“ถิ่น” กับ “เทค”

ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค เผย คนส่วนใหญ่ 80% ยังอยู่กับวิถีถิ่น แต่ใช้ “เทค” เข้ามาช่วยให้ชีวิตสะดวกสบาย ให้เรียนรู้ อย่ากลัว เพราะ “เทค” คือตัวช่วย ทำให้งานดีขึ้น

“อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล” ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ถึงความหมายของคำว่า “ถิ่น” กับ “เทค” ว่า คำว่าวิถีถิ่นในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Traditional” คือ วิถีที่เรายังต้องดำรงชีวิตอยู่ เช่น การทำอาหาร การกินอาหาร การปลูกพืชผัก เป็นพื้นฐานจริงๆ ของมนุษย์ คือ ปัจจัยสี่ เรายังต้องอยู่บ้าน นอนเตียง อาบน้ำ

ส่วน “เทค” ตอนนี้เราจะได้ยินคำนี้บ่อย จนบางคนเกิดการรับรู้ที่หวาดกลัวกับคำว่า “Disruption” ซึ่งต้องแยกแยะออกจากกันว่า การดำรงชีวิตของเรา พึ่งพา “เทค” แค่ไหน และเรานำ “เทค” เข้ามาใช้กับงานอย่างไร บางคนก็ร่ำรวยจาก “เทค” ล้วนๆ แต่ 80% ของคนยังต้องอยู่กับวิถีดั้งเดิม ที่ต้องการวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์เหมือนเดิม

เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องตกใจ ถ้ากระบวนการทำงานของเราเป็นแบบไหน ใช้ “เทค”  หรือใช้คน เราก็ใช้ไป แต่เราเอาเทคโนโลยีมาเป็นตัวเพิ่มความสะดวก เพราะเทคโนโลยีเก่งเรื่องการทำซ้ำ เราต้องไปคิดว่าปัญหาของเราคืออะไร เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเราได้หรือไม่ ถ้าช่วยแล้วจะเกิดอะไรใหม่

1.ถ้าเกิดการพัฒนาดีขึ้น เราเรียกว่า improve 2.ถ้าเกิดสิ่งใหม่ ขั้นตอนใหม่ กระบวนการทำงานใหม่ เรียกว่า develop 3.ถ้าเหนือกว่า develop เอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนจากสิ่งที่เราใช้กลายเป็นอีกเรื่อง เช่น จากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เรียกว่า innovation

ให้ทุกคนเรียนรู้ อย่ากลัว เพราะ “เทค”คือตัวช่วยทำให้งานดีขึ้น

ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค กล่าวว่า เมื่อออกไปต่างจังหวัด จะพบว่าคนยังดำรงชีวิตแบบถิ่น กิจกรรมงานสังคม การจัดการต่างๆ เขายังเน้นรูปแบบอนุรักษ์นิยม ให้อยู่อย่างประหยัด ให้อยู่อย่างพอเพียง แต่เอาเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาในการใช้เพื่อให้เกิดข้อมูลที่มีประโยชน์ และเอาข้อมูลที่ได้ที่เรียกว่า Big Data มาเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์มากขึ้นที่เราเรียกว่า information และจัดการให้เป็น content ให้เป็น knowledge

ตอนที่ตนเองไปประเทศญี่ปุ่น เมืองฟุกุโอกะ ชาวบ้านก็ยังอยู่เหมือนเรา เป็นมนุษย์เงินเดือน ใช้ชีวิตอยู่บ้านหลังเดิม หลังเล็กๆ แต่มีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้เขารู้สึกสะดวกสบาย หรือตอนที่ไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พอออกนอกลอนดอน เมืองอะไรก็เหมือนเดิม แต่ใส่เทคโนโลยีเข้าไป เทคโนโลยีสลิมขึ้น สมาร์ตขึ้น สปีดเร็วขึ้น กระตุ้นให้รู้สึกว่าเราเก่งขึ้น เรามีโอกาสได้รับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน

มีคนอาเซอร์ไบจานไปขับแท็กซี่ในนิวยอร์คของสหรัฐ ทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่รู้จักนิวยอร์ค แต่เขาสามารถทำงานได้ด้วย “เทค”จึงอยากให้ทุกคนเห็นโอกาส อย่ากลัว ซึ่งคนที่มีความคิด อยากเรียนรู้ จะทำให้งานของเขาดีขึ้น เพราะ “เทค” คือตัวช่วย ใช้ “เทค” ให้เกิดประโยชน์มากกว่าจะใช้ “เทค” แค่เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ ทุกวันนี้เราจะได้ยินพวกที่ประสบความสำเร็จ เป็นเศรษฐีหน้าใหม่ผ่านการขายออนไลน์ หรือบล็อกเกอร์ที่มีรายได้มากมาย ดังนั้นเราต่างหากที่จะเป็นคนกำหนดชะตาชีวิต ไม่ใช่ฟ้ากำหนด

แนะท้องถิ่นไทยสร้างสตอรี่หาจุดขายแล้วใช้ “เทค” ช่วย หาก “คลิก” อาจ “บูม”

ส่วนความเป็นท้องถิ่นของไทยเรานั้น “อนุพล” กล่าวว่า จะต้องหาจุดแข็งของตัวเอง หาจุดขาย หรือประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น แล้วสร้างสตอรี่ เล่าเรื่องให้น่าสนใจ อย่าไปก็อปปี้คนอื่น เอาสิ่งนี้มาปั้น เอากระบวนการความคิดนี้มาแต่งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ด้านบริการ แล้วใช้เทคโนโลยีมาช่วย ถ้าเกิด “คลิก” ขึ้นมาอาจ “บูม” ได้ เพราะเทคโนโลยีมีความเด่นดังนี้ 1.ความสะดวกในการเข้าถึง 2.ความสะดวกในการใช้ 3.ถูกและดี

สำหรับ SME ในบ้านเราที่ส่วนใหญ่ยังเป็น Traditional SME นั้น “อนุพล” กล่าวว่า โลกดิจิทัลและโลก Traditional ทำงานเหมือนกัน เราก็ก็อปปี้ชีวิตของเราไปสร้างร้าน สร้างเงื่อนไขการค้าในอินเตอร์เน็ต แต่มันจะต่างกันตรงที่ร้านค้าในตำบลจะมีคนเห็นนานๆ ครั้งสัก 5 คน แต่ถ้าร้านเข้าไปในออนไลน์ คนเห็นได้ถึง 5 พันล้านคน จะให้เห็นเท่าไรอยู่ที่ตัวเราทำ หรือจะให้เห็นในประเทศไทยก่อนก็ได้

เพราะเทคโนโลยีเก่งเรื่องการทำซ้ำ เก่งเรื่องการทำตลาดการบริหารงานแบบ 1:1 เช่น ลูกค้าเราอยู่ไหน เป็นใคร ทำไมเขาต้องซื้อเรา เราก็เขียนไปให้หมด เมื่อเขาอ่านเจอแล้วสนใจก็จะมาคุยและซื้อสินค้า สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการ ในอินเตอร์เน็ตก็มีสอน ถือเป็นช่องทางการขายของเราที่สะดวกขึ้น ไม่ต้องมีคนกลาง ตอนนี้เดินทางไปต่างประเทศ ก็เห็นเขาใช้ “เทค” เป็นเครื่องมือ แล้ว “เทค” ก็ไม่ได้แพงเหมือนในอดีต ยุคนี้เป็นยุคการสื่อสาร ถ้าเราไม่สื่อสาร ไม่คุยกับใคร แล้วจะไปค้าขายได้อย่างไร @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *