ISMED สร้างต้นแบบผู้นำธุรกิจระดับจังหวัด ช่วยขับเคลื่อนแนวคิดสู่โลกยุค 4.0 นำโมเดลธุรกิจไปขยายผลให้เกิดกับชุมชน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 หรือ SMEs & OTOP Transformation ซึ่งจะสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาดได้
โดย เกศกนก แก้วกระจ่าง เจ้าของบริษัท สเก็ตเชอร์ โบ จำกัด จ.สงขลา ได้รับรางวัลชนะเลิศให้เป็นโมเดลที่ได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด จากโมเดล Travelers Souvenir AR
ขณะที่ อารีรัตน์ จัดเสือ รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริส จ.กำแพงเพชร ได้รับรางวัลโมเดลธุรกิจดีเด่น จากโมเดล นวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง ของสินค้าเครื่องนอนยางพารา
เกศกนก กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย ด้วยความคิดที่อยากให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ ได้เรียนรู้เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่เป็นของดั้งเดิม จึงอยากทำ Souvenir ที่เป็นภาพเล่าเรื่อง และให้ภาพพาเขาไปท่องเที่ยวในแหล่งวิถีชุมชนได้จริงๆ จึงเป็นที่มาของ Souvenir ตัวนี้
โดยเริ่มจากตึกเก่าเมืองหาดใหญ่ ต่อมาก็เป็นรถตุ๊กตุ๊ก และขยับไปเป็นสงขลา เป็นเกาะยอ ใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาเล่าเรื่อง เมื่อซื้อเสื้อหรือสินค้าของทางร้าน ที่สามารถเล่น AR ได้ จากนั้นก็ไปโหลดแอปพลิเคชั่น ตอนนี้ใช้ได้แต่แอนดรอย์ ส่วนไอเอสโอกำลังขออยู่ แล้วเอาแอปพลิเคชั่นมาเล่นกับภาพของสินค้าก็จะเห็นเป็นภาพ 3 มิติ และกดเข้าไปดูสตอรี่ได้ กดเข้าไปถึงกูเกิลแมพได้ ก็จะลิงก์ให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวค่อนข้างดี ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้เรา อย่าไปกลัวเทคโนโลยี
“อย่ากลัวว่าเทคโนโลยีจะทำให้เราตกงาน ตราบใดที่เรายังมีความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีจะเป็นตัวที่สร้างความสะดวกให้เรา เราจะอยู่เหนือเทคโนโลยีทั้งปวง เพราะสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้คือศิลปะที่เป็นไอเดีย เขาคิดค้นเองไม่ได้ แต่เราคิดค้นแล้วดึงเขาเข้ามาช่วย ถ้าเราทำก่อน เราอาจจะล้มก็จริง แต่เราก็เริ่มก่อน แล้วเราก็จะไปถึงจุดหมายก่อน เราทำก่อนเราได้เรียนรู้ และเราสามารถไปถึงจุดหมายได้ก่อน” เกศกนก กล่าว
ส่วนอารีรัตน์ กล่าวว่า ตอนทำงานในโรงงานที่นอนยางพาราธรรมชาติ 100% เห็นตัวโฟมยางพาราที่เกินล้นจากแม่พิมพ์ แต่คุณสมบัติเหมือนกับยางพาราที่อยู่ในแม่พิมพ์ คืนตัวได้ดี ไม่มีไรฝุ่น เหมือนสปริงธรรมชาติ เหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องนอน จึงเอาโฟมยางพารากลับไปให้แม่ดู แม่ก็เอาแกะที่นอนเอานุ่นออกแล้วใส่โฟมยางพาราเข้าไปแทน ปรากฏว่านอนแล้วสบาย จึงชวนทำขายเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
โดยตัดโฟมยางพาราให้เป็นลูกเต๋า เพื่อกระจายแรง หลักการจะเหมือนเตียงตะปูโยคี ที่มีการกระจายจุดรับน้ำหนักทั่วผืน เวลาที่นั่งหรือนอนไปบนเบาะ หรือที่นอนของ “เพียงใจไทยสปา” ก็จะไม่เกิดจุดกดเจ็บเลย เพราะมีการกระจายจุดรับน้ำหนักทั่วผืน และกดลงไปแล้วจะมีแรงต้านกลับ เหมือนการนวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง จะช่วยลดอาการออฟฟิศซินโดรมได้ สำหรับการทำธุรกิจของกลุ่มตัวเองเริ่มจากกลุ่มแม่บ้าน 4-5 คน ไม่ได้มีทุนก้อนใหญ่ และสิ่งที่ทำให้มาถึงวันนี้ได้ก็คือเรื่องทุนภูมิปัญญาสร้างสรรค์
“กลุ่มของเราเป็นกลุ่มที่เล็กมาก ทุนน้อยจริงๆ สิ่งที่ทำให้เรามาถึงวันนี้ได้คือเรื่องทุนภูมิปัญญาสร้างสรรค์ คุณแม่และทีมไม่เคยหยุดคิดที่จะพัฒนา เวลาที่เรามีไอเดียอะไรแจ้งไป เขากล้าที่จะทดลองทำ
บางคนกลัวว่าพอเป็นโลกออนไลน์ ปล่อยสินค้าไปแล้วจะมีคนมาก็อปปี้ มาเลียนแบบ แต่หลักคิดของคนเราคือสินค้าเลียนแบบได้ แต่แนวคิดวิธีคิดเลียนแบบไม่ได้” อารีรัตน์ กล่าว
สำหรับช่องทางการขายสินค้า อารีรัตน์ กล่าวว่า ขายผ่านออนไลน์ ทั้ง 24catalog ช้อปปี้ เฟซบุ๊ก ไลน์ โดยสั่งซื้อได้ทางไอดีไลน์ 0861339472 หรือเฟซบุ๊ก เพจ Pheangjai และออกบูธงานโอทอป ตอนนี้กำลังเปิดบูธที่เมืองทอง งานโอทอปศิลปาชีพประทีป 10-18 ส.ค.2562
ส่วนเกศกนก กล่าวว่า มีช็อปที่หาดใหญ่ และยังขายทั้งในเฟซบุ๊ก ในเทพช็อป แต่กำลังคิดอยากให้คนซื้อออนไลน์น้อย เพราะเราอยากให้คนลงไปในชุมชน จากออนไลน์ไปสู่ออฟไลน์ แล้วออฟไลน์กลับไปสู่ออนไลน์ ให้ 2 อันนี้ดีดกันไปมา
ถ้าเขาซื้อออนไลน์เขาจะไม่ลงชุมชน แต่ถ้าเค้าซื้อแล้วเข้าไปสัมผัสชุมชนจริงๆ ก็จะเกิดรายได้ในชุมชน ทั้งที่พัก อาหาร กิจกรรมต่างๆ ที่ชาวบ้านมาทำให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ตนเองกำลังจะปล่อยขายแฟรนไชส์ ถ้าใครสนใจอยากมีสินค้าเหมือนกัน แต่ดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ติดต่อได้ที่ 0613269619 หรือแฟนเพจ สยามที่รัก Siam Tee Ruk
ด้าน อยุทธ์ เตชะสุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบเผลิตภัณฑ์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED กล่าวว่า ทั้งเกศกนกและอารีรัตน์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ สสว. สนับสนุนงบประมาณ และให้ ISMED ดำเนินงาน โดยโจทย์ที่ สสว.ให้มามีเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. จะทำอย่างไรในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและโอทอปสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่โลกยุค 4.0 ให้ได้
2. สสว.ให้เราสร้างผู้นำหรือต้นแบบธุรกิจระดับจังหวัด เพื่อจะเป็นคนไปช่วยขับเคลื่อนแนวคิดนี้ให้ได้ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง
ซึ่งเรื่อง 4.0 ไม่ใช่แค่เรื่องดิจิทัล หรือการค้าออนไลน์ แต่โลก 4.0 ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้การทำธุรกิจยากขึ้น รวมถึงเป็นยุคที่โมเดลธุรกิจเปลี่ยนตลอด ถ้าจะรบแบบเดิมก็คงไม่รอด
เพราะฉะนั้นการบ้านใหญ่ที่เราต้องขบคิด คือ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการรบชนะ ซึ่งต้องเริ่มจากโมเดลธุรกิจที่สามารถรบได้ก่อน รวมทั้งการนำเรื่องภูมิปัญญามาทำให้เกิดความแตกต่าง เอาภูมิปัญญาทำให้เกิดเป็นคุณค่าที่ผู้บริโภคยอมรับ และนำไปสู่มูลค่า
นอกจากนี้ สสว. ยังให้โจทย์เรื่องการเชื่อมโยงกับชุมชน เพราะเราไม่ต้องการสร้างผู้ทำธุรกิจรายเดียว เราต้องการโมเดลธุรกิจที่สามารถเอาไปขยายผลให้เกิดกับชุมชนที่ผู้ประกอบการหรือธุรกิจนั้นๆ มีส่วนร่วมอยู่ด้วย
สุดท้ายก็เป็นเรื่องของการนำนวัตกรรม นำเรื่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ไปสู่ตลาดได้รวดเร็วด้วย 4.0 เราพยายามจะผลักดันผู้ประกอบการให้ใช้ดิจิทัลตามศักยภาพของตัวเอง พื้นฐานที่สุดคือต้องค้าขายออนไลน์ให้ได้ และเทพช็อปก็เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่เป็นพาร์ตเนอร์กับโครงการเรา @