“Blockchain”อีกบทบาทตรวจสอบเส้นทางการเงินวัด

ผู้อำนวยการสถาบันคิดใหม่ เสนอใช้เทคโนโลยี Blockchain และ Buddhist Coin ควบคุมการบริหารจัดการเงินของวัด เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ข่าวการทุจริตเงินอุดหนุนวัดที่โอนไปจากส่วนกลาง หรือที่เรียกกันว่า “ทุจริตเงินทอนวัด” หรือข่าวพระสงฆ์นำเงินบริจาคที่ได้จากประชาชนไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้ชาวพุทธหลายคนไม่สบายใจและเป็นห่วงว่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้นั้น ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา ผู้อำนวยการสถาบันคิดใหม่ และประธานกรรมการมูลนิธิบ้านอารีย์ กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ”ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 เสนอให้ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาดูแลเรื่องการบริหารจัดการเงินบริจาคของวัด เพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส ใช้ได้กับงานทั่วไปทุกประเภท

ผศ.ดร.วีรณัฐ อธิบายว่า “Blockchain” เป็นวิธีการเก็บข้อมูลในรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นฐานข้อมูลแบบกระจายอำนาจ กระจายการจัดเก็บ จากเดิมจะเป็นฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ เช่น ข้อมูลทางการเงินจะอยู่ที่ธนาคาร ข้อมูลสุขภาพจะอยู่ที่โรงพยาบาลที่เรารักษา แต่ Blockchain คือการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ให้ใครมาถือครองข้อมูล

เพราะคนที่ถือครองข้อมูลจะมีอำนาจและสามารถนำไปสร้างประโยชน์ได้ เช่น การนำข้อมูลส่วนตัวมาขายเพื่อวิเคราะห์ทำการตลาด และข้อดีของ Blockchain คือ เมื่อบันทึกไปแล้ว จะแก้ไขข้อมูลไม่ได้ ยกเว้นแต่คนที่อยู่ในเครือข่าย Blockchain ของกลุ่มนั้นจะยอมรับเกินครึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก

ทั้งนี้ Blockchain เกิดขึ้นมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว สินค้าตัวแรกที่โลกรู้จักก็คือเงินสกุลดิจิทัล คือ บิทคอยน์ แต่เรามารับรู้กันตอนที่มีการใช้บิทคอยน์ในเชิงธุรกิจเทาๆ คนเลยติดภาพลบว่า Blockchain เป็นของไม่ดี แต่ตอนนี้หลายคนเข้าใจแล้วว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส และเป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับงานทั่วไปทุกประเภท ตอนนี้ในต่างประเภทแทบจะทุกวงการกลับมาใช้ Blockchain กันหมดแล้ว Blockchain จึงเป็นดิสรัปชั่นเทคโนโลยี คือเป็นเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติทำลายล้างเทคโนโลยีเก่าให้หมดไป

เสนอใช้ Buddhist Coin ควบคุมการใช้เงินบริจาคของวัด

ผศ.ดร.วีรณัฐ กล่าวว่า Blockchain ถูกออกแบบมาเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ จึงตอบโจทย์เรื่องเงินบริจาค ทำให้เกิดโครงการ

Buddhist Coin หลักการคือ แทนที่เราจะบริจาคเงินให้วัดที่เราศรัทธา เราก็ไปนำเงินไปแลกเป็น Buddhist Coin ซึ่งจะต้องมีองค์กรกลางคือ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือธนาคารที่รับแลก ทั้งนี้ Buddhist Coin จะมีค่าคงที่ (Stable) ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการขึ้นลงของค่าเงิน เมื่อเราแลก Buddhist Coin แล้วก็จะบริจาคให้วัดด้วยการโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของวัด

โดยที่เราจะเขียนควบคุมในโปรแกรม Blockchain ว่า สิ่งของใดบ้างที่สามารถใช้ Buddhist Coin ซื้อได้ เหมาะแก่สมณสารูป ดังนั้น เงินที่มาจากส่วนกลางหรือจากการบริจาคของประชาชน ถูกวัดนำไปใช้อย่างไรก็สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งต่อไปถ้าเราร่วมกับ IoT ก็จะพัฒนาถึงขั้นตรวจสอบได้ว่าของที่ซื้อมาไปอยู่ที่วัดจริง ไม่ได้ไปอยู่ที่อื่น

สำหรับเงินที่ใช้พัฒนาการเขียนโปรแกรม Blockchain เพียง 1-2 ล้านบาท และอุปกรณ์จำเป็นที่แต่ละวัดต้องมีคือสมาร์ทโฟนขั้นพื้นฐานทั่วไป เพื่อเปิดบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแนวทางที่เสนอมานั้น เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ไม่ใช่บังคับว่าทุกวัดจะต้องรับ Buddhist Coin อย่างไรก็ตาม ถ้าประชาชนศรัทธาระบบนี้ ก็จะเป็นการบีงบังคับให้วัดรับเงินด้วยระบบนี้

หวังประชาชนร่วมผลักดัน Blockchain-Buddhist Coin ไปสู่การออก กม.รองรับ

ตอนนี้สิ่งที่ ผศ.ดร.วีรณัฐ ต้องการก็คือการตระหนักรู้ของคนจำนวนมากในเรื่องของ Blockchain และ Buddhist Coin เพื่อที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพราะจากที่ได้พูดคุยในแวดวงของ Blockchain เอง ได้ผลตอบรับ 100% และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ ดังนั้น หากภาคประชาสังคมเห็นด้วย เราก็จะผลักดันนำเสนอสู่ภาครัฐ เพื่อให้ออกกฎหมายมารองรับต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังฝากให้คนไทยตระหนักถึงเทคโนโลยี Blockchain อย่างเร่งด่วน เพราะทั่วโลกได้เคลื่อนไปไกลแล้ว ถ้าเรายังไม่รีบพัฒนา เราก็จะตกโลกในเร็ววันนี้ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ตอนนี้เอกชนหลายรายเริ่มหันมามอง Blockchain อย่างจริงจัง แต่ในส่วนของทั้งประเทศต้องเริ่มได้แล้ว @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *