เจ้าของ TC ซุปเปอร์มาร์ท เผยแนวทางต่อยอดธุรกิจจากค้าปลีก ค้าส่ง สู่เทรดดิ้ง ยืนยัน ทำบัญชีเดียวให้ถูกต้อง ธุรกิจก็เติบโตได้และง่ายต่อการพัฒนา
หลังจากมาเล่าให้ฟังในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ถึงประสบการณ์ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจจากร้านกาแฟโบราณของคุณพ่อคุณแม่ มาทำร้านโชวห่วย จนนำไปสู่การเป็นร้านขายส่งในตอนก่อนหน้านี้ วันนี้ “นุกูล สามัคยานุสรณ์” กรรมการผู้จัดการบริษัท สามัคยานุสรณ์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของ TC ซุปเปอร์มาร์ท จะมาเล่าถึงการต่อยอดหลังจากร้านโชวห่วยที่ทำเติบโตไปได้ระยะหนึ่ง
โดยบอกว่าหลักการตลาด 3 ข้อใหญ่ที่ใช้ได้กับทุกธุรกิจ คือ 1.เพิ่มยอดขาย 2.เพิ่มกำไร 3.ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งธุรกิจร้านโชวห่วยจะทำอย่างไรให้ขายได้เยอะ ขายได้หมด ขายได้เร็ว เพราะเมื่อซื้อสินค้าเยอะ เพื่อให้ซื้อได้ในราคาถูกลง ก็จะมีผลต่อสต๊อก ซึ่งเป็นตัวหนึ่งของต้นทุน และทำอย่างไรจะทำให้สินค้าที่เราซื้อมามาก สามารถขายได้มากและขายให้ทันเครดิตที่เราได้
ขายส่งแม้จะได้กำไรน้อย แต่ถ้าขายได้เยอะ ก็มีกำไรแฝงอยู่
“นุกูล” กล่าวว่า การขายส่งก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งของร้านโชวห่วย ถึงแม้ว่าขายปลีกต่อชิ้นจะได้เปอร์เซ็นต์ของกำไรมากกว่าขายส่ง แต่การที่เราขายส่งได้เยอะๆ นั้น มันยังมีอะไรที่ซ่อนอยู่ เป็นรายได้แฝงสำหรับร้านค้า คือ 1.เมื่อเราซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เราก็อาจได้ลดอีก 2-3% 2.เราอาจได้พรีเมียมเพิ่ม หรือของแถมเพิ่ม 3.เราอาจได้ในส่วนของการช่วยเหลือของร้านค้า เช่น อาจมีพนักงาน หรือพีซี มาช่วยโปรโมททั้งในเวลาปกติ หรือในช่วงที่เราจัดงานฉลองครบรอบปี อันนี้ถือเป็นกำไรส่วนเพิ่มที่แฝงอยู่
นอกจากนี้จะต้องควบคุมสต๊อกสินค้า ระบบหลังบ้านต้องดี ระบบบัญชี ระบบการควบคุมต้องดี อาจต้องใช้โปรแกรมเข้ามาช่วยดูรายงานยอดขาย รายงานกำไรและสต๊อก และอีกเรื่องสำคัญที่อยากแนะนำ คือเวลาซื้อสินค้าไม่ว่าจะขายปลีกหรือขายส่ง ถ้าเราซื้อสินค้า 1 โหล 12 ชิ้น เราก็ต้องขายให้หมดทั้ง 12 ชิ้น สมมติเราขายของได้กำไรชิ้นละ 2 บาท เราขายได้แล้ว 10 ชิ้น ได้กำไรไปแล้ว 20 บาท แต่เรายังเหลือสินค้า 2 ชิ้น ก็แทบไม่เหลือกำไร
ส่วนการขยายจากร้านขายปลีกมาเป็นร้านขายส่ง ในตอนแรกที่เป็นน้องใหม่จะทำอย่างไร เราก็ต้องหารูปแบบที่แตกต่างจากร้านขายส่งทั่วไป การหาลูกค้าก็ไปหาตามงานวัดเวลาที่มีการจัดงาน หรือซัพพลายเออร์ที่เป็นคู่ค้าของเรา หรือตามหน่วยงานราชการเวลาที่เขาจัดงานมีประชาชนมารับฟัง เราก็อาจไปออกบูธ
จากค้าส่ง ต่อยอดไปสู่เทรดดิ้ง ขายสินค้าไปต่างประเทศ
หลังจากขายส่งไปได้ระยะหนึ่ง “นุกูล” บอกว่า จะมีอีกธุรกิจหนึ่งที่เรียกว่า เทรดดิ้ง คอมปานี (บริษัทที่ซื้อมาขายไป) พวก Exporter (ผู้ส่งออก) ที่ติดต่อกับซัพพลายเออร์แล้ว ซัพพลายเออร์อาจติดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น อาจขายได้แค่ภายในประเทศ เขาก็แนะนำร้านเรา เราก็ขายให้ Exporter เหมือนเราขายในไทย แล้วให้เขาไปส่งออกอีกที ทำอยู่ระยะหนึ่ง ลูกค้าที่ซื้อจาก เทรดดิ้ง คอมปานี ก็มาหาเพราะเขาอยากซื้้อจากเราโดยตรง ซึ่งการส่งออกเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าการขายในประเทศ เพราะมันจะมีขั้นตอนและรายละเอียดเยอะ แต่ตนเองก็อยากทำ
ดังนั้นจากร้านขายส่ง ก็มาต่อยอดเป็นเทรดดิ้ง ขายไปต่างประเทศ เพราะการขายของไปต่างประเทศนั้นมีข้อดีคือ 1.ขายได้ล็อตใหญ่ 2.ปกติถ้าซื้อขายในประเทศ ตอนซื้อก็จะมีภาษีซื้อ พอขายก็จะมีภาษีขาย ถ้าภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ เราก็ต้องไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) แต่ส่งออกนั้นรัฐบาลส่งเสริมให้เราส่งออก ตอนซื้อเรามีภาษีซื้อ แต่เราไม่ต้องเสียภาษีขาย และคืน vat ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ในระบบบัญชีที่ถูกต้อง
แนะผู้ที่จะส่งออก ให้มีภาษาอังกฤษกำกับข้างกล่อง ถ้ามีภาษาจีนด้วยยิ่งดี
“นุกูล” เล่าว่า จากที่ทำร้านโชวห่วยในปี 2525 ก็มาทำ Export ในปี 2544 โชคดีที่ครั้งแรก ซัพพลายเออร์ให้ลูกค้ามา แต่หลังจากนั้นก็ต้องไปเสนอตัวที่คาร์โกไปพูดคุยว่าเรามีสินค้า คาร์โกจะแนะนำลูกค้ามาให้เราหรือจะเป็นพ่อค้าแทนเราก็ได้ ซึ่งในสมัยก่อนเขาจะใช้วิธีบอกกันปากต่อปาก แต่สมัยใหม่นี้เราต้องไปออกงานแฟร์ต่างๆ ไปเป็นสมาชิกอาลีบาบาในออนไลน์ เพื่อหาลูกค้าใหม่ สำหรับประเทศที่ส่งออกไปหลักๆ ก็ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน บังคลาเทศ ภูฏาน
ซึ่งภูฏานนิยมสินค้าไทยมาก สินค้าประมาณ 70% ในภูฏานเป็นสินค้าจากประเทศไทย เพราะเขามองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมแนะนำคนที่ต้องการส่งออกว่า ข้างกล่องสินค้าจะต้องมีภาษาอังกฤษกำกับเป็นอย่างน้อย ถ้ามีภาษาจีนด้วยยิ่งดี และหากต้องการส่งไปขายในประเทศมุสลิม ก็ต้องมีภาษาและมีเครื่องหมายฮาลาลด้วย
เผย ทำบัญชีเดียวให้ถูกต้อง ง่ายต่อการต่อยอด และธุรกิจก็เติบโตได้
เจ้าของ TC ซุปเปอร์มาร์ท กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจที่ทำมีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต โฮลเซล(ค้าส่ง) และ Export ซึ่ง Volume ใกล้พันล้านแล้ว โดยทำบัญชีเดียว ทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้มองเฉพาะเรื่องภาษี แต่มองเรื่องของการพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูแล ควบคุมสต๊อก การนำซอฟท์แวร์สมัยใหม่เข้ามาใช้ต้องอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง ตอนนี้ธุรกิจสมัยใหม่ รัฐบาลโดยกรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงธนาคาร ก็พยายามพัฒนาผู้ประกอบการให้อยู่ในระบบบัญชีเดียว
ซึ่งการทำบัญชีที่ถูกต้องสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้แน่นอน พร้อมแนะนำเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ที่เราสามารถหาข้อมูลได้จากองค์กรภายนอกหลายหน่วยงานโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เราสนใจเห็นว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ต่อเราก็ไปเข้ารับการอบรม เพราะการหาความรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นมากในสมัยนี้ สรุปการจะทำธุรกิจให้เติบโตจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ 1.ความตั้งใจเอาจริง 2.รักลูกค้า รักในวิชาชีพ 3.ขยันหมั่นเพียร เติมความรู้ 4.อย่าทำอะไรที่เกินตัว ดูกำลัง ประเมินความสามารถว่าทำได้แค่ไหน ค่อยๆ โต @
ภาพ : facebook.com/tcsupermart