ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยกระตุ้น ศก. คาดฟื้นตัวต้องรอครึ่งหลังปีหน้า

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าการลดดอกเบี้ยรอบนี้อย่างน้อยก็ช่วยลดภาระของผู้ที่กู้ เป็นการส่งผ่านนโยบายการเงินจากการลดดอกเบี้ยของ กนง. ทำให้เริ่มมีธนาคารพาณิชย์ มีสถาบันการเงินปรับลดดอกเบี้ยตาม ซึ่งภาระที่ลดลงนี้ก็จะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ส่วนการลดดอกเบี้ยเพื่อหวังผลว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นชัดเจนนั้นคงหวังได้จำกัด และการลดดอกเบี้ยนั้น ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดลงด้วย ซึ่งผู้ออมก็อาจได้รับผลกระทบตรงนี้

ดร.เชาว์ เก่งชน

ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ดร.เชาว์ ไม่คิดว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะกลุ่มผู้ออมในระบบธนาคาร ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุก็คงจะเก็บเงินไว้ คงจะไม่เร่งนำเงินไปใช้จ่าย นอกจากนี้ยังขึ้นกับการมีงานทำของผู้ออมรายนั้น และขึ้นกับภาระหนี้ที่มีอยู่แล้ว เขาก็คงจะไม่เร่งใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม ดังนั้นการลดดอกเบี้ย สิ่งที่เล็งผลได้คือลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ มากกว่าจะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น การใช้จ่ายของภาครัฐก็ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น มีมาตรการ”ชิมช้อปใช้” แล้วยังมีมาตรการเรื่องประกันรายได้สำหรับเกษตรกร ซึ่งทั้ง 2 มาตรการนี้เล็งไปที่ผู้บริโภค โดยเฉพาะเกษตรกรน่าจะอยู่ระดับฐานราก ดร.เชาวน์มองว่ามาตรการเหล่านี้เป็นการประคับประคอง เป็นการช่วยเหลือ มากกว่าที่จะเป็นการกระตุ้น ซึ่งภาคเกษตรก็จะเจอปัญหาของเขาอยู่แล้ว ดังนั้นมาตรการที่รัฐบาลทำ ก็เหมือนเป็นการเยียวยาบางส่วน ไปช่วยประคับประคอง ดีกว่าจะไม่มีมาตรการใดๆ เลย และถ้าไม่มี กำลังซื้อของเกษตรกรคงจะแย่ไปกว่านี้

ดร.เชาว์ กล่าวว่า เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทย 60-70% พึ่งกับภาคต่างประเทศ ทั้งเรื่องการค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกเรายังหดตัวเหมือนในช่วง 9 เดือนแรก คือ หดตัวไป 2% ถ้าภาวะการค้าโลกยังเป็นอย่างนี้ก็จะดึงประเทศเราลงด้วย โดยที่เราแทบจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก สิ่งที่ภาครัฐดำเนินการก็มีผลแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะมาจากปัจจัยภายนอกประทศ

ยังดีที่ตัวเลขท่องเที่ยวในเดือนก.ย.เริ่มดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นฐานที่ต่ำในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่เขาถูกกระทบจากเรื่องอุบัติเหตุปีที่แล้ว ปีนี้เท่าที่จำได้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเดือน ก.ย.กลับมาโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ก็มีบางส่วนเริ่มดีขึ้น และเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตอนนี้เราก็หวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างน้อยก็นิ่งขึ้น หรือมีแนวโน้มสัญญาณที่เป็นบวกขึ้น ไม่ได้หดตัวลงในปีหน้า เหมือนกับปีนี้ ก็หวังอย่างนั้น และยังต้องติดตามสถานการณ์อยู่

ส่วนค่าเงินบาท ก่อนการประชุม กนง.อยู่ที่ราว 30.20 บาท/ดอลลาร์ หลังประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เงินบาทอ่อนค่า
ไปอยู่ที่ประมาณ 30.40 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ 30.30 บาท/ดอลลาร์ และวันนี้ (8 พ.ย.62) อ่อนลงเล็กน้อยกลับมาใกล้ๆ 30.4o บาท/ดอลลาร์ เพราะดอลลาร์แข็งค่า หลังได้รับแรงหนุนจากข่าวดีเรื่องสงครามการค้าที่อาจจะมีการคลี่คลายเป็นเฟสๆ ไป ระหว่างจีนกับสหรัฐ ดังนั้น มาตรการ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ออกมาในจังหวะที่พอดีๆ กับดอลลาร์กลับมาแข็งขึ้น และในช่วง 2-3 วันนี้ เราก็จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

การดำเนินการของ ธปท.ตอนนี้ คือการรักษาเสถียรภาพ และชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และถ้าเข้าใจเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเกินดุลการค้า แม้ว่าเราจะมีภาวะการส่งออกที่หดตัว แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังเกินดุลการค้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นมาตรการหนึ่งที่ออกมาก็คือให้ผู้ที่มีรายได้จากการค้า ไม่จำเป็นต้องแลกกลับมาเป็นเงินบาท สามารถเอาเงินตราต่างประเทศนั้นอยู่ในต่างประเทศได้ ก็อาจช่วยชะลอได้บ้าง

ส่วนเรื่องเงินเฟ้อที่ กนง.ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีที่ทําให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีตนั้น ดร.เชาวน์ ไม่ค่อยกังวลในเรื่องนี้มากนัก ประเด็นนี้ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาในนโยบายการเงิน เพราะกรอบที่เราใช้ทุกวันนี้ เป็นกรอบที่ กนง. และ ธปท.มีเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่พอดีโครงสร้างของเงินเฟ้อ และโครงสร้างเศรษฐกิจ เทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนไป ทำให้เงินเฟ้อเตี้ยลงมาเรื่อยๆ ทั้งประเด็นเรื่องอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายออนไลน์ ซึ่งมีต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราคาน้ำมันที่ยืนในระดับค่อนข้างต่ำ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล

รวมทั้งการเปลี่ยนโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจ สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประชากรไทยมีสัดส่วนที่อายุเกิน 60 ปี 65 ปี มากขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า สัดส่วนประชากรที่อายุ 65 ปี น่าจะเกินร้อยละ 14 ลักษณะการใช้จ่ายจะไม่เหมือนเดิม แรงกดดันที่จะเกิดกับเงินเฟ้อก็จะเปลี่ยนไป ไม่เหมือนสมัยก่อน และตนเองไม่ได้มองว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก

“ความจริงแล้วถ้าไปถามแม่บ้าน หรือคนจ่ายกับข้าวก็ยังบอกว่าของแพงอยู่ ซึ่งเรื่องตัวเลขเงินเฟ้อ และกรอบนโยบายการเงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง เป็นประเด็นด้านวิชาการ ประเด็นด้านเหตุผลต่างๆ แต่พฤติกรรมของคน หรือความรู้สึกของคนในการจับจ่ายใช้สอยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางทีก็ไม่ค่อยไปด้วยกัน เวลาเราถามคนเขาก็บอกรู้สึกว่าของแพง แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่เราเห็นก็ค่อนข้างต่ำ”

ดร.เชาวน์ ประมาณการเศรษฐกิจประเทศไทยปีนี้น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ใกล้เคียงกับที่ ธปท. ปรับประมาณการลงมา ปีหน้าเราคาดหวังว่าตัวเลขคงใกล้ๆ กัน โดยตัวแปรที่ยังต้องติดตามอยู่ คือ สงครามการค้า ถ้ามีสัญญาณบวกอย่างที่เราเห็นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา และเขาสามารถลดอัตราภาษีที่ขึ้นกันไปลงมาได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากต่อบรรยากาศการค้า ต่อตัวเลขส่งออก ต่อตัวเลขเศรษฐกิจโลก แต่ถ้าไม่มีการคลี่คลายเรื่องสงครามการค้า ตัวเลขที่เรามองคงใกล้ๆ ร้อยละ 2.7- 2.8

“ถ้าสงครามการค้าไม่คลี่คลาย ตัวเลขคงยังต่ำกว่าร้อยละ 3 อยู่ เพราะตัวเลขส่งออกคงดีขึ้นไม่ได้มาก และประเด็นต่างๆ ก็ยังกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยอีก ถ้าเขาลดดอกเบี้ย เงินบาทก็อาจกลับมาแข็งอีก ดังนั้น เรื่องดอกเบี้ยสหรัฐ เรื่องสงครามการค้ายังเป็นเรื่องที่เรายังต้องติดตาม ถ้าเศรษฐกิจโลกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน เศรษฐกิจไทยโอกาสที่จะโตเกินร้อยละ 3 ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่”

ปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยมาจากเรื่องสงครามการค้า ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงก็มีผลต่อคู่ค้าอย่างจีน สหรัฐ ที่จะซื้อสินค้าจากไทยในเรื่องกำลังซื้อ ส่วนทางอ้อมก็คือกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดี เขาต้องลดดอกเบี้ย ซึ่งถ้าเขาลดดอกเบี้ย ก็ทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่า ถ้าเงินบาทแข็งก็ยิ่งทำให้การค้าเราลำบากขึ้นอีก

เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ดร.เชาวน์ กล่าวว่า มาตรการ”ชิมช้อปใช้” ที่จะมีเฟส 3 น่าจะพอช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้บ้าง ซึ่งรัฐบาลคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และติดตามตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนในมิติต่างๆ ถ้าจำเป็นจริงๆ สถานการณ์ไปถึงจุดที่ไม่ดีขึ้น ก็คงมีมาตรการออกมาอีก เพราะอยู่ในวิสัยที่เรายังพอจะกระตุ้นอะไรได้อีก อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่รัฐบาลทำก็ช่วยได้แค่ระดับหนึ่ง การจะให้ทุกอย่างดีขึ้น รวมถึงความมั่นใจกลับมา เอกชนลงทุน เรื่องหลักยังคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกต้องฟื้นตัวให้เห็นชัด สงครามการค้าคลี่คลาย เอกชนก็กลับมาลงทุนแน่นอน

ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จะต้องระมัดระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน มาตรการของ ธปท.อาจช่วย
ลดความผันผวนได้ระดับหนึ่ง แต่ปัจจัยภายนอกยังมีอิทธิพลค่อนข้างมาก ยังต้องติดตามสถานการณ์ สิ่งที่เรามอง
และคาดหวังในเชิงบวก คือเหตุการณ์น่าจะทยอยผ่านจุดต่ำสุดไป ถ้าการตกลงระหว่างสหรัฐและจีนมีผลในทางปฏิบัติจริง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เศรษฐกิจน่าจะทยอยดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีหน้า เพราะในช่วงครึ่งแรกของปี น่าจะใช้เวลาในการตกลงกันกว่าจะเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องใช้เวลา @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *