หนึ่งในกาแฟที่มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่ว และมีราคาแพงติดท็อปเท็นของโลก ไม่ว่าจะจัดอันดับกันสักกี่ครั้งและในช่วงเวลาไหน
ก็ต้องมีกาแฟจาก Jamaica Blue Mountain ติดอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เป็นกาแฟที่มีถิ่นกำเนิดในเขตเทือกเขาบลู เมาเท่น ของจาไมก้า ประเทศเล็กๆ ในหมู่เกาะแคริบเบียน มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปถึงปี ค.ศ. 1728 โน่น หรือเกือบ 300 ปีมาแล้ว
จาไมก้า บลู เมาเท่น เป็นหนึ่งในแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก และกาแฟจากแหล่งนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องรสชาติที่กลมกล่อม อมหวาน และมีความขมน้อยมาก… ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กาแฟจากภูสูงฟ้าใสตัวนี้ได้พัฒนาคุณภาพ มีมาตรฐานควบคุมชัดเจนและเคร่งครัด ไม่ผิดกับ “แชมเปญ” ชั้นดีจากฝรั่งเศส จนถึงกลายเป็นหนึ่งในกาแฟที่มี “ราคาแพง” ที่สุดของโลก และด้วยความที่หายากเหลือเกิน จึงเป็นที่ปรารถนาของคอกาแฟมากที่สุดตัวหนึ่งเลยทีเดียว
นอกจากใช้ชงเป็นเครื่องดื่มกาแฟแล้ว เมล็ดกาแฟยังถูกนำไปเป็นส่วนผสมหลักของ “Tia Maria” เหล้ากาแฟที่มีสีน้ำตาลเข้มออกดำ ผลิตจากเหล้ารัม ผสมกับเมล็ดกาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น
ร้อยละถึง 80-90% ของกาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น ถูกส่งออกไปยังญี่ปุ่นเพื่อทำเป็น กาแฟดริป (Drip coffee หรือ Brewed coffee) เครื่องดื่มสุดโปรดของสาย slow life ที่เหลือเป็นส่วนแบ่งของตลาดสหรัฐและยุโรป ทว่าแบรนด์กาแฟที่อยากมีไว้จำหน่ายให้ลูกค้าในรูปต่างๆ ไม่ว่าจะนำมาบรรจุลงถุงหรือใส่ลงเมนูพิเศษประจำร้าน ก็มักจะสั่งมาจากญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง
ในประเทศไทย ก็มีแบรนด์กาแฟยี่ห้อหนึ่งนำเข้าเมล็ดกาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น จากตลาดญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายเป็นกาแฟคั่วบด ตั้งราคาขายเกือบ 20,000 บาทต่อ 1 กิโลกรัม สูงกว่ากาแฟคั่วบาดสายพันธุ์อาราบิก้าทั่วไปราว 10 เท่า
กาแฟที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากจาไมก้า สามารถสืบค้นต้นตอย้อนหลังไปถึงสมัยกษัตริย์ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 …ในปี ค.ศ. 1723 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ส่งต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า 3 ต้น ไปยังเกาะอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ชื่อ “มาร์ตีนิก” ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะจาไมก้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1,900 กิโลเมตร อีก 5 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1728 เซอร์นิโคลัส ลาเวส ผู้ว่าการเกาะจาไมก้า ได้รับของขวัญเป็นกาแฟ 1 ต้นจากผู้ว่าราชการเกาะมาร์ตีนิก
เซอร์ลาเวส รอจนต้นกาแฟออกผลเชอร์รี่ จึงส่งเมล็ดกาแฟไปปลูกยังไร่ที่เมืองเซนต์ แอนดรูว์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงคิงส์ตัน เมืองหลวงจาไมก้า เพื่อทดลองปลูกเป็น พืชเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ก็มีข้อมูลอีกชุดหนึ่งระบุว่า มีสุภาพบุรุษไร้นามจากเมืองคลาเรนดอน ได้นำเมล็ดกาแฟจำนวนหนึ่งมาจากเกาะมาร์ตีนิก เช่นกัน
จากต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าเพียงไม่กี่ต้น ที่ถูกนำไปปลูกและหล่อเลี้ยงดูแลในพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ของจาไมก้า อีกเพียง 9 ปีต่อมา ก็มีการส่งออกเมล็ดกาแฟได้เป็นครั้งแรก นับจากบัดนั้น…อุตสาหกรรมกาแฟของจาไมก้าก็เริ่มต้นขึ้น ภายในหนึ่งทศวรรษ การปลูกกาแฟมีอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนก็ คือ การหลั่งไหลเข้ามาของบรรดาผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ ปฏิวัติเฮติ ปี ค.ศ. 1791 ซึ่งมีทั้งเจ้าของไร่กาแฟและแรงงานทาส ที่มาพร้อมกับความเชี่ยวชาญในทุกขั้นตอนการผลิตกาแฟ
กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า รักชอบดินที่อุดมไปด้วยไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ของจาไมก้า และไม่มีพื้นที่ไหนอีกแล้วที่จะเหมาะสมมากไปกว่าพื้นที่สูงของ บลู เมาเท่น เทือกเขาสูงชันที่มีความสูงถึง 2,256 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะ ทางตอนเหนือของคิงส์ตัน …ที่ปลูกกันมากบริเวณนี้ก็คือ ทิปปิก้า (Typica) สายพันธุ์ชั้นดีของกาแฟอาราบิก้า ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสนั่นเองที่นำไปเผยแพร่ยังแถบทะเลแคริบเบียน รวมไปถึงเกาะมาร์ตีนิก
กาแฟทิปปิก้า ขึ้นชื่อในเรื่องรสชาติอมหวาน สะอาด และมีบอดี้ที่หนาแน่นเข้มข้น มีสัดส่วนผลผลิตมากกว่า 70% ของไร่กาแฟจาไมก้า เลยทีเดียว นอกนั้นก็มีสายพันธุ์ คาทูร์รา (Caturra) และ เกอิชา (Geisha)
ทิปปิก้านั้นถูกโฉลกอย่างมากกับสภาพแวดล้อมที่เป็นดินภูเขาไฟอันอุดมสมบูรณ์ อากาศเย็นสบาย ปริมาณน้ำฝนสูง มีการระบายน้ำดีเยี่ยม และสิ่งสำคัญที่สุด…ภายใต้เมฆหมอกปกคลุมของเกาะ ช่วยบดบังต้นกาแฟ ไม่ให้โดนแสงดวงอาทิตย์มากไป …ปัจจัยหนุนจากดิน น้ำ และอากาศ ทั้งมวลนี้ ช่วยกันฟูมฟักพัฒนารสชาติกาแฟให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น รสชาติอมหวาน กลิ่นหอม กลมกล่อม บอดีแน่น แต่มีความเปรี้ยวและความขมน้อย
จิบแล้ว…รู้สึกสดชื่นเหมือนยืนอยู่บนภูสูงฟ้าใสในวันอากาศสบายๆ ว่ากันอย่างนั้น…
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างติดจรวดนี้ ก็บังเกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น อุตสาหกรรมกาแฟจาไมก้าต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ที่เน้นๆ ก็เป็นปัญหาเรื่องการเตรียมที่ดินเพาะปลูกไม่ดีพอ และการจัดระบบด้านการเกษตร ซึ่งส่งผลให้เกิดแลนด์สไลด์ขึ้นอย่างรุนแรง ดูเหมือนทุกอย่างจะแย่ลง เมื่อมีการประกาศปลดปล่อยทาส ในปี ค.ศ. 1838 ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามไร่ขนาดใหญ่ นำไปสู่การตัดแบ่งขายหรือให้เช่าไร่กาแฟแก่เกษตรกรรายเล็ก
ในอีก 10 ปีต่อมา จาไมก้ามีไร่กาแฟเหลืออยู่ไม่ถึง 200 ไร่ ผลผลิตตกลงไปอยู่ที่ 1,500 ตันต่อปี จากก่อนหน้านั้นที่เคยมีอยู่ถึง 700 ไร่ และมีตัวเลขผลผลิตสูงถึง 15,000 ตันต่อปี …เรียกว่าผลผลิตลดต่ำลงอย่างน่าใจหายทีเดียว
เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย…อุตสาหกรรมกาแฟบนเกาะแห่งนี้ตกต่ำจนถึงขีดสุดในปี ค.ศ. 1943 หลังผู้นำเข้ากาแฟหลายแห่งจากแคนาดา ปฏิเสธที่จะซื้อกาแฟจาไมก้า เนื่องจากเห็นว่ามี คุณภาพไม่ดีพอ เมื่อมาถึงจุดที่อดรนทนไม่ไหวเข้าจริงๆ รัฐบาลจาไมก้าก็ได้เข้าแทรกแซง ด้วยการแต่งตั้งผู้ว่าการภาคการเกษตร เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมกาแฟโดยเฉพาะ จนนำไปสู่การตั้ง คณะกรรมการอุตสาหกรรมกาแฟ ให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในวงการธุรกิจกาแฟ ทั้งในด้านการปลูก การซื้อ การขาย การคัดเกรด และการแปรรูป เพื่อยกระดับคุณภาพของผลผลิต
ไม่แต่เพียงเท่านั้น รัฐบาลได้ออก รัฐบัญญัติควบคุมอุตสาหกรรมกาแฟ กำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานของกาแฟที่สามารถเข้าเกณฑ์ติดฉลาก “Blue Mountain” นอกจากนี้ ยังมีการควบคุม-ปกป้องพื้นที่ปลูกอย่างเข้มงวด และจำกัดขอบเขตการใช้ “เครื่องหมายการค้า” Blue Mountain เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตจากองค์กรควบคุมสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรจาไมก้า (เดิมคือ คณะกรรมการอุตสาหกรรมกาแฟ) … ระบุให้ชัดเจนลงไปเลยก็คือ เป็นกาแฟที่เก็บเกี่ยวจากเขตควบคุมพิเศษเท่านั้น จึงจะถูกพิจารณาว่าเป็นกาแฟ “Blue Mountain” ตัวจริงเสียงจริง
จนในที่สุด จาไมก้าก็ค่อยๆ เรียกชื่อเสียงของกาแฟได้กลับคืนมาได้ในฐานะหนึ่งในกาแฟเกรดดีเยี่ยมของโลก ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น “แชมเปญแห่งโลกกาแฟ” (Champagne of Coffees) เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่มีเขตควบคุมการผลิตองุ่นเพื่อทำแชมเปญ… นักการตลาดถึงให้การยกย่องว่า กาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น เป็นหนึ่งในการคิดค้นนโยบายการตลาดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์กาแฟ
รัฐบาลจาไมก้ากำหนดกฎกติกาหลักสำหรับการใช้ชื่อกาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น ไว้ดังนี้ ต้องปลูกในระดับความสูงไม่เกิน 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในขอบเขตปริมณฑลของ Portland, St.Andrew, St.Mary และ St.Thomas มีพื้นที่ปลูกภายในเขตควบคุมประมาณ 6,000 เฮกตาร์ (ราว 37,500 ไร่) ซึ่งถือเป็นแค่แปลงขนาดใหญ่แปลงหนึ่งเท่านั้นในประเทศที่มีปริมาณการผลิตกาแฟสูง
การทำไร่กาแฟในเทือกเขาบลู เมาเท่น มีลักษณะเป็นการถือครองที่ดินขนาดเล็ก ตั้งแต่ 4 เฮกตาร์ ไปจนถึง 70 เฮกตาร์ มีผู้เกษตรกรประมาณ 15,000 ราย
ตามข้อกำหนดนั้น มีเพียงกาแฟที่ปลูกในระดับความสูงระหว่าง 910 เมตร ไปจนถึง 1,700 เมตร จาก 4 เขตข้างต้น จึงจะเรียกว่า “Jamaica Blue Mountain” ถ้าปลูกในระดับความสูง ระหว่าง 460 เมตร ถึง 910 เมตร เรียกว่า “Jamaica High Mountain” และกาแฟที่ปลูกในระดับความสูงต่ำกว่า 460 เมตรลงมา เรียกว่า “Jamaica Supreme” หรือ “Jamaica Low Mountain” …พื้นที่สูงกว่าระดับ 1,700 เมตรขึ้นไป รัฐบาลกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวน ไม่สามารถปลูกพืชไร่ได้
ถามว่า ทำไมกาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น จึงมีราคาสูงมาก ตอบไม่ยากครับ… เพราะเป็นกาแฟชั้นดี เติบโตบนที่ลาดชันของภูเขาสูง พื้นที่ปลูกมีน้อย จึงหาดื่มยาก มีผลผลิตต่อปีระหว่าง 400-1,000 ตันเท่านั้น ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก ลองเทียบดูให้ชัดไปเลย คือ มีสัดส่วน 0.1% เมื่อเทียบกับผลผลิตกาแฟของประเทศโคลอมเบีย จำนวน 1,000 ตันนี่ กาแฟโคลอมเบียใช้เวลาผลิตแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น…
เนื่องจากมีราคาแพง จึงมักถูกแอบอ้างว่าเป็นกาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น ทว่าของแท้และดั้งเดิม จะต้องมาจากกาแฟพันธุ์ทิปปิก้า ที่เก็บเกี่ยวจากเขตควบคุมพิเศษ 4 แห่ง บนเกาะจาไมก้าเท่านั้น และต้องมีใบรับรองจากหน่วยงานรัฐบาล…ที่ถือเป็น signature อีกประการ คือเป็นกาแฟจากแหล่งปลูกเพียงแห่งเดียวในโลก ที่บรรจุลง ถังไม้ ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเพื่อการส่งออก นอกเหนือจากที่บรรจุเป็นกระสอบปอด้วย
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเขตทะเลแคริบเบียน กาแฟนอกจากเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว ยังแทรกซึมเข้าสู่ทุกโครงข่ายของวัฒนธรรม สำหรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนแแล้ว การเดินทางสู่จาไมก้าจะไม่มีวันสมบูรณ์แบบได้เลย หากไม่มีโอกาสดื่มกาแฟในตำนาน… จาไมก้า บลู เมาเท่น สักหนึ่งแก้ว…
บ็อบ มาร์เลย์ ราชาเพลงเร็กเก้ชาวจาไมก้าผู้วายชนม์ แต่งเพลง “One Cup Of Coffee” ในปี ค.ศ. 1963 มีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “Tell the kids I came last night And kissed them while they slept; Make my coffee sweet and warm Just the way you used to lie in my arms”…@
facebook : CoffeebyBluehill