ทางรอด!! 15 ช่องทีวีดิจิทัลต้อง Transform อย่างไร?

ทีวีดิจิทัลเข้าสู่เวอร์ชั่น 2 ในยุค 5จี ผู้บริหารทีวีต้องไปสู่ยุค Omni Channel ส่วน 15 ช่องที่เหลือ อีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือกี่ช่อง ให้กลไกการตลาดเป็นตัวตัดสิน

วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายที่ผู้ประกอบการรวม 7 ราย ได้ยื่นขอคืนช่องทีวีดิจิทัลและขอรับเงินชดเชย เมื่อรวมกับก่อนหน้านี้ ที่ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “ติ๋มทีวีพูล” ได้บอกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลไปแล้ว 2 ช่อง ทำให้มี 9 ช่องที่หายไป และเหลืออยู่ 15 ช่อง ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า หลังวันที่ 10 พ.ค. เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เวอร์ชั่นที่ 2 ของทีวีดิจิทัล เวอร์ชั่นแรกคือก่อนวันที่ 10 พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ทีวีดิจิทัลล้มลุกคลุกคลาน เพราะมันไม่ได้เป็นไปตามแผน

สำหรับเวอร์ชั่น 2 จะมี 2 กลุ่ม คือ 1.Exiter ซึ่งไปแล้ว 9 ช่อง และ 2.Survivor ที่ต้องขีดเส้นใต้ว่าต้องเป็นกลุ่มที่มีการ Transform โดยหลังวันที่ 10 พ.ค. ตนเองเรียกว่าเป็นยุคที่ 2 หรือเวอร์ชั่น 2.2 ของทีวีดิจิทัล หรือนิยามง่ายๆ ว่าเป็นสภาวะปรับสมดุลทางการตลาดของทีวีดิจิทัลทั้งหมด และการปรับสมดุลคงไม่ใช่มีแค่ครั้งเดียว อาจมีครั้งต่อๆ ไป ในเวอร์ชั่น 3 เวอร์ชั่น 4 เพราะมันอยู่ในระยะเวลาที่นานมากถึง 10 ปี

 

ทีวีดิจิทัลเวอร์ชั่น 2 เข้าสู่ยุค 5จี ผู้บริหารทีวีต้อง Transform ไปสู่ยุค Omni Channel

ในยุคเวอร์ชั่น 2 ดร.สิขเรศ กล่าวว่า จุดท้าทายของเราถ้าจะเอาเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด วันนี้ เราเข้าสู่ยุค 5จีเรียบร้อยแล้ว โดยเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ก็ประกาศแล้ว ล่าสุดที่เกาหลีใต้ หลังจากเพิ่งเปิดตัว 5จี ไปไม่กี่สัปดาห์ มีคนสมัครแล้วถึง 4 แสนราย และในกลางปีนี้ จีน ญี่ปุ่น และตลาดโลก ก็จะเปิดตัว ดังนั้น 5จีจะไปเร็วมาก และพลานุภาพของ 5จี มีความเร็วในการดาวน์โหลดภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมง ภายใน 36 วินาที ซึ่งอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาวิดีโอเป็นหลัก เช่น โทรทัศน์ วิดีโอ หรือ OTT (การดูหนังหรือเนื้อหาต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต) ต่อไปปัจจัยที่แทรกซ้อนของมันคือความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี

ดังนั้น อุตสาหกรรมโทรทัศน์ สื่อทีวี และกลุ่ม Survivor ก็ต้อง Transform ตัวเองเหมือนกัน เข้าไปสู่ยุคที่เราต้อง Reset ใหม่ เมื่อ 5 ปีที่แล้วเราอาจโดนวาทกรรมฟองสบู่ที่หลอกลวงว่า แพลตฟอร์มทีวีที่เป็นภาคพื้นดินคือสื่อหลัก แต่ 5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าบางครั้งมันไม่ใช่สื่อหลัก หรือในชีวิตประจำวันของคนเมืองก็ไม่ใช่สื่อหลักสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับแกดเจ็ต เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ แต่บางอีเวนท์ เช่น ภัยพิบัติ เหตุการณ์สำคัญ พระราชพิธี จอทีวีก็ยังเป็นจอหลักอยู่

เพราะฉะนั้นตอนนี้ Mindset (ความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม) ของคนในวงการทีวีต้องเข้าใจใหม่ว่า มันอยู่ในยุคที่ผกผันไปมา และกำลังไปสู่ยุคของ Omni Channel (การติดต่อสื่อสารที่หลากหลายช่องทาง) คือ ไปในทุกช่องทาง ไปทุกแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้น Mindset ของผู้บริหารทีวีต้องไปสู่ยุคของ Omni Channel หมายถึง on air, online, on ground, on event, on whatever ที่เป็นช่องทาง คือ เมนคอนเซ็ปต์ของทีวีในยุคที่ 2

15 ช่องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม”Cut loss-ไม่ได้เป็นธุรกิจทีวีอย่างเดียว-3เจ้าสัว”

สำหรับ 15 ช่องที่เหลือ ดร.สิขเรศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ Cut loss ได้แก่ MCOT ตัดช่องเด็กออก ลดต้นทุน / กลุ่ม BEC คือ กลุ่มช่อง 3 ตัดต้นทุน และได้กระชับกำลังที่เคยกระจายไปอยู่ 3 ช่อง ให้กลับมาอยู่เพียงช่องเดียว และมีทิศทาง เพราะผู้บริหารที่มาใหม่มาจากกลุ่ม OTT โดยเฉพาะ / กลุ่มสปริง-เนชั่น ตัดทีวีออกไป 2 ช่อง ได้เงินกลับมาพัฒนาเนชั่นต่อไป ถ้าเขามีนโยบายในการพัฒนา 2.กลุ่มที่ไม่ได้มองว่าทีวีเป็นเรื่องของธุรกิจเพียงอย่างเดียว อาจมีวัตถุประสงค์อื่นหรือทำหน้าที่กลไกในเชิงการเมืองได้

และ 3.กลุ่มไทคูน หรือ กลุ่มอภิมหาเศรษฐี 3 เจ้าสัว ได้แก่ กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มซีพี และกลุ่มปราสาททองโอสถ ซึ่งแต่ละกลุ่มถือครองใบอนุญาต 2 ช่องทั้งนั้น เพราะแม้คนจะมองว่าธุรกิจทีวีค่อนข้างแย่ แต่เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ของอภิมหาเศรษฐี ใบอนุญาตทีวีก็มีมูลค่าน้อยมาก ถือว่าได้หน้าร้านในราคาถูก สามารถขยายต่อธุรกิจในราคาที่ถูกมาก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเกินคุ้ม รวมเงินแค่พันล้าน แต่เปรียบเหมือนได้เอเจนซี่อยู่ในมือ 2 ช่อง แต่ละช่องทำ on air, online, on ground และต้องก้าวต่อไปในยุค OTT เหมือนกัน

จาก”ช่องเด็ก”อุดมคติที่ล้มเหลว ให้มองเป็นโอกาสทอง รีบทำ MOU-TOR กับ 15 ช่อง

ดร.สิขเรศ ยังพูดถึงการที่ MCOT และ ช่อง 3 Family คืนช่องเด็ก เพราะไม่สามารถทำผลกำไรได้ว่า จะโทษผู้บริหารของทั้ง 2 ช่องอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตนเองคิดว่าส่วนนี้เป็นอุดมคติที่ล้มเหลวของผู้ที่ออกแบบด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องหารครึ่ง ที่อาจไม่เข้าใจกลไกการตลาด หรืออาจไม่มีมาตรการสนับสนุนช่องเด็กที่พอเพียงที่จะทำให้ช่องเด็กอยู่ได้

เราไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กและช่องเด็ก บางครั้งเราฉาบฉวยเกินไป คิดว่าจะซื้อการ์ตูนมา หรือถอดความสำเร็จของการ์ตูนเน็ตเวิร์คมา หรือช่องการ์ตูนที่เขาเป็นเจ้านครในช่องเคเบิลหรือดาวเทียมมา แล้วเราจะสำเร็จ นั่นหมายถึงเรากำลังทำช่อง”แอ๊บเด็ก” หรือทำช่องที่หาผลประโยชน์จากเด็กมากกว่า เราโฟกัสไปที่กลุ่มโฆษณาพวกขนมขบเคี้ยว ขนมหวานต่างๆ ที่จะไหลเข้ามาในโซนนี้ แต่เราไม่ได้ทำรายการเพื่อสาระประโยชน์กับเด็กจริงๆ และที่มีการคืนช่องเด็กไปทั้งหมดนั้น ขอให้มองตรงนี้เป็นโอกาสทอง เป็นความล้มเหลวที่เป็นโอกาส

เพราะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะต้องรีบทำ เอ็มโอยู หรือ ทีโออาร์ กับทีวี 15 ช่อง ให้แต่ละช่องจะต้องมีการให้บริการเด็กและครอบครัวในจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ต้องคุยกับช่องด้วยว่าเขาจะจัดสรรเวลาให้อย่างไร รวมไปถึงการให้บริการผู้พิการด้วย เพราะทีวีดิจิทัลเป็นหนี้บุญคุณประชาชนอยู่

อีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือกี่ช่อง ให้กลไกการตลาดเป็นตัวตัดสิน

สำหรับ 15 ช่องที่เหลือนั้น ดร.สิขเรศ กล่าวว่า ทั้งหมดก็ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเองในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะช่วงปีนี้ถึงปีค.ศ. 2020 5จีมาแน่ๆ โลก OTT จะเฟื่องฟูแน่ๆ ก็ต้องปล่อยให้กลไกทางการตลาดเป็นตัวตัดสินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเหลือทีวีกี่ช่อง เพราะการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ถ้าเป็นรัฐบาลปกติในยุคประชาธิปไตยทำ ก็เทียบเคียงปีที่แก้สัมปทานดาวเทียม กสทช.และรัฐบาล ขาข้างหนึ่งก็อยู่ในคุกแล้ว

ทั้งนี้สิ่งที่ 15 ช่องต้องทำหลังจากนี้ คือ 1.Restructuring (ปรับโครงสร้างองค์กร) ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐซึ่งก็คือ กสทช. 2.ปรับกระบวนทัศน์ของการทำธุรกิจทั้งหมดใหม่ ให้ก้าวเข้าสู่ยุค 5จี OTT อยู่ในยุค Omni Channel ให้ได้ และ 3.Branding (การสร้างภาพลักษณ์ของตราสินค้า) เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยอานิสงส์ของมาตรา 44 ทำให้ 15 ช่อง ไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดที่เหลือ และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) จนกว่าสิ้นสุดใบอนุญาต 10 ปี ก็ต้องดูว่า 15 ช่องจะมีกลยุทธ์ในการเดินทางต่อไปอย่างไร

ฝากประชาชน”จับตา-ทวงบุญคุณ” ทีวีดิจิทัล เพื่อให้พัฒนาต่อไป

ดร.สิขเรศ ยังฝากไปถึงประชาชนให้ช่วยกันจับตาทีวีดิจิทัลเป็นพิเศษ และให้ประชาชนช่วยทวงบุญคุณทีวีดิจิทัลต่อจากนี้เป็นต้นไปด้วย เพราะเขาใช้รายได้รัฐ รายได้ของพวกเราไปจ่ายและโอบอุ้มประชาชนที่อยู่ในสถานี เป็นจำนวนรวมแล้วมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นตนเองเองอยากให้ประชาชนเป็นหูเป็นตา จับตา ผลักดัน กดดัน ให้ทีวีดิจิทัลพัฒนาต่อไป @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *