ในสภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อมองไปที่เศรษฐกิจระดับฐานรากก็พบว่ากำลังซื้อของข้างล่างตอนนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร การที่รัฐบาลประยุทธ์ 1 พยายามที่จะเอาบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เข้ามาเพื่อเพิ่มกำลังซื้อนั้น
จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานหอการค้าไทย มองว่าก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะเพิ่มกำลังซื้อของข้างล่าง ซึ่งก็เป็นทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี เพราะการเอาเงินไปเติมให้เขานั้น ถ้าแบบชั่วคราวก็เป็นไปได้ แต่ถ้าระยะยาว ก็เป็นปัญหากับเรื่องการเงินการคลังของรัฐบาลพอสมควร ซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือทำให้เขามีรายได้ขึ้นมา
“ถ้าทำชั่วคราวมันก็ดี เหมือนสมัยหม่อมคึกฤทธิ์ที่มีงบเงินผัน ก็เพื่อให้กำลังซื้อเกิดขึ้นมา เพราะเราดูในจีดีพี ที่จะกระตุ้นขึ้นมาอันแรกก็คือ consumption คือการบริโภค อันนี้กว่า 50% ของจีดีพี เพราะฉะนั้นถ้ากระตุ้นให้คนมีกำลังซื้อ ไปซื้อของ ของขายได้ ตรงนี้เศรษฐกิจก็จะโงหัวเลย ส่วนเรื่องการลงทุนของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน หรือการที่เอาสินค้าท้องถิ่นหรือของประเทศไปขาย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
“เพราะฉะนั้นโจทย์อยู่ที่ว่าทำอย่างไรกำลังซื้อของข้างล่างจะดีขึ้น เพราะขณะนี้ย่ำแย่ ราคาพืชไร่ก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไร ราคาข้าวซึ่งเป็นเรื่องเมนของเรื่องเกษตรของเราก็ยังไม่ค่อยขยับเท่าไร หอมมะลิอาจจะดีหน่อย หมื่นกว่า แต่ข้าวธรรมดาที่ชาวบ้านปลูกกัน แค่ 6-7 พัน 7-8 พัน ถือว่ายังต่ำอยู่ เมื่อขายพืชไร่ไม่ได้ราคา กำลังซื้อเขาก็ไม่ดี ขณะเดียวกันทางโมเดิร์นเทรดซึ่งเราไปกั้นเขาไม่ได้ เขาก็ค้าขาย เขาก็แย่งในส่วนของพ่อค้าแม่ค้าคนไทยรายเล็กๆ ไป ก็เป็นเรื่องการแข่งขันที่เป็นเสรี ซึ่งเราก็คงไปว่าอะไรเขาไม่ได้”
จิตร์ สรุปว่าเศรษฐกิจภายในประเทศตอนนี้มีคนจนอยู่เยอะ และการที่จะทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นโจทย์ที่ยังแก้ไม่ได้ ส่วนแนวคิดเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ก็ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา
“อย่าลืมว่า ถ้า 400 กว่าขึ้นไป ของมันก็ขึ้นอีก กำลังซื้อในทางเศรษฐศาสตร์ เขามี real weight กับ money weight ตัว money weight คือราคาที่อยู่ในธนบัตร สมมติ 100 บาท แต่ถ้าไปเทียบกับปีฐาน อาจจะ 10 ปีที่แล้ว อาจจะเหลือแค่ 20 เพราะของมันขึ้นราคาไป ลักษณะนี้ถ้าค่าแรงปรับขึ้น ของต่างๆ มันก็จะปรับขึ้นตามไปด้วยเป็นอัตโนมัติ
เหมือนกับ money weight ที่เราได้ตามหน้าธนบัตร อาจจะได้ 100 บาท แต่จริงๆ แล้วมันเหลือ 20 เอง ค่าของเงินที่แท้จริงมันก็ไม่ได้ขึ้นตามสิ่งที่เราได้ ค่าแรงอาจจะได้ 400 หรือ 400 กว่าบาท แต่จริงๆ ก็เหมือนไม่ได้ขึ้นอะไร เพราะมันมีเงินเฟ้อตามมาด้วย จะต้องบวกเข้าไปในนั้นด้วย”
จิตร์บอกว่า การรายงานเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจจะต้องมี 2 ส่วน ส่วนแรก คือเรื่อง Fact ตัวเลขต่างๆ ที่ได้มา ซึ่งตัวเลข consumption ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสถาบันอื่นๆ ได้มานั้น ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วคอนเวิร์สกลับมาเป็นกำลังซื้อ ถ้า VAT ขึ้น เขาก็บอกว่าคนใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะเป็นเรื่องของการขายรถคันหนึ่งซึ่งราคาไม่รู้เท่าไร หรือขายบ้านหลังหนึ่งซึ่งราคาไม่รู้กี่ล้านบาท
เพราะฉะนั้นตัวนี้ก็จะไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเท่าไร แต่ก็เป็นวิธีคิดที่จะได้ตัวเลขมาวิเคราะห์กันในทางเศรษฐกิจ แต่อีกส่วนหนึ่ง คือการที่เราสอบถามจากประธานหอการค้าจังหวัด ประธานกลุ่มจังหวัด คือเรื่องของ Feeling ความรู้สึกเป็นอย่างไร พ่อค้าแม่ค้าทั้งที่เป็นสมาชิกหอการค้าและไม่ได้เป็นสมาชิก ต่างก็บ่นกันแทบทุกคนว่าเศรษฐกิจไม่ดี
“ถาม 10 คน บ่น 9 คน เพราะฉะนั้นเมื่อเราสอบถามเรื่อง Feeling คนจะมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี โดยเฉพาะในภูมิภาค ของมันขายไม่ได้ ซึ่งมันอาจจะไปขายในโมเดิร์นเทรดก็ได้ ส่วนออนไลน์ เราจับต้องไม่ได้ มันเช็กไม่ได้ว่าตัวออนไลน์มันได้เท่าไรกันแน่ เพราะการเข้าไปดูในส่วนของ Big Data ในเรื่องของออนไลน์ เรายังตามไปดูลำบาก ไม่เหมือนกับจีนที่เขาดูได้ครบถ้วนหมด เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ว่าขายดีหรือไม่ดี”
หากจะใช้นโยบาย”ประชานิยม”มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก จิตร์ก็เป็นห่วงว่าการใช้ประชานิยมมากจนเกินไป ตัวอย่างที่เห็นก็คือประเทศเวเนซุเอล่า เพราะคนชอบประชานิยม ที่ให้สวัสดิการต่างๆ แต่จะเป็นภาระการคลังของรัฐบาล ทำให้ปิดหีบไม่ลง ต้องกู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งก็ต้องล่มสลาย
เพราะฉะนั้นการแก้ไขต้องไปแก้ที่ต้นเหตุจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ระหว่างนั้นอาจมีเรื่องที่จะต้องใช้เร่งด่วน เพราะเราจะแก้ปัญหาวันนี้ ให้เกิดผลพรุ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจจะต้องมีโครงการ หรือสิ่งที่เหมือนกับ shortcut เอาเงินไปช่วยเขาก่อน
“แต่ถ้าช่วยบ่อยๆ จนเสพติดก็เป็นปัญหา แล้วเลิกไม่ได้ เลิกก็เดินขบวนอีก ปิดถนนเรียกร้องอีก ก็จะเป็นภาระต่อไปไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าก็ตาม ตรงนี้มันต้องคิดในลักษณะบาลานซ์ มีความพอดี ไม่ใช้เลยก็คงไม่ได้ ใช้มากมันก็เป็นพิษเป็นภัยเหมือนกัน
ถ้าไม่ประชานิยม คนเดือดร้อนมากๆ แล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ มันก็เกิดม็อบ เพราะเขาไม่มีจะกินหรือรายได้เขาไม่มี มันก็ต้องช่วยตรงนี้ในลักษณะชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่ก็ต้องได้รับการแก้อย่างถูกต้อง คือไม่ใช่ไปแก้โจทย์ที่ผิด”
“เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่มีความท้าทายตรงที่ว่าจะบาลานซ์ตรงนี้อย่างไร จะแก้อย่างไรกับโจทย์ที่มีอยู่ ตอนนี้มีโจทย์เพิ่มภายนอกประเทศเข้ามาอีก ปัญหานอกประเทศเรื่องการค้าโลกที่กำลังทรุดตัวลง ก็เจอกันทุกประเทศที่กำลังพัฒนาฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ก็เจอปัญหาเหมือนเรา เพียงแต่เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร แล้วยังมีเทรดวอร์ระหว่างอเมริกากับจีน ก็จะทำให้การค้าโลกทรุดตัวลง ล่าสุดเทรดวอร์ก็ขยายไปยังอเมริกากับยุโรปต่อ”
ส่วนบทบาทของฝ่ายค้าน จิตร์บอกว่า ต้องคิดว่าบริบทในขณะนี้ต่างจากในอดีต เพราะในอดีต เศรษฐกิจไม่ได้แย่เหมือนขณะนี้ เพราะฉะนั้นจะเปลี่ยนสภาเป็นสนามรบก็ไม่เป็นไร ก็ทะเลาะกันไปในสภา แต่ตอนนี้ภาวะการณ์ไม่ดีจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นประเทศพัง สำหรับการตรวจสอบก็ขอให้ตรวจสอบในเรื่องที่เป็นปัญหาเร่งด่วน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“มันไม่ควรจะไปหาเรื่องแต่งตัว มันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของประเทศ มันรอได้ ปัญหาใหญ่อย่างปัญหาเศรษฐกิจจะแก้อย่างไร หรือนโยบายพรรคของเขาที่ไปหาเสียงมาจะบูรณาการอย่างไร แล้วเสนอรัฐบาลแล้วทำให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น
เงินในมือชาวไร่ชาวนาดีขึ้น โอ้โหถ้าเขาทำงานกันอย่างนี้ ผมยกมือไหว้ไม่รู้กี่รอบ เพียงแต่ตอนนี้มาเอาเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วน หรือในกรณีที่การตรวจสอบนโยบาย หลังรัฐบาลแถลงนโยบายแล้ว ฝ่ายค้านจะตั้งต้นให้เวลากี่เดือน 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน มีอะไรเป็นรูปธรรมมั้ย ถ้าไม่มี เราจะออกมาถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือเรื่องคอร์รัปชั่นมีอะไรสงสัย ก็ตรวจสอบให้สะบั้นหั่นแหลกไปเลย
แต่ขอร้องอย่าสร้างหลักฐานเท็จแล้วแกล้งกัน กว่าจะสืบได้ว่าเป็นหลักฐานเท็จ กว่าจะฟ้องร้องกันมันเสียเวลา อย่าไปดิสเครดิตในลักษณะที่ไม่ใช่เรื่องจริงแล้วก็ยกขึ้นมา พวกเฟคนิวส์ต่างๆ ไม่ใช่เขาบอก เขาเล่าว่า พูดง่ายๆ ถ้าจะหาเรื่องคอร์รัปชั่น ไอ้ลัทธิมั้งเนี่ยอย่ามาใช้ เขาโกงอย่างนั้นมั้ง เขาโกงอย่างนี้มั้ง มันไม่มีหลักฐาน ลัทธิมั้งเนี่ยไม่เอา แต่ถ้ามีหลักฐานชัดๆ เนี่ยเอาเลย”
จิตร์บอกว่าสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องทำ คือการสร้างกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ จะทำให้เขามีรายได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ใช้วิธีเอาเงินไปแจก ส่วนที่จะเอาเงินไปแจกเขาชั่วคราวก็ทำไปไม่ว่ากัน แต่กำลังซื้อหลักๆ ของเขาจะขึ้นมาได้อย่างไร เราเป็นเมืองเกษตร
เพราะฉะนั้นรายได้ส่วนใหญ่ของข้างล่างมาจากพืชหลักต่างๆ เช่น ข้าว ไม่ใช่เอาเรื่องรับจำนำข้าวกลับมาใหม่แต่เราจะต้องวางแผนในการปลูก ซึ่งปีนี้อาจไม่ทัน แต่ต่อไปเราจะวางแผนเรื่องนิชมาร์เก็ต วางแผนปลูกข้าวพันธุ์ที่ขายแล้วได้ราคาดี ไม่ใช่ไปบอกให้เขาเลิกปลูกข้าวแล้วไปปลูกอย่างอื่น ให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งที่เขาชำนาญเรื่องปลูกข้าว แต่เปลี่ยนเป็นพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น พันธุ์ที่ได้ราคาที่ดีขึ้น และตลาดต้องการ
ส่วนเรื่องยางพาราที่ราคาตกต่ำ ก็ต้องมี Big idea มีเมกะโปรเจกต์ลงไปภาคใต้ คิดว่าถ้าเศรษฐกิจภาคใต้ดี สถานการณ์ต่างๆ ก็จะคลี่คลาย ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนก็ต้องปรับเปลี่ยน ถ้าเราใช้วิธีเดิมๆ คือส่งเสริมการลงทุนที่ไหนก็เหมือนกันไปหมด ยกเว้น EEC ที่มีกฎหมายพิเศษ ในส่วนของภาคใต้ต้องมีเงื่อนไขที่น่าสนใจ ต้องผิดไปจากเดิมและจูงใจให้เขาไปลงทุน @