เศรษฐกิจบุญนิยมทำได้อย่างไร? “ขายสินค้าต่ำกว่าทุน&สร้างชุมชนทวนกระแส”

เศรษฐกิจแบบบุญนิยม ยิ่งขาดทุนยิ่งได้กำไร เพราะได้เสียสละ ลดความเห็นแก่ตัว คนในชุมชนจะอยู่กันแบบ “บวร” บุญนิยมจะอยู่อย่างยั่งยืน เพราะระบบทุนนิยมทุกวันนี้ ฟ้องแล้วว่าล้มเหลว ทำลายโลก

เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี เครือข่ายเศรษฐกิจบุญนิยม กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า แนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีเป้าหมายคือการค้าขายทำกำไรให้ได้มากที่สุด แต่บุญนิยมความคิดจะตรงกันข้าม เพราะถือว่ายิ่งขาดทุนนี่แหละเป็นกำไร ซึ่งเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าขายต่ำกว่าทุน ทุนนิยมเรียกว่าขาดทุน

แต่บุญนิยม ขายต่ำกว่าทุนถือว่ากำไร เพราะถือว่าได้บุญ คือได้เสียสละ ได้ลดความเห็นแก่ตัว สามารถทำให้เป็นระบบบุญนิยมในกลุ่มสันติอโศก ตอนนี้มี 9 แห่ง กระจายแทบทุกภาคของประเทศ แต่ที่ตนเองจะไปอยู่คือที่ราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี

บุญนิยมมีหลายระดับ คนที่จะทำได้ต้องลดความเห็นแก่ตัว

เภสัชกร สงกรานต์ กล่าวว่า คนที่จะทำระบบบุญนิยมได้ ต้องลดความเห็นแก่ตัว และบุญนิยมมีหลายระดับ ระดับต้น คือ ขายต่ำกว่าท้องตลาด ขั้นที่ 2 คือ ขายเท่าทุน ขั้นที่ 3 คือ ขายต่ำกว่าทุน ซึ่งในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. ของทุกปี ที่ชุมชนราชธานีอโศก จะมีการขายของขาดทุนขนาดใหญ่ ที่ตลาดอาริยะ อ.วารินชำราบ ซึ่งได้ทำอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

คนขายก็จะเป็นกลุ่มในเครือข่ายของชาวอโศกมาจากทั่วประเทศ มาช่วยขายขาดทุน และยังมีอีกขั้นคือแจกฟรี ที่ทำเป็นประจำคือวันที่ 5 ธ.ค.ของทุกปี จะมีการแจกอาหารมังสวิรัติ ซึ่งทำต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว หรือหนังสือธรรมะที่ผลิตมามีต้นทุน แต่เขาก็แจกฟรี หรือของบางอย่างถ้ามีเยอะ เขาก็แจกฟรี

การทำบุญต้องทำอย่างเสียสละ ไม่หวังผลตอบแทน การทำบุญแล้วขอนู่นขอนี่ ไม่ใช่จิตที่เสียสละ

เภสัชกร สงกรานต์ กล่าวว่า ต้นคิดของบุญนิยมมาจากพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธก็อยากได้บุญ แต่มักจะเข้าใจผิดว่าไปสะสมบุญ แต่ความจริงความหมายของบุญคือชำระกิเลส คือ ต้องลดความเห็นแก่ตัวของตัวเอง ถึงจะได้บุญ ซึ่งมีคำ 2 คำที่คนจะสับสน คือ บุญและกุศล บุญคือลดความเห็นแก่ตัว กุศลคือทำเพื่อผู้อื่น จะเป็นเรื่องของการไปช่วยคนอื่น

ทั้งนี้ ศาสนาพุทธมี 2 นิกายใหญ่ ศาสนาพุทธในประเทศไทยเรียกว่า “เถรวาท” เน้นการปฏิบัติเพื่อให้หมดตัวหมดตน หรือเรียกว่าพระอรหันต์ คือ หมดความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิงแต่ทางจีน ไต้หวัน เป็น”มหายาน” นับถือพระโพธิสัตว์ เน้นไปช่วยคนอื่น

แต่ที่จริงพุทธเป็น 2 เรื่องที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สันติอโศกพยายามจะใช้ คือ ลดความเห็นแก่ตัวด้วย ช่วยเหลือคนอื่นด้วย การทำบุญแล้วขอนู่นขอนี่ ไม่ใช่จิตที่เสียสละ การทำบุญให้ได้บุญ จะต้องทำอย่างเสียสละ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน จะได้บุญยิ่งกว่า ได้กุศลยิ่งกว่า

ชุมชนบุญนิยมจะอยู่กันแบบ “บวร” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง

เภสัชกร สงกรานต์ กล่าวว่า แนวทางเศรษฐกิจบุญนิยมที่ชุมชนชาวอโศกทั่วประเทศอยู่กันแบบ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน ใช้พลังศักยภาพแต่ละจุดเสริมพลังกัน เช่น วัด พระหรือสมณะจะสอนให้คนมีบุญ มีกุศลที่ถูกต้อง ก็ไปสอนนักเรียนที่นั่น ชาวบ้านก็เป็นครู พระและสมณะก็เป็นครู ส่วนนักเรียนก็มีจุดแข็ง คือยังเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น ก็มีกำลัง สามารถเป็นแรงงานช่วยผู้ใหญ่พร้อมๆ กับไปเรียนรู้งาน

ซึ่งมีทั้งงานกสิกรรม อุตสาหกรรม มีทั้งโรงงานปุ๋ย โรงงานทำแชมพู มีสมุนไพร ทำให้เด็กๆ ได้ทั้งวิชาชีพและวิชาการ ขณะที่ครูก็ช่วยทำงานด้วย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็น “บวร” อย่างแท้จริง เด็กในชุมชนอโศกทำตั้งแต่ทำนาจนถึงทำรายการโทรทัศน์ได้ และนักเรียนก็ได้เรียนเรื่องศีลธรรม ปรัชญาการศึกษาของที่นี่คือ “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา” และให้คะแนนเรื่องศีลเป็นสำคัญ

บุญนิยมจะอยู่อย่างยั่งยืน เพราะระบบทุนนิยมทุกวันนี้ก็ฟ้องแล้วว่าล้มเหลว ทำลายโลก

เภสัชกร สงกรานต์ กล่าวว่า แนวทางเศรษฐกิจแบบบุญนิยมจะอยู่อย่างยั่งยืน เพราะทุกวันนี้ ทุนนิยมก็ฟ้องแล้วว่าทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะทุกคนกอบโกย และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนรวยเท่ากัน แบบนั้นเป็นความเพ้อฝัน ความเพ้อเจ้อ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ระบบทุนนิยมล้มเหลว ทำให้คนส่วนใหญ่ยากจน และมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ร่ำรวย

ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า เราต้องบริหารแบบคนจน คือ อย่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เราก็ใช้ตามที่จำเป็น แต่ก็ไม่ถึงกับจนเกินไปเหมือนชุมชนที่นี่ ทุกคนทำงานฟรี แต่ของที่ผลิตได้แล้วไปขาย เงินก็มาอยู่ที่ส่วนกลาง แล้วใช้กินด้วยกัน แต่กลับอยู่ได้ ซึ่งการที่ผลิตได้แล้วเป็นของส่วนกลาง ที่จริงนี่เป็นระบบคอมมูน เป็นคอมมิวนิสต์ตัวจริง แต่ไม่ใช่การบังคับ ใครจะเข้าจะออกก็ได้ ไม่เคยมีรั้ว คนข้างนอกก็เข้าได้ 24 ชั่วโมง ขโมยอาจมีบ้าง แต่ก็น้อยมาก มีคนพูดเรื่องสังคมพระศรีอารย์ เป็นสังคมอุดมคติ แต่ฝันเฉยๆ ไม่เกิด ต้องช่วยกันสร้างสังคมอุดมคติ @

ภาพ : facebook/หมู่บ้านราชธานีอโศก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *