“Moka Pot” เป็นเครื่องชง/หม้อต้มกาแฟระดับคลาสสิคที่วัสดุทำจากอะลูมิเนียมซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คอกาแฟที่หลงใหลกาแฟอันเข้มข้นทั้งรสชาติและกลิ่น ดั้งเดิมนั้นถูกออกแบบมาให้ใช้กับเตาแก๊ส
ต่อมาพัฒนากลายเป็นหม้อต้มไฟฟ้า เสียบปลั๊กปุ๊บก็ใช้ได้เลย แบรนด์กาแฟซึ่งเป็นผู้ผลิต “Moka Pot” เจ้าแรก และยังคงเป็นเจ้าตลาดมานานกว่า 80 ปี ก็คือ Bialetti นั่นเอง
หลักการเบื้องต้นของหม้อต้มกาแฟรูปทรงแปดเหลี่ยมของ Bialetti ที่เห็นกันมาไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือ การใช้แรงดันไอน้ำพุ่งผ่านผงกาแฟบด อ่านดูแล้วคล้ายๆกับวิธีการทำ “เอสเพรสโซ่” เลยใช่ไหมครับ แต่ “Moka Pot” นั้น แรงดันน้ำจะพุ่งจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน ซึ่งตรงข้ามกับขั้นตอนการชงเอสเพรสโซ่
ผู้ที่คิดค้น “Moka Pot” ใบแรกของโลก เป็นชาวอิตาลี ชื่อ “อัลฟองโซ บิอาเล็ตติ” (Alfonso Bialetti) ในปี ค.ศ.1933 วิศวกรผู้มีประสบการณ์การทำงานในโรงงานอะลูมิเนียมของฝรั่งเศสมานนับสิบปี
จนก่อตั้งบริษัท Alfonso Bialetti & C. Fonderia เมื่อปี ค.ศ. 1919 ก่อนรวมกิจการเข้ากับบริษัท Rondine Italia ในปี ค.ศ. 1993 สร้างอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ซึ่งเครื่องหมายการค้าเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง “Bialetti Industries”
บิอาเล็ตติ ตั้งชื่อ “Moka Pot” ตามชื่อเมือง “Mocha” ซึ่งเป็นเมืองท่าส่งออกเมล็ดกาแฟอาราบิก้าที่สำคัญในอดีตของประเทศเยเมนว่ากันว่า บิอาเล็ตติ ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องซักผ้าที่ภรรยาใช้อยู่ จึงดัดแปลงกลไกลการทำงานเครื่องซักผ้าไปประยุกต์ใช้เป็นหม้อต้มกาแฟ
แล้วนำแบบไปให้ ลุยจิ ดิ ปอนติ (Luigi De Ponti) ช่วยพัฒนาต่อยอดอย่างไรก็ตาม ก็มีข้อมูลอีกด้านว่า บิอาเล็ตติ ไม่ได้ประดิษฐ์ Moka pot แต่เป็นผู้ซื้อสิทธิบัตรการผลิตมาจาก ดิ ปอนติ ….
ไม่ว่าใครจะเป็นผู้คิดค้นคนแรก ทว่านับแต่หม้อต้มกาแฟชนิดนี้เกิดขึ้นมาก็มีการเรียกขานกันหลายชื่อ ตั้งแต่ “Moka” “Moka pot” และ “Bialetti” ไปจนถึงหม้อต้มกาแฟแบบตั้งเตา Stovetop หรือ Percolator
บางคนก็ใช้ว่า Stovetop espresso แม้ในอิตาลี ก็มีหลายชื่อเรียกเช่นกัน เช่น ” la Moka” “la macchinetta” (เครื่องชงขนาดเล็ก) และ ” la caffettiera” (หม้อต้มกาแฟขนาดเล็ก)
อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษของ Bialetti เอง ได้ใช้คำว่า Stovetop เป็นเมนูเลือกชมซื้อหม้อต้มกาแฟตระกูล Moka pot ต่างๆ เช่น Moka Express และ Brikka
ปัจจุบัน “Moka Pot” ยังคงถูกผลิตในรูปแบบโมเดลเดียวกันแต่ต่างดีไซน์ไปบ้าง ภายใต้ชื่อ “Moka Express” ขณะที่ธุรกิจหลักของ Bialetti นอกจากมุ่งเน้นไปที่อุปกรณ์ชงกาแฟแบบครบวงจรแล้ว ยังแตกไลน์เข้าสู่ตลาดเครื่องครัวด้วย
นับจากทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา “Moka Pot” รุ่น “Moka Express” ที่ผมชอบเรียกตามรสชาติอันเข้มขลังของกาแฟว่า “หม้อต้มเอสเพรสโซ” ก็กลายเป็น “ไอคอน” สัญลักษณ์ของแบรนด์ธุรกิจกาแฟครอบครัว
Bialetti ถูกเพิ่มไซส์ขยายขนาดตั้งแต่สำหรับเสิร์ฟ 1 ถ้วย (ประมาณ 1 ออนซ์) ไปจนถึง 12 ถ้วย เรียกว่าได้ดื่มกันเป็นกลุ่มใหญ่กันเลยทีเดียว ขณะที่รุ่นต้นแบบดั้งเดิมและรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงทำจากอะลูมิเนียม พร้อมด้ามจับพลาสติกสีดำทนความร้อน
ในชั่วเวลาไม่นานนัก หม้อต้มกาแฟที่ออกแบบได้อย่างคลาสสิคซึ่งแทบจะมีกันทุกบ้านในอิตาลี ก็แพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีใช้กันมากที่สุดในยุโรปและละตินอเมริกา
จนถึงกับกลายเป็นหนึ่งใน “สัญลักษณ์แห่งการออกแบบ” ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมศิลปะและการออกแบบสมัยใหม่ชั้นนำของโลกหลายแห่ง ว่ากันว่า แบบพิมพ์เขียว ของรุ่น “Moka Express” จัดแสดงเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ London Design Museum ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โหมโรงประวัติความเป็นมาพอสมควรแล้ว มาพูดถึงองค์ประกอบของหม้อต้มรุ่นคลาสสิค “Moka Express” กันบ้าง แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.ส่วนที่เป็นหม้อต้มด้านล่างเอาไว้ใส่น้ำเพื่อต้มด้วยความร้อน เติมน้ำให้พอดีกับระดับตุ่มวาล์วหรือต่ำกว่านิดหน่อย 2. ส่วนตรงกลางเป็นกรวยเอาไว้ใส่ผงกาแฟบด จะมีท่อยาวอยู่ตรงกลาง เพื่อให้น้ำเดือดพุ่งขึ้นผ่านผงกาแฟบด และ 3. ด้านบนสุดของหม้อมีฝาปิด ตรงกลางมีท่อยาวขนาดเล็ก ที่ปลายท่อด้านบนจะมีช่องเล็กๆ ให้น้ำกาแฟร้อนไหลออกมา
เคล็ดลับ : ให้ใช้ผงกาแฟบดที่มีความละเอียดน้อยกว่าเครื่องชงเอสเพรสโซ่ เพราะถ้าใช้กาแฟบดละเอียดมากไป น้ำกาแฟจะไหลออกมาช้าตามมาด้วยกาแฟมีกลิ่นไหม้
หากใช้ผงกาแฟบดหยาบ รสชาติจะคลายเข้มลง ใช้น้ำร้อนที่ยังไม่เดือดช่วยลดเวลาในการต้มและเมื่อน้ำกาแฟร้อนเริ่มพ่นออกมาเหมือนท่อแตกให้รีบยกลงจากเตา
ถ้าต้มนานไปหรือใช้ไฟแรงจัด อาจได้กลิ่นกาแฟไหม้มากขึ้น ดังนั้น การควบคุมระดับความแรงของไฟให้พอดี เป็นสิ่งสำคัญในการดึงกาแฟออกมาได้พอเหมาะพอเจาะทั้งรสและกลิ่น
อุปกรณ์ต้นแบบ Moka Pot ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองแรงปรารถนาของนักชิมกาแฟทั่วโลก อาทิ หม้อต้มรุ่น “Mukka Express” สำหรับชงเป็น คาปูชิโน่ ซึ่งมีการออกแบบชื่อผลิตภัณฑ์ได้น่ารักมากๆ โดยระหว่างคำ Mukka กับ Express ทำเป็นรูป “การ์ตูนหัววัว” อยู่ในวงกลมเล็กๆ สื่อความหมายได้เป็นอย่างดีว่า เป็นเครื่องชงกาแฟที่ใช้นมเป็นส่วนผสมอย่างแน่นอน
หรือจะเป็นรุ่น “Brikka” ที่เพิ่มเติมด้วยการใส่วาล์วหัวฉีดแบบใหม่เข้าไปเพิ่มแรงดันน้ำ ทำให้ได้ “ครีมา” สีทองฟองละเอียดที่คงทนนานกว่ารุ่นดั้งเดิม ให้อารมณ์น้องๆ จิบเอสเพรสโซ ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว
อีกรุ่นหนึ่งที่เข้าใจว่ายังไม่ได้นำมาขายในเมืองไทยก็คือ “Moka Melody Italia” รุ่นนี้ติดสัญลักษณ์รูปธงสมาคมฟุตบอลอิตาลีไว้ด้านข้างของหม้อต้ม ที่พิเศษจริงๆก็คือ มีกล่องดนตรีขนาดเล็กติดไว้ตรงด้านบนสุดรูปจุกเปิด-ปิด เมื่อกาแฟในหม้อพร้อมเสิร์ฟจะมีเสียงเพลงชาติอิตาลีดังออกมาเป็นทำนองเมโลดี้ ผลิตมาเพื่อจับตลาดแฟนบอลโดยเฉพาะ
นอกเหนือวัสดุอย่างอะลูมิเนียมแล้ว ในปัจจุบัน หม้อต้ม Moka ยังถูกผลิตออกมาโดยใช้วัสดุที่ต่างออกไป เช่น สเตนเลส และอัลลอยด์ สำหรับ Bialetti นั้น รุ่นที่ผลิตจากสเตนเลส จะผลิตตัวหม้อเป็น “ทรงกลม” แทนที่ทรงแปดเหลี่ยม
“Moka Pot” เดิมทีนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นหม้อต้มกาแฟสดวางบนเตาแก๊ส ชงเองดื่มเองที่บ้าน/ออฟฟิศ หรือจะวางบนกองไฟเมื่อไปแคมปิ้งในป่าก็ย่อมได้ ขั้นตอนการชงก็ง่าย ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เหมาะกับวิถีแบบ “Slow Life” จึงมีหลายคนหลงเสน่ห์กาแฟที่ได้จากหม้อต้มคลาสสิคที่ให้รสชาติและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
มาสค็อต Bialetti เป็นรูปผู้ชายไว้หนวดชูนิ้วชี้ เหมือนกำลังสั่งเอสเพรสโซ่อีกแก้ว ในอิตาลี เรียกขานกันว่า “l’omino con i baffi” หรือ “ชายร่างเล็กผู้น่ารัก” เป็นภาพการ์ตูนล้อเลียน เรนาโต้ ลูกชาย “อัลฟองโซ บิอาเล็ตติ” ออกแบบโดย เปาโล คัมปานี นักวาดการ์ตูนชื่อดังชาวอิตาลี ในปี ค.ศ. 1953
ภาพ : www.bialetti.com/ www.facebook.com/BialettiUSA
facebook : CoffeeByBluehill