นายกเทศบาลนครยะลา แนะ ลดปลูกยางพารา เพราะไปต่อลำบาก ชู “ทุเรียน” เป็นดาวรุ่ง รวมทั้งลองกอง กาแฟ แต่ต้องทำเป็นพรีเมียม และมุ่งตลาดออร์แกนิค
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อเป็นประธานเปิดศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. รวมทั้งไปตรวจเยี่ยมโครงการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพ ที่ตลาดกลางยางพารา อ.เมือง จ.ยะลาด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การที่ผู้นำประเทศเดินทางไปเยี่ยมเยียนในพื้นที่ ชาวบ้านก็ดีใจและหวังว่าการที่ผู้นำเดินทางมาจะได้เห็นและรับฟังปัญหา รวมทั้งอาจมีข่าวดีให้พี่น้องในพื้นที่ได้รับทราบ
ความจริงยะลาเป็นเมืองแห่งผลไม้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ และสภาพพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ที่ผ่านมากลับถูกหลายสิ่งหลายอย่างกลบไปหมด อีกทั้ง จ.ยะลาไม่เคยทำการตลาดอย่างจริงจัง ไม่เคยทำแบรนด์ของตัวเอง ทำให้เราเหมือนกับถูกลืมไปเลย และถูกพ่อค้าคนกลางจากที่อื่นมาซื้อ แล้วเอาไปบอกว่ามาจากพื้นที่ของเขา จนช่วงหลังที่ยางพาราราคาตกต่ำไป และเหตุการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น ทุกฝ่ายก็เริ่มกลับมาคิดกันว่าเราน่าจะต้องมาฟื้นฟู
เมื่อดูผลผลิตมวลรวมจังหวัด จะเห็นว่าภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด และลดลงมากที่สุด โดยตัวเลขผลผลิตมวลรวมปี 2555-2559 เฉพาะภาคการเกษตรอย่างเดียว ลดไปประมาณ 14,000 ล้านบาท ในภาคที่ไม่ใช่การเกษตร ไม่ได้ลดลงมาก ใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท และเมื่อดูไซส์ จ.ยะลา ไปเทียบกับจังหวัดอื่น ที่ใกล้เคียงกัน เช่น จ.ชุมพร จะเห็นว่าผลผลิตมวลรวมจังหวัดในภาคเกษตรของชุมพร สูงถึง 37,000 ล้าน เกือบ 3 เท่าของ จ.ยะลา
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากยะลามีความอุดมสมบูรณ์มาก และผลผลิตผลไม้อร่อยมาก ทั้งส้มโชกุน ที่ราคาตอนนี้ในตลาดยะลา กิโลกรัมละ 160 บาท จะมีลักษณะเฉพาะคือจะมีความหอม ตอนนี้กำลังขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ, กล้วยหิน ก็ถือเป็นจีไอ เพราะนำไปปลูกที่ไหนจะไม่เหนียวนุ่มเหมือนปลูกที่ยะลา
ลองกองยะลา หลายคนอาจลืมไป แต่ปีนี้เรากำลังเริ่มฟื้นฟู เพราะตัวซัพพลายลองกองค่อนข้างน้อยลงเนื่องจากมีการโค่นลองกองไปปลูกยางพารา ตอนนี้เราได้เริ่มกลับมาดูลองกอง ซึ่งลองกองยะลามีความเฉพาะ มีความหวาน หอม แห้ง
ทุเรียน จะมีหลายพันธุ์ “พวงมณี” จะเป็นทุเรียนพื้นเมือง เนื้อมีสีเหลืองทอง มีความมัน เนื้อจะเนียน มีความหวาน และกลิ่นหอม ราคาในพื้นที่ในสวน กิโลกรัมละ 120 บาท นอกจากนี้ มีทุเรียนพันธุ์ “มูซานคิง” ที่ปลูกในมาเลเซีย เป็นทุเรียนที่คนจีนรู้จักมากที่สุด น่าจะรู้จักมากกว่าหมอนทองของไทย ในยะลาก็จะมีมูซานคิง ซึ่งอร่อยไม่แพ้จุดดั้งเดิมที่มาเลเซีย
และตอนนี้เริ่มมีอีกพันธุ์ ที่มาเลเซียเป็นแชมป์มา 4 ปีแล้ว ภาษาจีนเรียกว่าโอฉี่ หรือหนามดำ เนื้อจะสีส้มเหลือง เหนียว มัน เนื้อเนียน ในมาเลเซียกิโลกรัมละเกือบพันบาท ในยะลา ซื้อจากสวนกิโลกรัมละ 700 บาท
ล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับเทศบาลนครยะลา จัดประกวดทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ได้ค้นพบทุเรียนอีกพันธุ์หนึ่งที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ พูทุเรียนจะเป็นรูปหัวใจ มีความมัน เนียน เม็ดเล็กลีบ ตอนนี้กำลังรอให้ประกวดการตั้งชื่อ
กาแฟ ยะลาเริ่มปลูกกาแฟเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ตอนนั้นตลาดกาแฟหายากมาก คนยังไม่นิยมมบริโภค ชาวบ้านจึงโค่นกาแฟไปปลูกยางหมด ตอนนี้เราก็ส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ซึ่งกาแฟที่ปลูกในยะลาซึ่งเป็นพื้นที่เขา สามารถปลูกอาราบิกาได้ ในส่วนที่ต่ำกว่า 400 เมตร เราก็ปลูกโรบัสตาได้
ซึ่งคุณภาพของโรบัสตายะลา รสชาติในกลุ่มกาแฟจะถูกจัดอยู่ในบราวน์ชูการ์ จะมีความหอม นุ่ม แต่ไม่เข้มมาก เป็นกาแฟที่คุณภาพดีมาก เข้าใจว่าปลายปีนี้กาแฟจะออกสู่ตลาด ก็คงจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป รวมทั้งมีมังคุด เงาะ โดยมีเงาะพื้นเมืองเรียกว่าเจ๊ะมง
นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเกษตรกร จ.ยะลา เพิ่งตื่นตัวทั้งเรื่องงานวิชาการ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องของพันธุ์ 15 ปีที่เกิดความไม่สงบ ทำให้เราหยุดชะงักไปหมด ตอนนี้กรมวิชาการเกษตร จังหวัดยะลา เทศบาล กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมกันทำงานฟื้นฟูวิชาการต่างๆ สร้างความรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ
และสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของเกษตรกรยะลาคือความดั้งเดิมของเขา ทำให้ทุเรียนยะลาเป็นออร์แกนิคในตัว เพราะด้วยความที่ดินอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรจึงไม่ได้ใส่ปุ๋ย และงานวิชาการไม่ได้เข้ามามาก เพราะฉะนั้นวิธีปลูกของเขาก็ยังดั้งเดิม ส่วนใหญ่จึงเป็นออร์แกนิค แต่เราอาจไม่ได้ทำมาร์เก็ตติ้ง หรือประชาสัมพันธ์ในเรื่องออร์แกนิคมาก
สำหรับสินค้าเกษตรนั้นทุเรียนยังไปได้ปกติ ตอนหลังมีโรงงานจากจีนมาเปิดรับซื้อทุเรียน และมีจากซีพีที่รับซื้อผ่านโครงการปิดทองหลังพระ โดยรับซื้อทุเรียนพรีเมียม และเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีก็ไปตลาดทุเรียน ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่เข้ามารับซื้อทุเรียนหมอนทองเพื่อส่งต่อไปจีน ทำให้ราคาตลาดทุเรียนปีนี้ดีกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนที่มีปัญหาก็คือมังคุดที่ราคาอาจจะไม่ค่อยดีในปีนี้
สาเหตุที่ทำให้ปีนี้มังคุดราคาตกต่ำ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจาก 1.ปีนี้มังคุดของยะลา ออกใกล้เคียงกับมังคุดใต้ตอนบนคือ ชุมพร และนครศรีธรรมราช ทำให้ตัวซัพพลายค่อนข้างมาก 2.การขาดแคลนแรงงาน ทั้งคนเก็บมังคุด และคนคัดเกรดมังคุด ทำให้ล้งอ้างว่าเขาขาดแรงงาน ทำให้เขาซื้อได้ไม่เต็มที่ 3. เรื่องมาตรฐานจีเอพี ถ้าสวนไหนไม่ได้มาตรฐานจีเอพี จีนก็จะไม่ซื้อ
ซึ่งเรื่องจีเอพีมองได้ 2 ส่วน มองในแง่ลบก็คือการกีดกันการค้าในรูปแบบหนึ่ง แต่มองในแง่ดี ก็เป็นการพัฒนาตัวเองของเกษตรกรด้วย ถ้าเกษตรกรเริ่มคิดว่าวันนี้มีเรื่องจีเอพี เชื่อว่าอีกไม่นานก็ต้องมีเรื่องผลไม้ต้องเป็นออร์แกนิค และต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องรีบให้ข้อมูล และชี้ให้เกษตรกรได้คิดไปข้างหน้าว่า วันนี้มีเรื่องจีเอพี วันหน้าก็ต้องเป็นเรื่องออร์แกนิค ทำไมเราไม่ทำตั้งแต่วันนี้เลย วันข้างหน้าเราจะได้ไม่ประสบปัญหา
นายกเทศมนตรีนครยะลา ยังมองปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรใน จ.ยะลา ไว้ 4 ประเภท คือ 1.ยางพารา หากจะไปต่อคงลำบากแล้ว เราต้องยอมรับความจริง อย่าไปดันทุรัง ต้องทยอยลดไปเรื่อยๆ ในอดีตไม่มีปัญหายางล้นตลาด เพราะมันถูกแบ่งด้วยธรรมชาติ เช่น ภาคใต้ ภาคตะวันออก ปลูกยาง แต่ตอนหลังมีเรื่องวิศวพันธุกรรม กลายเป็นปลูกยางทั้งประเทศไทย ภาคอีสาน ภาคเหนือก็ปลูกยาง วันนี้ จึงต้องกลับมาคิดกันใหม่
2.ผลไม้ที่เป็นดาวรุ่ง ชั่วโมงนี้ไม่มีอะไรที่ร้อนแรงไปกว่าทุเรียน เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรจะต้องคิดก็คือทำอย่างไรให้เป็นพรีเมียม และเป็นออร์แกนิค โดยทำแบรนดิ้งเป็นของตัวเอง และหานิชมาร์เก็ตตัวเองให้ได้ จำนวนลูกอาจไม่ต้องเยอะ แต่ให้แต่ละลูกมีราคาสูง และอาจหาวิธีการแปรรูป หรือการขายในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
3.ลองกอง วันนี้ซัพพลายน้อยลง เพราะโค่นลองกองไปปลูกยางพารา เราก็เริ่มกลับไปส่งเสริม แต่ทำในคุณภาพที่เป็นพรีเมียม เป็นจีเอพี 4.กาแฟ เรากลับมาทำเรื่องเดิมที่เคยทำ เรามีความชำนาญอยู่แล้ว
“ตอนนี้เราก็มุ่งส่งเสริมใน 3-4 อย่าง ตั้งแต่การส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกร เรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ การทำมาร์เก็ตติ้ง หรือการทำแบรนดิ้ง เรามองไปสื่อดั้งเดิม และสื่อสมัยใหม่ พวกโซเชียลต่างๆ และเรามีเป้าที่ชัดเจน โดยมองไปในทิศทางทำเป็นออร์แกนิคทั้งจังหวัด เพราะส่วนหนึ่งนโยบายของจังหวัดและของเทศบาลพยายามเน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราพยายามบอกเกษตรกร และสร้างเกษตรกรไปในทิศทางของออร์แกนิค เพราะเชื่อว่าด้วยโลกในปัจจุบัน คนค่อนข้างตระหนักในเรื่องสุขภาพ” @
ขอบคุณภาพ Facebook : สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์/Yala ToDay ยะลา ทูเดย์/ภาพทุเรียนยะลา จากเพจ มีดีที่ยะลา