียงดัง เขาจะดูสินค้าที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนาว่า มีสวัสดิการด้านแรงงานเป็นอย่างไร มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากน้อยเพียงใด ถ้าปล่อยเยอะ เขาจะไม่ให้สินค้าเข้าไปในตลาดบ้านเขา ซึ่งในอนาคต มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ การที่องค์กรธุรกิจหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำเรื่องความยั่งยืน เขาก็ต้องมีต้นทุน เพราะฉะนั้นนโยบายของรัฐก็ต้องเอื้อให้เกิดการทำธุรกิจแบบยั่งยืนด้วย เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้ธุรกิจไทยออกไปแข่งขันในเวทีโลกได้
ทำอย่างไรให้คนไทยตระหนัก เพราะดัชนี้ชี้วัด”ความยั่งยืน”ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้ ITD กล่าวว่า ในการวัดสถานะความพร้อมและความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย ภายในปี 2573 ขององค์การสหประชาชาติ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 59 จากประเทศที่สำรวจทั้งหมด 156 ประเทศ โดยได้ 69.2 คะแนน ส่วนประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ สวีเดน ได้ 85 คะแนน เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน สิงคโปร์อยู่อันดับ 43 ได้ 71.3 คะแนน มาเลเซียอยู่อันดับ 55 ได้ 70 คะแนน และเวียดนามอยู่อันดับ 57 ได้ 69.7 คะแนน ซึ่งใน 17 เป้าหมาย ไทยทำได้ดีในเรื่องของการขจัดความยากจน และการจัดการน้ำและสุขาภิบาล ส่วนอีก 15 เป้าหมายเรายังอยู่ห่างไกล ประเด็นสำคัญที่เราได้คะแนนน้อย คือ เรื่องของนวัตกรรม โดยเขาจะวัดจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรในการทำวิจัย และวัดในแง่ของการนำผลงานวิจัยมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเราก็ไม่ผ่าน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเราก็ไม่ผ่าน เพราะคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเยอะมาก ดังนั้น จะทำอย่างไรให้คนไทยตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะสิ่งที่เขาใช้เป็นตัวชี้วัดมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภค การผลิตของผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ บทบาทของรัฐที่จะมีแผนงานโครงการที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วันนี้ การใช้ชีวิต การผลิต และการบริโภคของคนไทยเรา ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ตราบใดที่เรายังต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ สักวันหนึ่งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ก็จะถูกนำมาบังคับใช้
กระแส”ความยั่งยืน”หลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครปรับตัวก่อน ได้เปรียบ
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้ ITD ยังกล่าวถึงผู้ประกอบการ SME ในบ้านเราว่า ยังไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน ซึ่งสิ่งที่จะใช้วัดความยั่งยืนของ SME ก็คือเรื่องของนวัตกรรม เรื่องการพัฒนาคุณภาพบุคลากร และเรื่องการผลิตว่ากระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ตลาดกำลังมุ่งไปในทิศทางสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหากเรามีสินค้าที่ได้มาตรฐานในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้สินคานั้นมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และการออกไปสู่ตลาดต่างประเทศก็จะง่ายขึ้น
และการที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน เพราะมันเป็นกระแสที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคจะตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าเรายังผลิตสินค้าด้วยรูปแบบเดิมๆ เราก็มีโอกาสสูญเสียตลาด ตอนนี้เริ่มมีมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้มากขึ้น วันนี้ ถ้าเราปรับตัวก่อน เราจะได้เปรียบ เราจะสามารถยืนได้ก่อน และจะมีโอกาสทางการแข่งขันตามมาอีกมากมาย อย่ามองว่าเป็นภาระ เมื่อมีความยั่งยืน ธุรกิจของท่านก็จะสามารถส่งต่อไปยังลูกหลานได้ ไม่ใช่จบลงในรุ่นของท่าน
ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมสัมมนา ไม่เสียเวลา แต่ได้ประโยชน์
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้ ITD กล่าวต่อว่า ITD ได้จัดอบรมสัมมนาให้ความรู้กับประกอบการในหลายๆ เรื่อง ซึ่งสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และอย่าคิดว่าการไปอบรมสัมมนาเป็นเรื่องที่เสียเวลา แต่เป็นเรื่องที่ต้องไปอัพเดท เพราะโลกไปเร็ว และการสัมมนานอกจากได้ความรู้แล้ว ยังได้เจอเพื่อนในวงการ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการเปิดมุมมอง เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ และในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ITD จะจัดสัมมนาเรื่อง Trade & Development Trend 2030 ผู้สนใจเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.itd.or.th @