สื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่ได้อย่างไร? ใน “โลกดิจิทัล”

“สื่อสิ่งพิมพ์” ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต้องปรับเปลี่ยนองค์กรมุ่งสู่ดิจิทัล

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ถึงกรณีสื่อสิ่งพิมพ์ทยอยปิดตัว และล่าสุด กำลังจะเกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และ M2F ว่า รายได้ของหนังสือพิมพ์จะมาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ ยอดจำหน่าย กับงบโฆษณา แต่ปัจจุบันคนไม่ซื้อหนังสือพิมพ์กันแล้ว

ส่วนงบโฆษณาของหนังสือพิมพ์ในรอบ 10 ปี ก็ตกลงอย่างน่าใจหาย ในยุคที่หนังสือพิมพ์รุ่งเรือง ในปี 2553 งบโฆษณาสูงถึง 15,000 ล้านบาท แต่คาดการณ์ปีนี้ อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ขณะที่รายได้ของทุกสำนักพิมพ์ตกกันทั้งนั้น แต่มีรายจ่ายค่อนข้างเยอะ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กร ให้พนักงานออกโดยมีเงินทดแทน

ยอมรับ เทคโนโลยีทันสมัย ทำให้เกิด Disruption

ดร.สิขเรศ ยอมรับว่า เรื่องเทคโนโยลีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด Disruption (การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้สิ่งดั้งเดิมบางอย่างล้มหายตายจากไป) โดยภายในปี ค.ศ.2020 ทั่วโลกจะมี 5 จีแล้ว มีความเร็วที่สามารถจะโหลดหนังความยาว 2 ชั่วโมง ได้ภายในเวลาเพียง 3.6 วินาที จากเดิมที่ 3 จี ใช้เวลา 26 ชั่วโมง และ 4 จี ใช้เวลา 6 นาที ทำให้เห็นความเร็วที่แตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับข่าวที่มาจากหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระดาษกับข่าวที่มาจากสื่อดิจิทัล ส่วน Disruption ในวงการหนังสือพิมพ์ของต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐและยุโรป เขาเกิดล่วงหน้าก่อนเราประมาณ 20 ปี มีทั้งการขายกิจการ และปลดพนักงาน

สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร มุ่งสู่ดิจิทัล

ดร.สิขเรศ ได้ยกตัวอย่างสื่อที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่าง The New York Times สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอายุ 100 กว่าปี ที่ต้องมาเจ๊งในปี 2000 ต่อมารุ่นลูกได้ประกาศในปี 2010 ว่าจะเข้ามากอบกู้ให้ได้ โดยระบุว่า จะหวังพึ่งโฆษณาจากสิ่งพิมพ์ไม่ได้แล้ว และต้องหาช่องทางทำรายได้จากช่องทางอื่น ซึ่งก็คือดิจิทัล พร้อมตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2020 จะให้มีรายได้จากดิจิทัล 800 ล้านดอลลาร์

ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เขาประกาศแล้วว่ามีรายได้ 700 ล้านดอลลาร์จากดิจิทัล แต่ก่อนที่จะมาถึงตรงนี้ เขามีการปรับโครงสร้างองค์กรเยอะมาก เพื่อที่จะเบนเข็มไปสู่ดิจิทัล โดยทุกคนที่จะอยู่ทำงานด้วยกันต่อไป ต้องปรับตัวเป็น vdo journalist และเขายังเน้นเรื่องของ“ข่าวเจาะ” มากกว่าข่าวดาษดื่นที่มีทั่วไปในทุกสื่อ โดยขณะนี้มีผู้สมัครเป็นสมาชิกออนไลน์ของ The New York Times แล้วถึง 4.3 ล้านคน

ในต่างประเทศ รัฐจะให้การสนับสนุนสื่อสิ่งพิมพ์

ส่วนกรณีที่ 2 ดร.สิขเรศ ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่มีอัตราการเติบโตของโซเชียลมีเดียสูงมาก แต่ข่าวล่าสุด พบว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของเขาเติบโตสูงสุดในรอบ 40 ปี มีสำนักพิมพ์เติบโตจาก 105 สำนักพิมพ์ เพิ่มเป็น 580 สำนักพิมพ์ เนื่องจากรัฐบาลจีนมีความเข้าใจและสนับสนุนให้ประชาชนอ่านหนังสือ รัฐจึงมีเงินสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมหาศาล

หรือในประเทศสแกนดิเนเวียแถบยุโรปประเทศหนึ่ง รัฐบาลเขาจะมีมาตรการสนับสนุนจูงใจนักเขียน หรือผู้พิมพ์ โดยเขาจะมีการประกันให้ เช่น 1,000 เล่มแรก รัฐบาลจะช่วยออกเงินสนับสนุน ส่วนหนังสือเหล่านั้น รัฐบาลก็เอาไปเข้าหอสมุดต่างๆ หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ

กรณีที่ 3 ดร.สิขเรศ บอกว่าในหลายประเทศ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส สื่อต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนสนุนโควต้าของ local content ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น โดยโควต้าที่ได้อาจจะเป็นเงิน หรือเวลาในการออกอากาศ

ชี้ คนทำสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเบื่อหน่าย

ดร.สิขเรศ ยังบอกไปถึงนักวิชาชีพสื่อด้วยว่า ให้หันกลับมาวิพากษ์ตัวเอง เพราะขณะนี้เราอยู่ในวัฒนธรรม clip of the day ที่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับประชาชน เนื่องจากมันไม่มีความลึก ไม่มีความแตกต่าง การที่เราพยายามจะจับกลุ่มแมสในยุคทีวีดิจิทัล 5 ปีที่ผ่านมา ด้วย clip of the day ทำให้อุตสาหกรรมเราเจ๊งทั้งหมด @

หมวดหมู่ News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *