นักประชาสัมพันธ์ เสนอ 3 แคมเปญพีอาร์ “ศก.-การเมือง-สังคม” รณรงค์สร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ชี้ พล.อ.ประยุทธ์คือจุดแข็ง แต่ต้องทิ้งภาพนายทหาร สู่ผู้นำระบอบประชาธิปไตย
นางเปรมศิริ ดิลกปรีชากุล ซีอีโอ บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด กล่าวว่า หากบริษัท องค์กร หรือตัวบุคคลเกิดปัญหา งานประชาสัมพันธ์จะมีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้คืนกลับมาได้ โดยมีกระบวนการที่เรียกว่า recall confidence โดยสิ่งแรกคือคนทำงานประชาสัมพันธ์จะต้องช่วยผู้บริหารในการกำหนดกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ หรือยุทธวิธี ที่จะต้องกลับไปหาปัญหาหรือตัวตนของตัวเองว่ามีข้อบกพร่องอะไร ต้องแก้ไขที่ตรงไหน แล้วลงมือแก้ไข ก่อนที่จะสื่อสารออกไปข้างนอก ซึ่งการสร้างภาพนั้นจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ และจะยิ่งเป็นผลลบ คำว่า”ภาพลักษณ์” ของประชาสัมพันธ์จะต้องเป็นของจริง จะต้องจับต้องได้ ถึงจะสร้างความเชื่อถือ และความเชื่อมั่นได้
“การสร้างภาพจะเป็นเฟคอิมเมจ ซึ่งไม่ใช่ของจริง ก็จะยิ่งเป็นผลลบ เพราะจะกลายเป็นว่าเราสร้างความคาดหวังในทางที่คนรับสารคิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นอย่างนั้น ก็จะทำให้คนรับสารของเราผิดหวังได้ เมื่อเราปรับปรุงตัวเองแล้ว เราค่อยบอกเขาว่าเราดีขึ้นแล้ว และดีขึ้นอย่างไร ก็จะทำให้เขาเชื่อเรา”
รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีอิจเมจติดตัวมาทั้งบวกและลบ
ส่วนการใช้การประชาสัมพันธ์เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้รัฐบาลประยุทธ์ 2 นั้น นางเปรมศิริ กล่าวว่า ความจริงรัฐบาลประยุทธ์ 2 มีอิมเมจ หรือภาพที่ติดมาแล้ว ไม่ใช่เป็นรัฐบาลที่มาจากศูนย์ หรือเพิ่งมาตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งภาพลักษณ์ที่ติดมาก็มีทั้งบวกและลบ ส่วนที่เป็นลบนั้นจะเห็นได้ว่าประชาชนผิดหวังมากสำหรับรัฐบาลประยุทธ์ 1 เมื่อปีที่ผ่านมาก็คือเรื่องเศรษฐกิจ คนจะบ่นกันว่าค้าขายไม่ได้ ตลาดเงียบ การท่องเที่ยวก็เงียบ และเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่ 5 ปีไม่จบ ยังแก้ไม่ได้
ส่วนที่เกิดขึ้นใหม่คือพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่พอใจหน้าตาคณะรัฐมนตรีบ้าง ส่วนปัจจัยบวกก็คือตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งโพลล์ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นจุดแข็งของ ครม. ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะใช้บารมี ใช้อำนาจ ในการบริหารรัฐบาลประยุทธ์ 2 อย่างไร ซึ่งในเชิงประชาสัมพันธ์นั้นคิดว่ายังมีโอกาสที่จะสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้ โดยเสนอพีอาร์แคมเปญ ให้ภาครัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม รณรงค์ร่วมกัน ซึ่งจะมีคอนเซปต์และธีมในการรณรงค์เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 3 เรื่อง ดังนี้
กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน “ไทยช่วยไทย”
1. เรื่องเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ อาจมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โครงการใหญ่ที่ลงไปเป็นแสนล้านบาทนั้นยังไม่เกิดผล และแคมเปญที่เคยทำก่อนหน้านี้คือสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เป็นประชานิยมที่แป้ก ไม่สามารถที่จะสร้างกระแส หรือการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นโดยรวม แต่กระจุกตัวในกลุ่มหนึ่งแล้วหายไป วันนี้ เราต้องกลับมามองตัวเอง ทำอย่างไรให้ไทยช่วยไทย ไทยเที่ยวไทย ไทยทำไทยใช้ไทยเจริญ ต้องกระตุ้นภายใน
“แคมเปญอาจดูโบราณ แต่เป็นการกระตุ้นการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย อย่าไปแป้กกับสวัสดิการ เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว ให้เขาแล้วก็จบ และยังเป็นแค่คนกลุ่มเดียว แต่แคมเปญนี้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ สามารถทำการขับเคลื่อนได้ทั้งหมด เราต้องเรียกคืนความสุขของคนไทยกลับมา ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องร่วมมือกัน ถ้าปากท้องประชาชนอิ่ม ความเชื่อมั่นก็จะกลับมา” นางเปรมศิริ กล่าว
และในการรณรงค์เรื่องนี้จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจ ไม่ใช่ให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างเดียว แต่ให้ทุกคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ที่สำคัญที่สุดคืออย่าเก็บงานไว้ที่กระทรวง ต้องปล่อยให้ภาคประชาชน อบต. อบจ. เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
นายกฯ ต้องทิ้งภาพผู้นำทหาร มาเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย
2. เรื่องการเมือง สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งประยุทธ์ 1 และประยุทธ์ 2 ต่างกันในด้านที่มา ตอนนี้เป็นนายกฯ ที่เป็นตัวแทนระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญที่สุดคือนายกฯ ต้องทิ้งภาพนายทหาร ซึ่งก็เห็นท่านพยายามทำอยู่ ต้องลดความขึงขังลง มาเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ใจกว้างๆ ใจร่มๆ อย่ามองว่าคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคือศัตรู การคิดต่างเป็นข้อดี เราต้องส่งเสริมให้คิดต่างแต่สร้างสรรค์
นางเปรมศิริ กล่าวว่า วันนี้ คนไทยอยากได้ผู้นำที่มีความยุติธรรม มาตรฐานเดียว ทำงานพื่อประชาชน ไม่ใช่ตัวแทนเพื่อนพ้องน้องพี่ ถ้ารัฐบาลประยุทธ์ 2 มีจุดยืนตรงนี้ นายกฯ ก็จะกลายเป็นวีรบุรุษของคนไทย ในทางการเมืองอาจอยากได้ความสงบ ตอนนี้เราเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ความสงบอยู่ได้ ซึ่งต้องสอนให้คนไทยเข้าใจความแตกต่างทางความคิด ไม่ใช่เสนอความคิดแตกต่างกันต้องเป็นศัตรูกัน จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามีความชัดเจนว่า มีคนกลุ่มใหญ่ที่โหยหาผู้นำแบบนี้ ซึ่งสังคมไทยยังไม่มี
“อยากให้ท่านท่องคำว่า “ใจกว้างๆ ใจร่มๆ” จะทำให้บุคลิกท่านเปลี่ยนได้ ต้องทิ้งภาพนายทหาร มาเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย พยายามประสานความแตกต่างให้เกิดความร่วมแรงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน วันนี้ยังมีการตั้งป้อมกัน แต่ถ้าผู้นำพยายามทำตัวเป็นแบบอย่าง แม้จะทำไม่ได้ แต่จะมีคนส่วนหนึ่งที่เห็นว่าท่านมีความพยายามจะทำให้มันเกิด ต้องใช้ปัจจัยบวกตรงนี้ ให้เป็นจุดแข็งของท่าน”
อย่าให้ผูกขาดกัญชา เกษตรกรจะเสียโอกาสลืมตาอ้าปาก
3. รณรงค์ในเชิงสังคม สามารถทำให้เยอะมาก แต่มี 2-3 เรื่องที่ทำได้เลย เช่น เรื่องคอร์รัปชั่น ทำเป็นวาระแห่งชาติได้เลย แต่ทำแล้วอย่าสร้างภาพ ทำแล้วต้องเกิดขึ้นได้จริง
เรื่องสังคมสูงวัย ที่ตอนนี้ไม่ได้รุกรานแค่ระดับชนชั้นกลาง แต่ลงไปถึงเกษตรกรชาวนา กลุ่มคนที่ทำอาชีพเกษตรเป็นกลุ่มบุคคลผู้สูงวัยอายุ 60 กว่าปีแล้วไม่มีคนทำต่อ เพราะลูกหลานไม่อยากทำเกษตรแล้ว เพราะฉะนั้นวิกฤตโครงสร้างสังคมเกษตรไทยจะเป็นอย่างไร และโครงสร้างอื่นๆ จะเป็นอย่างไร การขาดแคลนบุคลากรและการพัฒนาบุคลากรจะเป็นอย่างไร
เรื่องกัญชา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เรากำลังติดหล่มนายทุนไทยกับต่างชาติ ที่ร่วมมือกันเพื่อจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องผูกขาด ประเทศไทยมีพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดในโลก และกัญชามีผลผลิตต่อหน่วยกับรายได้ผลผลิตต่อหน่วยสูงกว่าการทำพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ดังนั้นอย่าพยายามให้มีการผูกขาดในส่วนนี้ เพราะจะทำให้เสียโอกาสให้เกษตรกรเราจะลืมตาอ้าปากได้
“ไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกกัญชาที่ดีที่สุด แล้วทั่วโลกยอมรับว่ากัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ในการรักษา เช่น โรคมะเร็ง รายได้กัญชาสูงกว่าข้าวเป็น 10 เท่า และรับซื้อกันทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลต้องเดินนโยบายดีๆ และการให้ความรู้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องการผลิต กระบวนการสกัด กระบวนการในการรักษา รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมในแต่ละจุดได้ แต่สำคัญที่สุดคืออย่าปล่อยให้มีการผูกขาด” นางเปรมศิริ กล่าว
การใช้หลักการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาลนั้นทำได้ คือ ต้องทำการสื่อสารให้ชัดเจน โดยทำทีละแคมเปญ ธีมจะต้องชัดเจน ต้องทำอย่างจริงจัง และสามารถจับต้องได้ ก็จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นได้ว่านายกรัฐมนตรีเอาจริง ซึ่งภาพดีๆ ของนายกรัฐมนตรีมีอยู่เยอะ ต้องส่งออกมาให้ประชาชนเห็น โดยเฉพาะความเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย @