26 สิงหาคม 2562: กรุงเทพฯ – นายกฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ปัญหาขยะ หลังทุกภาคส่วนร่วมเสนอ 4 แผนจัดการปัญหาวิกฤตขยะในงาน “SD Symposium 2019” เผย ขยะทะเลถือเป็นปัญหาร่วมกัน พร้อมยืนยันเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐ และเป็นหน้าที่ของทุกคน
นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “ปัญหาขยะทะเลที่เกิดขึ้นในไทย เป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกับคนทั้งโลก เพราะเราใช้แผ่นดินเดียวกัน ทะเลเดียวกัน อากาศเดียวกัน ปัญหาขยะจึงเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาให้เกิดความสมดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอด 5 ปี และจะทำต่อเนื่อง และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ก็เป็นคำตอบหนึ่งของการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน รัฐบาลจึงได้บรรจุเป็นหนึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ว่าการพัฒนาประเทศต่อจากนี้จะเน้นความยั่งยืนและดูแลสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นหลัง นอกจากนี้ ยังกำหนดการไว้ในนโยบายรัฐบาล ทั้งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ และการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
และด้วยการบริหารจัดการขยะและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการของเสียด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง ตั้งแต่การแยกขยะให้ถูกประเภท การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการกำจัดให้เหมาะสม ที่ผ่านมาภาครัฐจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อผลักดันการดำเนินการบริหารจัดการขยะ เช่น การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564) การจัดทำ (ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561-2579 ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เห็นผลจริงภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วนต่อไป
“วันนี้ผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความพยายามของทุกภาคส่วนร่วมระดมสมองแก้ไขปัญหา โดยภาครัฐจะทำหน้าที่หลักในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และเอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่การการส่งเสริมพฤติกรรมผู้บริโภค ส่วนภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตรวมทั้งการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานนวัตกรรม และภาคประชาชนต้องปรับพฤติกรรม สร้างขยะให้น้อยลง และคัดแยกขยะ ส่วนการเก็บขยะ ไม่เทรวม ไม่ทิ้งรวม ต้องแยก ก็ได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยไปแก้ปัญหาตรงนี้”
ด้าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการบริษัท เอสซีจี กล่าวว่า “วันนี้ขยะเกี่ยวข้องกับทุกมิติของชีวิตเรา เพราะหากไม่มีชีวิตเกิดขึ้น ปัญหาขยะก็คงไม่มี และสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นวิกฤตของประเทศ เห็นได้จากจำนวนขยะปี 2561 ที่มีกว่า 28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 2 จากปี 2560 ทำให้เกิดทั้งปัญหาขยะล้นเมืองที่ขาดการจัดการอย่างเหมาะสม ขยะอุดตัน ขยะในแม่น้ำลำคลองที่ไหลออกสู่ทะเล อีกทั้งสถานที่กำจัดขยะที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมก็มีไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศมากกว่าร้อยละ 20 จึงนับเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหา โดยต้องมีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและรองรับจำนวนคนทั้งหมดอย่างเพียงพอด้วย
ในงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” วันนี้ ทุกภาคส่วนกว่า 1,500 คน ทั้งผู้ที่ก่อให้เกิดขยะ ผู้จัดเก็บขยะ ผู้คัดแยกขยะ และผู้รีไซเคิล จึงได้ร่วมกันระดมสมองหาแนวทางการจัดการปัญหาขยะ และได้สรุปเป็นแนวทางนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีฯ 4 ข้อ เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ได้แก่
1. ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดระบบการบริหารจัดการที่ประสิทธิภาพ ด้วยการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน และจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการขยะแบบคัดแยกที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย
ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก และนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะขยะตามแหล่งชุมชนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ทั้งแม่น้ำลำคลองและชายทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่ขยะถูกทิ้งลงน้ำ ภาครัฐต้องดูแลจัดให้มีถังขยะเปียกและถังขยะแห้งอย่างเพียงพอ และเพิ่มการให้บริการจัดเก็บขยะให้เพียงพอ ลดการฝังกลบ
โดยวิธีการต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนเป็นพลังงาน หากไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างเหมาะสม
2. ผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และมีส่วนรับผิดชอบจัดการซากสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน โดยกำหนดมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงขยะที่จะเกิดขึ้นหลังการใช้งานว่าให้สามารถนำมาหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าได้ และสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมให้มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลในปริมาณที่เหมาะสม ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวของส่วนราชการและภาครัฐ
3. รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เริ่มจากครอบครัวต้องปลูกฝังลูกหลาน โรงเรียนต้องบรรจุแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับในทุกระดับชั้น ส่วนภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า การคัดแยกขยะเปียกและขยะที่รีไซเคิลได้ และการไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง
4. การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง โดยส่งเสริมการจัดการขยะเปียกในครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพ การกำหนดวันจัดเก็บขยะตามประเภท การห้ามทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ การดูแลบ่อทิ้งขยะใกล้แหล่งน้ำเพื่อป้องกันขยะรั่วไหลสู่ทะเล อีกทั้งยังต้องมีการบังคับใช้กฎหมายมาตรฐานฉลากผลิตภัณฑ์ให้ผู้ผลิตต้องแจ้งข้อมูลวิธีการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์หลังใช้งานตามประเภทของวัสดุ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน และภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายห้ามทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างเคร่งครัด จับจริง ลงโทษจริง
หากข้อเสนอเหล่านี้ได้รับการพิจารณาและดำเนินการต่อไป เชื่อมั่นว่าวิกฤตขยะจะลดน้อยลง ลูกหลานของเราจะมีโลกจะน่าอยู่ขึ้น เพราะเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นร่วมกัน”
นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “ท้ายที่สุด การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาทรัพยากรน้อยลง เพื่อชีวิตและสังคมที่ดีของทุกคน โดยไม่ทิ้งภาระไว้ให้ลูกหลานของเรา และผมในฐานะผู้นำภาครัฐ จะนำสิ่งที่ทุกท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดในวันนี้ ไปส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ ตลอดจนสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อร่วมกันผลักดันสู่การลงมือปฏิบัติจริงให้ได้ต่อไป” @