Digital Disruption เพิ่งเริ่มต้น..คนสื่อปรับตัวอย่างไร? ถ้าไม่อยากสูญพันธุ์

Digital disruption เพิ่งเริ่ม สื่อต้องทรานส์ฟอร์ม คนสื่อต้องทำหน้าที่เชิงลึก เป็น Specialist Journalism และต้องอภิวัฒน์วงการวารสาร-นิเทศศาสตร์ มีแผนกวิชาใหม่

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ตนเองเห็นด้วยกับคำกล่าวของ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช. ที่ระบุว่า Digital disruption เพิ่งจะเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสื่อเก่า แต่สื่อใหม่อย่าง บัซฟีด (Buzzfeed) ที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์มาแรงในช่วง 2-3 ปีนี้จากนิวยอร์ค เมื่อต้นปีนี้ในเดือนมกราคมที่่ผ่านมา ก็เลิกจ้างพนักงาน 15% เพราะเขาต้องปฏิรูปตัวเอง โดยเขายอมรับว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก แม้ว่าบัซฟีดจะมีรายได้ที่ดี แต่เขาก็มีนักลงทุน มีเงินลงทุนที่สูงมาก มันก็จะมีแรงกดดันจากนักลงทุน ซึ่งบัซฟีดก็ต้องพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายของเขาด้วยเหมือนกัน

“เจฟฟ์ เบอสซ” บอก สักวัน Amazon ก็จะถูก disrupt เอนกันหมื

ดร.สิขเรศ กล่าวต่อว่า แม้แต่ “เจฟฟ์ เบซอส” ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon.com ยังประกาศกับพนักงานของเขา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ว่า สักวัน Amazon ก็จะถูก disrupt เหมือนกัน เรามีหน้าที่เลื่อนเวลานั้นให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่เป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อ คือ เขาไปเทคโอเวอร์กิจการของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ซึ่งกระบวนทัศน์ตรงนี้เชื่อมโยงจาก พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ คือ กระแสทรานสฟอร์ม ตอนนี้มันเพิ่งเริ่มต้น และมันยังต่อเนื่องไปอีก ซึ่งเรายังคาดเดาไม่ได้

ดร.สิขเรศ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ Global Media Trend จากการประมวลในการอ่านหนังสือและบทความมา เราจะต้องมอง 2 ส่วน ซึ่งทุกวันนี้เราพูดกันถึงแต่ Digital disruption อย่างเดียว แต่เราไม่เคยพูดถึง Creative destruction ซึ่งก็คือการที่อุตสาหกรรมหนึ่งล้มหายสลายไป แต่มันจะมีวิธีการรูปแบบการทำธุรกิจ หรือการทำอุตสาหกรรมอีกอย่างหนึ่งผุดขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น กิจการแท็กซี่สมัยก่อน ก็จะมีอูเบอร์เข้ามา

“การอ่าน-วิทยุ”ยังไม่ตาย แค่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม-ทรานส์ฟอร์ม

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า ฐานความคิดของการทำสื่อ ก็คือ วารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์นั่นเอง และบางทีเราก็ใช้วาทกรรมแซะจนมากเกินไป เช่น ที่พูดกันว่าคนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัด 6 บรรทัด 4 บรรทัด ในฐานะนักวิชากรตั้งแต่ตนเองเคยได้ยินวาทกรรมนี้มา ก็ยังไม่เคยเห็นออริจินัลเปเปอร์นี้เลย และการอ่านหนังสือ หรือ Text ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาอ่านในแพลตฟอร์มไหน ดังนั้น การอ่านยังไม่ตายหรอก บางคนเอาเรื่องโซเชียลมีเดียด้วย ตนเองว่า น่าจะอ่านมากกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วด้วยซ้ำไป เพราะมีตัวเลขว่าคนอยู่ในโซเชียลมีเดียอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

ส่วนที่บอกกันว่าวิทยุตายแล้ว ดร.สิขเรศ บอกว่าไม่น่าจะใช่ เพราะทุกวันนี้คนยังรอ Spotify คนยังรอ Podcasting ทั้งๆ ที่ Podcasting เป็นเนื้อหาที่ฮาร์ดคอร์มาก เช่น เนื้อหาทางการแพทย์ หรือข้อมูลที่อินไซด์ทางธุรกิจล้วนๆ วิทยาศาสตร์ล้วนๆ แต่มีผู้ฟังในระดับโลกสูงมาก นี่คือการทรานสฟอร์ม

ระบุ ต้องอภิวัฒน์วงการวารสาร-นิเทศ มีแผนกวิชาใหม่

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า ตอนนี้เราต้องเตรียมพร้อมบุคลากรทั้งหมด ทั้งในส่วนของผู้ผลิตสื่อและผู้บริโภค ซึ่งในแวดวงของวิชาชีพและวิชาการ เราต้องอภิวัฒน์วงการวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ตั้งแต่การเรียนรู้ เราต้องมีแผนกวิชาใหม่ เช่น ตอนนี้มันไปโลกของ Data Journalism แล้วตนเองคิดว่านักวารสารศาสตร์ นักนิเทศศาสตร์ นักศึกษา นิสิตรุ่นใหม่ ต้องมีเบสิกในเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ เรื่องสถิติ ตัวเลข เราจะอ่านค่าอินไซด์ตรงนี้อย่างไร ในการที่เราจะไปทำสื่อให้เข้าถึงประชาชน คิดว่าต้องมีการปรับโครงสร้างตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย นักวิชาชีพต้องหลุดพ้นจาก clip of the day ให้ได้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มันขายไม่ได้ และมันก็ทำให้ล้มทั้งกระดาน

คนสื่อต้องทำหน้าที่เชิงลึก เป็น Specialist Journalism

สำหรับคนในวงการสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี ที่กำลังมองหาทางออกในขณะนี้ ดร.สิขเรศ แนะนำว่า ในภาพกว้าง เราต้องการบุคคลที่เป็น Specialist Journalism ไม่ใช่ Ordinary Journalism หรือ Journalist ธรรมดาทั่วไป เพราะโลกได้เปลี่ยนไปสู่ยุค
Citizen Journalism คือ ทุกคนสามารถเป็นพลเมืองข่าว หรือเป็นนักข่าวได้ ซึ่งคำนี้นักศึกษา ป.โท ป.เอก ท่องมากันเป็น 10 ปี แต่ไม่เข้าใจ และเรายังไปทำซ้ำในวงการ เราไม่ทำหน้าที่ของสื่อในเชิงลึก ในเรื่องเกี่ยวกับ Data Journalism หรือ Investigative Report เพราะฉะนั้นสินค้าจึงไม่มีความแตกต่าง แต่เรากลับไปทำซ้ำ ไปวนเอาคลิปนั้นคลิปนี้มา ซึ่งคลิปนั้นสามารถเอามานำเสนอได้ โดยหน้าที่ของเราคือ sidebar (ข่าวหรือข้อมูลสั้นๆ ที่แทรกอยู่ข้างๆ ข่าว) หรือ ดาต้าวิชวลต่างๆ พร้อมทั้งยกตัวอย่างคลิปของ BBC ชื่อ Anatomy of a Killing เขาใช้คลิปประมาณ 10 กว่านาที สามารถ investigative กรณีทหารไปฆ่าพลเรือนในแอฟริกา ซึ่งเขาใช้ศาสตร์และศิลป์อะไรบ้าง ลองไปถอดความดู ถ้าถามว่าแล้วเราต้องทำอย่างไร เราต้องเป็น Specialist ถ้าเราไม่อภิวัฒน์ตัวเราเอง วงการวิชาชีพของเราก็อยู่อย่างนี้ เราลืมคำที่ง่ายที่สุดและเป็นตำราที่เราต้องทำ คือ 5W1H ใคร ที่ไหน อะไร ทำไม เมื่อไร และอย่างไร แต่เรากลับฉาบฉวย ไปเอาลิงก์มาแปะ ไปเอาคลิปมาแปะ ซึ่งพวกนี้ล้วนเป็นปัจจัยภายใน

เผย 3 โมเดลควบคุมเทคโนโลยีสื่อ

ส่วนปัจจัยภายนอก ดร.สิขเรศ บอกว่า เป็นเรื่องของโครงสร้าง ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคของอาณานิคมทางสื่อ เราอยู่ภายใต้การครอบงำของเฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูป และไลน์ เราไม่มีเสรีภาพทางด้านเทคโนโลยีเลย ทั้งนี้ มี 3 โมเดลในโลกเกี่ยวกับการควบคุมเทคโนโลยีของสื่อทั้งหมด 1.โมเดลจีน คือ ปิดกั้นทุกอย่าง เขาใช้อินฟราสตรักเจอร์ และใช้โซเชียลมีเดียของเขาเอง 2.โมเดลเกาหลี คือ ประนีประนอม บาลานซ์ เขามีโซเชียลมีเดียของเขาที่เข้มแข็งมาก ขณะเดียวกันเขาก็เปิดรับอเมริกา เพราะเขาเป็นพันธมิตรเก่ากัน และโมเดลที่ 3.ไทยแลนด์โอนลี่ คือ รับทุกอย่างเลย มองเห็นภาพง่ายๆ ทุกวันนี้ ทีวีดิจิทัลของเรา มีสถิติเป็นทีวีที่มีสมาชิกโซเชียลที่สูงที่สุดติดอันดับในเอเชียและในโลก มียอดเป็น 10 ล้าน แต่เราต้องพึ่งพาทั้งหมด ซึ่งผู้บริหารเฟซบุ๊กก็ไม่ได้หลอกเรา เขาบอกว่าอย่ามาพึ่งเขามาก เพราะเขาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเราก็เข้าใจโดยผิวเผินว่าการไปสู่โลกยุคดิจิตัล คือการกระโดดเข้าเฟซบุ๊กอย่างเดียว เราไม่มีเสรีภาพ อิสรภาพ ในการทำแพลตฟอร์มของเราเอง ขณะที่ภาครัฐก็ท่องเรื่อง 4.0 โดยที่ไม่เข้าใจ

เผย 5 ปีที่ผ่านมาแค่วอร์ม อีก 2 ปี เป็น Turning Point ของจริง

ดร.สิขเรศ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีสื่อบางค่ายที่ปรับตัวได้แล้ว มีตัวเขียว ตัวน้ำเงิน ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว และบางส่วนมีการชิปตัวเอง อย่างอาร์เอสของเฮียฮ้อ ที่เราอาจบอกว่าเฮียฮ้อกระโดดไปเรื่องพาณิชย์หรือเปล่า ขายของมากไปหรือเปล่า ขณะเดียวกันเขาก็ยังทำสื่ออยู่ แต่เขาได้ไลเซนส์ในเรื่องเกี่ยวกับเชิงพาณิชย์ หรือค่ายอื่นที่ 2 เจ้ายักษ์ใหญ่ของเศรษฐีประเทศไทยเข้าเทคโอเวอร์ แม้ว่าจะยังไม่มีตัวเขียว ตัวน้ำเงินมาก แต่เขาคัทลอสไปสูงมาก ซึ่งตนคิดว่าเป็นโมเดลที่โอเค เป็นโมเดลที่น่าจับตามอง และอาจ change ไปเลย ทั้งนี้ อาจมีเสียงท้วงติงว่าไปทำเป็น TV Shopping หรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่เขาหาวิธีในการอยู่รอด ตนเองคิดว่าในประเทศมี 3-4 โมเดลแล้ว แต่โมเดลที่สำคัญ ตนคิดว่าสิ่งที่อยู่ยั้งยืนยงในองค์กรของเรา คือทรานส์ฟอร์มไปสู่ Digital Journalism สำหรับ 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเพียงการวอร์ม อีก 2 ปี น่าจะเป็น Turning Point ที่เป็นของจริง เนื่องจากเป็นรอยต่อของเทคโนโลยี @

หมวดหมู่ News

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *