ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และรายการลับคมธุรกิจ มิติข่าว 90.5 จัดเสวนา SME D Talk ครั้งที่ 2 “Story Telling สร้างแบรนด์ด้วยเรื่องเล่า”
โดยเรียนเชิญวิทยากรที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจมาถ่ายทอดวิธีคิด และกลยุทธ์ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ ในการทำการตลาด ด้วยกลยุทธ์ Story Telling เป็นวิทยากร TED Talk ได้แก่ ผศ.ดร.พัลลภา ปีติสันต์ นักวิชาการด้านการตลาด วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล หัวข้อ “เทคนิคการเล่าเรื่อง และการสร้างเรื่องเล่า สำหรับการตลาดยุคดิจิตอล” คุณธีรวัฒน์ วิไลรัตน์ CEO บริษัทไร่สายชล 101 จำกัด บริษัท Superfood Thailand หัวข้อ “กว่าจะเป็นแบรนด์ ต้องมีเรื่องเล่า”
รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะกรรมการพัฒนาสังคม และคณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน หอการค้าไทย หัวข้อ “อยากสร้างแบรนด์ดัง เรื่องเล่าต้องปัง” และคุณวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานและเป็นวิทยากร หัวข้อ “SME Development Bank สนับสนุนเอสเอ็มอีไทย เข้าถึงความรู้คู่เงินทุน ได้ทุกที่ทุกเวลา” ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561
การเล่าเรื่อง หรือว่าเรื่องเล่า (Story Telling) เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุค 4.0 ประกอบกับในโลกออนไลน์มีสื่อหลากหลายช่องทางเพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงสินค้าและความแตกต่างของสินค้าต่างๆ ได้โดยง่าย ถ้าเล่าเรื่องได้ถูกจังหวะและโอกาส ย่อมช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นี่คือเคล็ดลับดีๆ ในการสร้างแบรนด์ด้วยเรื่องเล่าให้ลูกค้าจดจำ และกระตุ้นยอดขายให้เอสเอ็มอีไทยไฟแรง
นายวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานเสวนา SME D Talk ครั้งที่ 2 “Story Telling สร้างแบรนด์ด้วยเรื่องเล่า” และเป็นวิทยากร TED Talk : หัวข้อ “SME Development Bank สนับสนุนเอสเอ็มอีไทย เข้าถึงความรู้คู่เงินทุน ได้ทุกที่ทุกเวลา” ว่า ธนาคารยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยอย่างเหมาะสม ผ่านการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” ลงพื้นที่ให้บริการแก่ SMEs ทั่วถึงทั้งประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องขยายสาขาเพิ่ม ควบคู่กับใช้ระบบแพลตฟอร์ม SME D Bank ซึ่งเป็นมิติใหม่บริการยุคดิจิทัล ช่วยให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งผ่านแอปพลิเคชันสนองความต้องการเอสเอ็มอี ให้ความรู้คู่เงินทุน ได้ทุกที ทุกเวลา จะเป็นของขวัญสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยเพิ่มศักยภาพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน”
ด้าน ผศ.ดร.พัลลภา ปีติสันต์ นักวิชาการด้านการตลาด วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล กล่าวถึง “เทคนิคการเล่าเรื่อง และการสร้างเรื่องเล่า สำหรับการตลาดยุคดิจิตอล” ว่า ลักษณะของเรื่องเล่าสำหรับการทำตลาดออนไลน์ ได้แก่ เรื่องของประวัติ เรื่องของกระบวนการผลิต เรื่องของคุณประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากแบรนด์ของเรา และการเลือกวิธีการเล่าก็มีหลายแบบเช่นกัน จะทั้งเล่าผ่านรูปภาพ ผ่านวิดีโอ ผ่านไฟล์ภาพ ไฟล์ GIF ทำให้ลูกค้าอิน สามารถผูกใจ (Engage) กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายด้วยเรื่องราวที่เล่า เช่น คอมเมนต์ ไลค์ แชร์ จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ เพราะการทำตลาดบนสื่อออนไลน์ที่ได้ผลดีขึ้นอยู่กับเทคนิคการเล่าเรื่อง เราจะเลือกใช้วิธีอย่างไรซึ่งวิธีการเล่าเรื่องนั้นก็มีหลากหลาย เช่น การเล่าเรื่องจริงจากประสบการณ์จริงย่อมตอบโจทย์และแก้ปัญหาตรงใจได้ ทำให้ลูกค้าจดจำได้ และมีความรู้สึกผูกพันกับแบรนด์ของเราเป็นอันดับแรก”
ขณะเดียวกัน รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะกรรมการพัฒนาสังคม และคณะอนุกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน หอการค้าไทย กล่าวถึง “อยากสร้างแบรนด์ดัง เรื่องเล่าต้องปัง” ว่า พลังของเรื่องเล่าจะทำให้แบรนด์ดัง และมีคนติดตามแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เรื่องเล่านั้นต้องมีมิติและชวนให้ลูกค้ามีความรู้สึกร่วมไปกับแบรนด์
อย่างเช่น การเล่าเรื่องแบรนด์สินค้า เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญ (Basic) ที่เจ้าของแบรนด์ต้องนำเสนอลูกค้าว่าของเราดีอย่างไร มีสรรพคุณอย่างไรบ้าง แตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร กระตุ้นให้สร้างความน่าเชื่อถือให้ได้ แล้วลูกค้าก็จะอินกับเรื่องราวของคุณ จนนำมาสู่การสั่งซื้อสินค้า ส่วนการเล่าเรื่องของผู้ประกอบการนั้นเริ่มจากการที่เรานำเสนอตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ มีที่ไปที่มาอย่างไร หากเอสเอ็มอีสามารถเล่าเรื่องราวของสินค้าได้ก็จะส่งผลให้สินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้นเหมือนมีแฟนคลับคอยติดตามแบรนด์”
กว่าจะมาเป็น “นวัตกรรมหน่อไม้ฝรั่งผง”
นายธีรวัฒน์ วิไลรัตน์ CEO บริษัทไร่สายชล 101 จำกัด บริษัท Superfood Thailand กล่าวถึงเคล็ดลับ “กว่าจะเป็นแบรนด์ ต้องมีเรื่องเล่า” แรกเริ่มคลุกคลีอยู่กับการเกษตรมาประมาณ10 ปี การทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร วันหนึ่งไปรู้จักกับชาวญี่ปุ่นที่สนใจจะปลูกพืชส่งออกไปประเทศเขา
เมื่อสิบกว่าปีก่อนการปลูกพืชปลอดภัยแทบจะไม่มีใครรู้จัก ต้องเรียนรู้มาตรฐานการควบคุมสารพิษ และมาตรฐานเกษตรโลก ซึ่งมีประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันต้องใช้มาตรฐานเหล่านี้ ต้องการส่งเสริมให้เกษตรไทยปลูกผักบางอย่างรวมถึงหน่อไม้ฝรั่งด้วย เขาจะมีห้องเย็นมาตั้งไว้ในหมู่บ้านที่ปลูกเพื่อรับซื้อของทุกวัน
ผมไปคลุกคลีราวสามปีเพื่อศึกษาเงื่อนไขการส่งออกพืชผักปลอดสาร ผมเป็นคนศึกษาและให้ความรู้เรื่องมาตรฐานเกษตรปลอดภัย G A P เป็นรายแรกของประเทศ โครงการนี้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และมีหลายภาคส่วน มาถึงช่วงหนึ่งที่มีผักล้นตลาด ผมก็เข้าไปมีส่วนส่งเสริมเรื่องการแปรรูป ทำไมถึงเลือกทำหน่อไม้ฝรั่งผงฯ ราคาค่อนข้างจะแพง เพราะมีการตื่นตัวในการบริโภคหน่อยไม้ฝรั่งซึ่งเป็นพืชเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ประกอบกับเป็นพืชที่ปลูกยาก จากแรกๆ การกินหน่อไม้ฝรั่งเริ่มต้นที่ขีดละ 30 บาทไปถึงตันละ 3 หมื่น ณ ปัจจุบัน ตันละ 2 แสนบาท”
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จเอสเอ็มอีในการประกอบธุรกิจและสามารถขยายตลาดออกไปต่างประเทศได้ ต้องสร้างจุดเด่นของสินค้า และความแปลกใหม่ของสินค้าที่คิดค้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
“เรามีพืชผักส่งออก ตั้งแต่ส้มโอ หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลี่ อะโวคาโด้ อาติโชค ล้วนเป็นพืชที่ต่างชาติรับประทานเป็นพืชเพื่อสุขภาพ แต่คนไทยยังไม่รู้จัก รวมถึงพืชผักไฮโดรโปรนิกส์ พอถึงวันหนึ่งเริ่มมีการล้นตลาด ก็ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อคิดค้นจะเอามาแปรรูปได้อย่างไรบ้าง เลือกพืชอยู่หลายตัวสุดท้ายมาจบที่หน่อไม้ฝรั่ง
เพราะทำแล้วประสบความสำเร็จ ประเทศไทยเราเป็นรายที่สองต่อจากญี่ปุ่น เพราะข้อจำกัดเรื่องแหล่งปลูก เพราะมีการตื่นตัวเรื่องการรับประทานหน่อไม้ฝรั่งเพื่อสุขภาพทั่วโลก จึงทำให้ราคาหน่อไม้มีราคาสูง เพราะข้อจำกัดเรื่องแหล่งปลูกและเป็นพืชที่ค่อนข้างจะปลูกยาก
งานวิจัยจากญี่ปุ่นบอกว่า หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่ต้านชราก่อนวัยได้ ทำให้หลายประเทศเริ่มสนใจผลิตส่งออก เช่น ไต้หวัน มีน้ำหน่อไม้ฝรั่ง มหาวิทยาลัยแพทย์ ฮาวเวิร์ด เมดิคัล ในสหรัฐยังได้ประกาศว่า หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชอันทรงคุณค่าประจำปี 2018 และเป็นพืชอันทรงคุณค่าประจำโลกด้วย
และยังประกาศให้ประชาชนอเมริกันรับประทานหน่อไม้ฝรั่งเพื่อความแข็งแรงเพราะประโยชน์ของหน่อไม้ฝรั่งถูกจัดให้เป็นเบอร์หนึ่งของโลกทีเดียว ตั้งแต่เรื่องผิว สมอง รวมไปถึงต้านความชรา รักษาโรคเบาหวาน รักษาโรคหัวใจ ทั้งหมดคืองานวิจัยในเชิงการแพทย์โดยให้ผู้ป่วยบริโภคหน่อไม้ฝรั่งเป็นประจำและต่อเนื่องได้”
ทั้งหมดนี้คุณธีรวัฒน์ ได้ศึกษาและค้นพบเรื่องราวหน่อไม้ฝรั่งที่ต้องร้องว้าว มองเห็นว่าธุรกิจตัวเริ่มเป็นไปได้ นอกจากนี้หน่อไม้ฝรั่งยังเป็นพืชที่ต้องการการดูแลใส่ใจสูง จึงทำให้มีราคาสูง จากนั้นได้ลงลึกถึงการทำเพื่อขาย เล็งเห็นในส่วนหน่อไม้ฝรั่งที่มันล้นตลาดสามารถนำไปสู่การแปรรูปทำอย่างอื่นได้ จนนำไปสู่การทำหน่อไม้ฝรั่งผง ภายใต้แบรนด์ U Smile เริ่มจากเอาไปให้แม่กินทุกวัน แต่ก็เกิดไอเดียในที่สุดนำไปอบในเครื่องฝาลมร้อน พอแห้งก็เอาไปปั่นในเครื่องปั่นน้ำผลไม้จนได้เป็นผงขึ้นมา
เพราะ Storytelling จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก และอินไปกับแบรนด์มากกว่าการให้ข้อมูลแบรนด์สินค้าแบบทั่วไป “และความพิเศษไม่เหมือนใครของหน่อไม้ฝรั่งที่ อ.หล่มสัก ได้แหล่งน้ำที่มาจากเทือกเขาน้ำหนาว มีการไปตรวจที่ อ.หล่มสัก เป็นที่รวมแหล่งน้ำจากป่าเขา ไม่มีสารเจือปนไหลมารวมที่หล่มสัก
เวลาหน้าหนาวน้ำจะใสเป็นสีฟ้า จะมีแมกนีเซียมและสังกะสีเยอะ เป็นธาตุอาหารสำหรับพืชผักสีเขียว จะทำให้อร่อยและฉ่ำ ได้ความสด ใหม่และสารอาหารครบถ้วน ไม่เหมือนกับผักที่อื่นๆ คนญี่ปุ่นพูดเป็นเสียงเดียวกันวา “หน่อไม้ฝรั่งที่เพชรบูรณ์อร่อยมาก นอกจากนี้ ต.บ้านติ้ว ต.ห้วยไร่ ชุมชนปลูกผักน้ำดุก ต.ปากดุก เป็นชุมชนที่ทำเกษตรปลอดสารฯ นำร่องของประเทศไทยอีกด้วย”
หนึ่งในสิ่งสำคัญสำหรับการเล่าเรื่อง การเล่าความจริงที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ของคุณเป็นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ แต่ที่สุดแล้วทุกอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานแห่งความเป็นจริง “ทำไมถึงเป็นแบรนด์ยูสไมล์ เราอยากให้ทุกคนมีรอยยิ้ม เพราะคนที่กินหน่อไม้ฝรั่งของเรามีความสุขและสุขภาพดี ตั้งเป้าปลูกพืชที่มีกำไรให้เกษตรกร ผมมีรายได้ คนทานมีรายได้ เกษตรกรก็มีรายได้ และทุกคนก็มีความสุขและสุขภาพดีด้วย” นายธีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย