นักวิจัยที่ผันตัวเองมาเป็นนักอนุรักษ์ สร้างเพจ “ReReef” เพื่อให้ความรู้ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อธรรมชาติ เผย คนตื่นตัวใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เริ่มต้นจากการเป็นนักวิจัย ทำวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน ทำให้ต้องพูดคุยกับฝั่งผู้ผลิตเยอะ เมื่อถึงจุดหนึ่ง กรณิศ ตันอังสนากุล เจ้าของเพจ ReReef ก็อยากคุยกับผู้บริโภคมากขึ้น จึงร่วมกับเพื่อนชื่อ “เพชร” ที่เป็นนักอนุรักษ์มา 20 ปี ทำเพจชื่อ ReReef เพื่อคุยกับผู้บริโภคโดยตรง
จากการทำงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ทำให้กรณิศเห็นว่าทะเลเป็นระบบนิเวศที่เป็นแหล่งรองรับสิ่งต่างๆ จากกิจกรรมของมนุษย์ และตัวปะการังก็ค่อนข้างเปราะบาง ได้รับผลกระทบจาก climate change และกิจกรรมของมนุษย์เยอะมาก จึงนำชื่อ ReReef มาตั้งเป็นชื่อกิจการในเชิงสัญลักษณ์
โดยมองว่าถ้าปะการังไม่รอด มนุษย์ก็ไม่รอดเหมือนกัน ซึ่งปะการังนอกจากจะมองในเรื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ปะการังยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และยังทำหน้าที่ป้องกันชายฝั่ง ปะทะแรงคลื่น ทำให้คลื่นเบาลงด้วย
กรณิศ กล่าวว่า งานหลักๆ ของ ReReef อันแรกคือเพจ ที่พยายามนำงานวิจัย ข่าวต่างประเทศ หรืออัพเดตเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก มาเขียนสรุปให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งก็ค่อนข้างครึกครื้น มีคนมาแสดงความเห็นกันเยอะ
เราพยายามเสนอทางเลือก และช่วยให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติได้ง่ายขึ้น เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก ด้วยการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งถุงผ้าที่สะดวกต่อการพกพา สามารถหนีบห้อยกับกระเป๋าถือได้เพื่อกันลืม ถุงซิลิโคนสำหรับใส่อาหารที่สามารถล้างและนำกลับมาใช้ได้อีก
หลอดซิลิโคนที่ล้างและนำกลับมาใช้ได้ซ้ำ ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง เนื่องจากครีมกันแดด 70% ที่ขายในท้องตลาดทั่วไป จะทำร้ายปะการัง แต่ครีมกันแดดแบรนด์ ReReef จะใช้แร่ธาตุมาแทนสารเคมี สะท้อนยูวีกลับไป จึงเป็นมิตรกับปะการัง ซึ่งครีมกันแดดที่เป็นมิตรกับปะการังในต่างประเทศ ถ้านำเข้ามาราคาอาจถึงหลอดละพัน แต่ของ ReReef ผลิตในไทย ไม่มีค่าขนส่ง
เพราะฉะนั้นต้นทุนจะอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคซื้อได้อย่างสบายใจ ขนาด 89 กรัม ราคา 529 บาท ขนาด 40 กรัม ราคา 349 บาท ขายที่เพจ ReReef ที่เว็บไซต์ www.rereef.co และมีวางขายหน้าร้านที่ Ecotopia สยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 4 และที่ Warehouse 30 ในซอยเจริญกรุง 30
ReReef ยังมีงานอีกส่วนหนึ่งที่เป็นกึ่งภาคประชาชนสังคม คือสร้างเป็นเครือข่ายกับกลุ่มร้านกาแฟต่างๆ คล้ายกับกรีนคาเฟ่เน็ตเวิร์ค โอเชียนเฟรนด์ลี่เน็ตเวิร์ค แลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าผู้ประกอบการร้านกาแฟ ร้านอาหารจะทำเรื่องอะไรได้บ้าง ตอนนี้ก็มุ่งไปที่ขยะพลาสติกก่อน
“ถ้ากลุ่มคนเราใหญ่พอ มากพอ และแข็งแรง เราก็น่าจะขับเคลื่อนประเด็นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และกฎหมายในอนาคต เราหวังไว้อย่างนั้น จากที่ ReReef ทำมา 2 ปีกว่า เราก็เริ่มคิดว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อยๆ ที่ใหญ่ขึ้น
จากวันแรกในเพจ ก็โตขึ้นเรื่อยๆ เราไปที่ไหนก็เริ่มเห็นคนรู้สึกตื่นตัวในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้ คือ บางร้านก็งดแจกหลอด หรือใช้หลอดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือถ้าเราเอาแก้วไปเองก็จะลดราคาให้ ความปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเห็นชัดมากขึ้น” กรณิศ กล่าว
นอกจากเรื่องพลาสติกแล้ว ReReef ยังทำเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยจัดทำเสื้อเพื่อสนับสนุน “กองทุนพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง” ที่ชุมชนตรงนั้นได้ดูแลพะยูน ซึ่งความจริงมีพะยูนหลายตัวมาเกยฝั่ง ไม่ใช่แค่มาเรียมตัวเดียว ชุมชนตรงนั้นต้องดูแลพะยูนต่อไปอีกในระยะยาว
จึงจัดทำเสื้อที่ออกแบบมาสำหรับโปรเจ็กต์นี้ และร่วมกับ Moreloop ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ใช้ผ้าที่เกินจากการผลิตและเหลือค้างในสต๊อกโรงงาน ไม่ได้ใช้ผ้าที่ผลิตใหม่ จึงช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นผ้าคอตตอน 100% คุณภาพดี ราคา 500 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าเสื้อกับค่าส่งแล้ว จะนำเงินเข้า “กองทุนผู้พิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง” ทั้งหมด สามารถสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ www.rereef.co และตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. เป็นต้นไป จะมีวางขายที่ศูนย์การเรียนรู้ตาวิเศษ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
คอนเซ็ปต์ของเราคืองานอนุรักษ์ทำได้ทุกๆ วัน ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย ลองนึกดูว่าอะไรบ้างที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งรายได้จากการขายของก็ทำให้เราอยู่ได้ และเอาไปทำคอนเทนต์ในส่วนของงานอื่นๆ
แต่ที่จะทำให้เราอยู่ได้มากขึ้นก็คือ ที่ผ่านมาคนให้ความสำคัญและตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น นั่นก็แปลว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายๆ แบรนด์ จะมีตลาดที่จะใหญ่ขึ้น และผลประกอบการก็ดีขึ้นตามไปด้วย @
ภาพจาก Facebook : ReReef