คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เผย หลักสูตรนิเทศศาสตร์มีการปรับเปลี่ยนเพื่อรับสื่อยุคดิจิทัล เน้นจบไปเป็นผู้ประกอบการรายเล็กผลิตคอนเทนต์ สร้างรายได้จากออนไลน์
การที่อุตสาหกรรมสื่อถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การเรียนการสอนหลักสูตรนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะผลิตบุคลากรออกมารับกับสื่อยุคดิจิทัล ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี จะเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภูมิทัศน์สื่อ ภาพโทรศัพท์มือถือเป็นตัวสำคัญในการเคลื่อนย้ายข้อมูลข่าวสารแทนจอทีวี คลื่นวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ อย่างชัดเจนมากขึ้น
หลักสูตรของทุกมหาวิทยาลัยมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ยิ่งระยะหลังในช่วง 1-2 ปีนี้ เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น สถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่ดิจิทัลเข้าไปดิสรัปแทบทุกวงการ
ในอดีตการเรียนการสอนคณะนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์จะมุ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเป็นหลัก จะมีการแบ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ฝ่ายที่หารายได้เข้าองค์กรที่เรียกว่าฝ่ายโฆษณา เรียนเรื่องโฆษณา เรียนเรื่องประชาสัมพันธ์ แต่การแยกแบบนั้นอาจเหมาะในยุคแบบเดิม แต่ในยุคใหม่เขาต้องการคนที่ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น คนที่ทำงานข้ามแพลตฟอร์มกันได้มากขึ้น
โดยเฉพาะในส่วนของแพลตฟอร์มดิจิทัล แพลตฟอร์มออนไลน์ แม้แต่คนที่ทำงานภาคประชาสัมพันธ์ เมื่อก่อนจะมีการแบ่งชัดเจนว่า ประชาสัมพันธ์จะต่างจากโฆษณาตรงที่ประชาสัมพันธ์แทบจะไม่ใช้งบประมาณเท่าไร สื่อสารองค์กรจะส่งข่าวให้นักข่าว
แต่โฆษณาจะมีเม็ดเงินที่ต้องซื้อพื้นที่โฆษณา ซื้อเวลา เพื่อโฆษณาในวิทยุ โทรทัศน์ แต่วันนี้ตัวประชาสัมพันธ์เองคาบเกี่ยวกับการโฆษณามากขึ้น โดยเฉพาะในโลกดิจิทัล คนที่ทำงานโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ต้องเข้าใจสื่อมันข้ามกันมากขึ้น และนักประชาสัมพันธ์หลายคนในยุคดิจิทัลต้องสามารถผลิตสื่อดิจิทัล คอนเทนต์เองได้ด้วย
ปรับเปลี่ยนหลักสูตร-การเรียนการสอนนิเทศศาสตร์ รับยุคสื่อดิจิทัล
ดร.มานะ กล่าวว่า หลายหลักสูตร หลายมหาวิทยาลัย เริ่มมีการปรับมากขึ้น แทนที่จะแบ่งตามแพลตฟอร์มสื่อ แพลตฟอร์มบทบาทหน้าที่เป็นหลัก บางแห่งก็สามารถรวมกันได้เป็นยูนิตเดียว เรียกว่านิเทศศาสตร์ หรือบางที่อาจแบ่งเป็นกลุ่มอยู่ แต่โดยหลักๆ ก็ยังเรียนข้ามกันอยู่ นี่เป็นส่วนที่เกิดขึ้นมาในเชิงของหลักสูตร ส่วนในเชิงของการเรียนการสอนก็เปลี่ยนไป แทนที่จะเน้นแนวคิดทฤษฎี ก็จะเน้นเรื่องปฏิบัติ
โดยเฉพาะในส่วนของปริญญาตรี ทักษะในการใช้ดิจิทัลว่าจะใช้อย่างไรให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เพราะเมื่ออยู่ในโลกดิจิทัล กลุ่มเป้าหมายจะมีความสำคัญมาก เราต้องเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายหลักของเราว่า เขามีจริตแบบไหน ชอบอะไร ไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไรสนใจอะไร จะต้องมีหลักแนวคิดใหม่ๆ เช่น แนวคิดเรื่อง Design Thinking จะได้รู้จักในส่วนของผู้บริโภคต่างๆ เพื่อมาออกแบบคอนเทนต์ ก็เป็นตัวสำคัญที่นักศึกษานิเทศศาสตร์ต้องเรียนรู้มากขึ้นว่ากลุ่มเป้าหมายเขาชอบแบบไหน
เราถึงจะสามารถผลิตเนื้อหาคอนเทนต์ตอบโจทย์เขามากที่สุด และอีกส่วนที่สำคัญ ในอดีตเวลาที่ผลิตบัณฑิตจบออกไป เราหวังเน้นให้บัณฑิตได้เข้าไปทำงานในองค์กรสื่อใหญ่ๆ ธุรกิจใหญ่ๆ หรืออุตสาหกรรมสื่อที่มีอยู่มากมาย
แต่วันนี้มีความเปลี่ยนแปลงด้วยสื่อดิจิทัลที่เกิดมามากมาย การเรียนการสอนก็จะเน้นมากขึ้นในการผลิตบุคลากรที่สามารถออกไปประกอบธุรกิจเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ผลิตเองในส่วนของคอนเทนต์ ทำดิจิทัลอีเวนต์ เป็นแอดมินเพจ เป็นยูทูปเบอร์ เป็นรีวิวเวอร์ ได้มากขึ้น
และก็เริ่มมีมากขึ้นว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาช่วงเรียน 4 ปี สามารถมีแพลตฟอร์มที่เขาสามารถทำธุรกิจในเชิงคอนเทนต์ หรือหยิบส่วนของดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง มาประยุกต์ เพื่อให้เขาสามารถขายสินค้าหรือขายบริการทางออนไลน์ สร้างรายได้ของเขาได้
ทั้งนี้ เด็กนิเทศศาสตร์ปี 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะต้องเรียนรายวิชาพื้นฐานในส่วนของการเป็นผู้ประกอบการ คือจะบังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนเรื่องบริหาร โดยเฉพาะบริหารเรื่องผู้ประกอบการ อีกตัวคือเรื่อง Coding คือ ภาษาคอมพิวเตอร์ เพราะในอนาคตไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI หรือตัวนวัตกรรมของคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทในหน้าที่การงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องรู้พื้นฐานของเรื่อง Coding บ้าง เพื่อที่เราจะเข้าใจว่ามันกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะได้ไปประยุกต์ใช้ได้
คนรุ่นใหม่รู้เรื่องเทคนิคการใช้ดิจิทัล แต่เรื่องคอนเทนต์ยังไม่ลุ่มลึกเท่าคนรุ่นเก่า
อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงปัญหาของคนข่าวในยุคอนาล็อกหลายคนที่ออกมาเปิดเพจ เปิดเว็บไซต์ แต่ไม่สามารถแปลงสิ่งที่เป็นองค์ความรู้เดิมหรือทักษะเดิมที่มี และยังคิดโมเดลเดิมที่จะต้องมีโฆษณามาลง จึงอาศัยการเข้าไปติดต่อแหล่งข่าว เพื่อขอเงินมาลงเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบการหารายได้แบบเดิมๆ ในยุคดิจิทัลจะต้องเปลี่ยน Mindset หลายอย่าง
เพราะโมเดลธุรกิจในเชิงออนไลน์มีหลากหลาย อย่างตัวคอนเทนต์ก็หารายได้ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเรามักจะไปมองแค่ Advertorial คือ กึ่งโฆษณาแต่เขียนในบทความ วันนี้ มีการปรับตัวไปอีกเป็นเชิงคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง ในเชิงรีวิวนำเสนอประโยชน์ที่ผู้บริโภคควรได้รับมากขึ้น แต่มันมีบิสเนสโมเดลอย่างอื่นที่ทำร่วมกัน
ในส่วนของอีเวนต์ ในส่วนของดิจิทัลออนไลน์แคมเปญ คนที่กระโดดเข้ามาสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลก็ต้องมองหารูปแบบธุรกิจในดิจิทัลแบบใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ แปลงเป็นรายได้ ในหลักสูตรมีการฝึกให้เด็กเขียนรีวิวสินค้าและบริการ จะดึงจุดเด่นตรงไหนมานำเสนอผู้บริโภคให้เขาสนใจ จะนำเสนอสไตล์ไหน ก็เป็นอีกแบบที่หารายได้ให้คนที่อยู่ในโลกออนไลน์
แต่ก็มีปัญหาว่าคนรุ่นใหม่นั้นรู้เรื่องเทคนิคการใช้ แต่ความแกร่งเรื่องคอนเทนต์ ยังไม่ลุ่มลึกเท่าคนรุ่นเก่าที่สั่งสมประสบการณ์มานาน เขาก็ต้องพัฒนา แต่คนสื่อดั้งเดิมที่กระโดดเข้ามาในแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความเก๋าเกม มีความรู้ทักษะดั้งเดิมอยู่แล้วซึ่งก็คือจุดแข็ง ถ้าเพิ่มความเข้าใจเรื่องดิจิทัลเข้าไปก็สามารถไปได้รวดเร็วมากขึ้น
“สังคม-ผู้บริโภค”ต้องช่วยกันประณามคอนเทนต์สื่อออนไลน์ที่มีปัญหาจริยธรรม
ส่วนการที่หลายองค์กรยักษ์ใหญ่ด้านสื่อ เอาคนเก่าออก และจ้างคนรุ่นใหม่เข้าไปแทนนั้น ดร.มานะ กล่าวว่า เป็นเพราะเขามองในเชิงธุรกิจ เรื่องประหยัดต้นทุน เพราะคนที่มีประสบการณ์มากเงินเดือนก็สูง สามารถเอาไปจ้างพนักงานใหม่ได้ 2-3 คน แต่ถ้าเอาคนเก่าออกไปเยอะ สิ่งที่ออกตามไปด้วยคือองค์ความรู้ ประสบการณ์ที่คนทำงานเขาทำมา
โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับธุรกิจสื่อออกไปด้วย มันก็ทำให้ได้แต่รูปแบบ แต่กลวงในเชิงของเนื้อหา ก็เป็นปัญหาหนึ่งของหลายองค์กรสื่อที่สีสันเล่าเรื่องอยู่ในออนไลน์เก่ง แต่อ่อนด้อยความลุ่มลึกในเรื่องของเนื้อหา แต่ละสื่อก็คงต้องไปผสมผสาน ให้คนเดิมที่มีประสบการณ์มีคุณค่าอยู่กับคนใหม่ที่เข้าไป
ส่วนเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณของสื่อ ดร.มานะ กล่าวว่า ทุกมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่อบรมเรื่องนี้ 1-2 รายวิชา และสอดแทรกในรายวิชาอื่น แต่ในการปฏิบัติในภาคสนามจริงหลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไร โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่มาไวไปไว ข้อมูลข่าวสารหลายอย่างขาดการตรวจสอบ ขาดการกลั่นกรอง ปล่อยให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเฟคนิวส์ หรือไปบูลลี่กล่าวโจมตีหรือกลั่นแกล้งคนโน้นคนนี้ ทางภาพ ทางวาจา ทางคอนเทนต์ เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสถาบันการศึกษาช่วยได้ในส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้คือสังคม ผู้บริโภคสื่อ ต้องช่วยกันเตือน ช่วยกันประณามถ้าเห็นคอนเทนต์ในออนไลน์ของใครที่มีปัญหาในเชิงจริยธรรม เพื่อบอกคนที่ทำว่าถ้าเขายังทำอย่างนี้ เขาจะขาดผู้สนับสนุน คนดูก็จะไม่ชอบ จะไม่เสพข้อมูลข่าวสารของเขา จะเป็นตัวทำหน้าที่ให้คนที่ผลิตคอนเทนต์ที่ไม่ถูกต้องนัก ได้เข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบ้าง
ส่วนจริยธรรมขององค์กรสื่อก็ต้องถามเจ้าของสื่อที่จะเป็นตัวหลักที่จะทำให้จริยธรรมขององค์กรธุรกิจเขาเข้มแข็งแค่ไหน ถ้าเจ้าของเน้นเรตติ้ง เน้นเรื่องคนดูเยอะๆ โฆษณาเข้ามาเยอะๆ โดยปล่อยคอนเทนต์บางอย่างที่หมิ่นเหม่เรื่องศีลธรรมออกไปมากๆ ก็จะก่อให้เกิดผลภาพรวมทำให้สื่อถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรม
ดังนั้น องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในธุรกิจสื่อคือเจ้าของที่ต้องเห็นถึงความสำคัญของเรื่องจริยธรรมสื่อก่อนด้วย ขณะที่ในส่วนขององค์กรวิชาชีพสื่อ และวิชาการ จะต้องมีส่วนร่วมกันในการพัฒนาทั้งตัวบุคลากรที่จะเข้ามาใหม่สู่วงการ ซึ่งก็คือเด็กที่จบใหม่ และคนที่ทำอยู่แล้ว รวมทั้งพัฒนาทักษะและคุณธรรมให้คงอยู่ ร่วมกันพัฒนาบุคลากรในสถาบันการศึกษา สถาบันวิชาชีพ ให้เติบโตก้าวไปรับมือกับโลกดิจิทัลได้มากขึ้น