ปฏิบัติการเลิกใช้ถุงพลาสติก 1 ม.ค. 2563 เอสเอ็มอี คนตัวเล็ก ต้องปรับตัวอย่างไร?

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่รวม 43 แห่ง ไม่แจกถุงพลาสติก ตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 5 ประเทศของโลกที่ใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยใช้ถุงพลาติกหูหิ้ววันละ 8 ใบต่อคน ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคน และไทยยังติด 1 ใน 3 ประเทศของโลกที่ทิ้งถุงพลาสติกลงทะเล ทำให้สัตว์ทะเลตาย เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ถ้าประเทศไทยไม่จัดการปัญหานี้ ก็อาจถูกประเทศอื่นคว่ำบาตรได้

พวกเราที่มีส่วนร่วมในฐานะผู้ค้า ผู้ใช้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งการรณรงค์ครั้งนี้รัฐบาลเอาจริงเอาจังมาก โดยใช้กลไกขับเคลื่อนที่เรียกว่า ภาคีเครือข่ายประชารัฐ ทั้งภาคเอกชน รัฐบาล ภาคประชาชน ตั้งใจจะเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ซึ่งเราใช้ถุงพลาสติก 182,000 ล้านใบต่อปี การรณรงค์วันที่ 1 มกราคม 2563 จะลดลง 25% หรือลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี โดยเฉลี่ยเราใช้ถุงพลาสติก 123 ล้านใบต่อวัน

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต้องพกถุงผ้า นำปิ่นโตไปซื้ออาหาร และเลิกใช้ถุงร้อน เพราะอยู่นานถึง 600 ปี โลกวันนี้จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะโลกร้อนขึ้นเยอะมาก หลังจากนี้ไปจนถึงปี 2573 จะต้องลดอุณหภูมิโลกให้ได้ 2 องศา โดยประเทศสิงคโปร์ทำได้ ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เขาลดอุณหภูมิประเทศลงมา ซึ่งคนของเขามีวินัย

ส่วนประเทศไทยจะต้องมีการบังคับออกเป็นกฎหมาย ให้ทุกคนแยกขยะ และของบางชนิดห้ามใช้ วันนี้ รัฐบาลชูเรื่องสารตกค้างภาคเกษตร ที่แบนสารไป 3 ชนิด และแนวโน้มกฎระเบียบเรื่องนี้ จะมาที่เรื่องอาหาร และสิ่งแวดล้อมทางด้านการค้า

ดังนั้น ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะรายใหญ่ปรับตัวเกือบหมดแล้ว และผลักต้นทุนเหล่านี้
มาที่ภาษี หรือราคาสินค้า ให้ผู้บริโภครับไป ต่อไปใครจะใช้ถุงพลาสติกก็ต้องเสียเงิน เพราะฉะนั้นถ้าใครไม่เตรียมตัว
ในเรื่องนี้ก็จะขายของไม่ได้ และของก็จะแพงขึ้น

“ยกตัวอย่างร้านอาหารถ้ารัฐบาลไม่ให้ใช้โฟม ต้องใช้ของย่อยสลายง่าย เช่น ใช้กล่องที่ทำจากมันสำปะหลัง ราคาก็จะแพงขึ้นอีก 2 บาท ถ้าคุณบริหารต้นทุนไม่ได้และผลัก 2 บาทนี้ไปให้ลูกค้า แต่คนอื่นเขายอมใช้ของอันนี้ และขายในราคาเดิม ลูกค้าก็เปลี่ยนไปซื้อเจ้าอื่น คุณก็เสียลูกค้าไป เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแบบนี้ การบริหารต้นทุน จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก” มงคล กล่าว

สำหรับเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว หรือไม่สำคัญ เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะเห็นว่าการค้าเราเล็กลงๆ ปรับตัวไม่ทัน ยอดขายตก เพราะเรายังใช้ถุงพลาสติกเหมือนเดิม แต่ผู้บริโภคเขาเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว รัฐบาลก็รณรงค์หรืออาจมีกฎหมายบังคับ แล้วผลักดันต้นทุนลงไปที่ราคาสินค้า

มงคล กล่าวว่า สินค้าหลายอย่างก็ต้องไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ขวดแก้วอาจกลับมาใหม่ หรือใช้หลอดกระดาษที่ย่อยสลาย ทำจากมันสำปะหลัง หรือฟางข้าว แต่ราคาจะแพงขึ้นอีกเล็กน้อย จะทำให้เกิดมูลค่าและโอกาสทางธุรกิจอีกหลายอย่าง และจะตามมาด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า Go Green Plus คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาหารทั้งหมดจะต้องเป็นสีเขียว

หรือพูดง่ายๆ ก็คือสินค้าเกษตรต่อไปนี้จะต้องปลอดภัย จะต้องมาตรฐาน GAP เรียกว่าเกษตรอินทรีย์ มีสารตกค้างน้อย
ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำริแล้วเรื่องการแบน 3 สารเคมีด้านการเกษตร ต่อไปตลาดที่ซื้อขายกัน ก็จะมีทั้งภาคประชาชน เอกชน
รัฐบาล ไปสุ่มตรวจสอบ เพราะกฎหมายนี้จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และเอกชน สามารถตรวจสอบได้

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนที่ประกอบธุรกิจอาหารจะต้องยกมาตรฐานให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “อินทรีย์วิถีไทย” ขึ้นมา
ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสร้างมาตรฐานนี้ขึ้นมา โดยใช้ความสมัครใจก่อน แต่หลังจากนี้อีกหลายปีก็จะบังคับแล้ว ปัจจุบันนอกจาก Green แล้วต้องปลอดภัยด้วย ซึ่งรัฐบาลจะเริ่มการเก็บภาษีความหวานกับความเค็ม

โดยภาษีความหวานเริ่มเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม 1 ลิตร ราคาเพิ่มขึ้น 2 บาท แล้วทุก 2 ปี จะต้องเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว และจะเพิ่มกลายเป็น 5 บาทต่อลิตร ในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 2 ปีข้างหน้า จะเก็บภาษีความเค็ม เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่

เพราะสินค้าอาหารที่ส่งออก ถ้าเราผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานของเขา ก็จะไม่มีคนซื้อ เพราะทั่วโลกเขาปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสสูงมาก เพราะการผลักดันในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน จะสัมฤทธิผลในปีหน้า เราก็จะมีโอกาสขายของไปยัง 15 ประเทศ คืออาเซียน 10 ประเทศ บวกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งรวมประชากรแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของโลก จะเป็นตลาดเสรี เป็นตลาดเดียวกันได้

มงคล จึงเสนอแนวคิด 5 ประการ ในแง่ของเชิงกลยุทธ์ของเอสเอ็มอี คนตัวเล็ก จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในเรื่องของสภาพแวดล้อม ดังนี้

1. Modern เราต้องมีความคิดที่ทันสมัย โลกเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แล้วการเปลี่ยนแปลงนี้จะค่อนข้างรวดเร็ว ภายใน 1 ปีข้างหน้าจะเห็นชัดเจนว่าเรื่องนี้จะเปลี่ยนแปลงมาก

2. Story สิ่งที่คนตัวเล็กเอามาขาย แสดงความเป็นตัวตน มีเอกลักษณ์ ก็คือเรื่องราว คือ Story Telling เพราะอาหารของไทยมาจากสมุนไพรเป็นพื้นฐาน มาจากวัฒนธรรมที่เราเรียกว่า “อาหารคือยา ยาคืออาหาร” และอยู่ในวัฒนธรรมวิถีไทยอยู่แล้ว พวกส่วนประกอบทั้งหลาย ตะไคร้ ขมิ้น พริกไทย ส่วนใหญ่จะต่อต้านอนุมูลอิสระ มีคุณค่าสูง และสามารถเพิ่มมูลค่าได้ โดยเฉพาะผ้าไทย ที่ใช้การปั่นด้ายแบบธรรมชาติมาก ย้อมจากคราม เปลือกไม้หลายชนิด ที่เป็นภูมิปัญญาไทย สามารถกันปลวกกันแมลง เวลาเอามาใช้ ก็ทำให้เกิดคุณค่ามหาศาล

3. Design การดัดแปลงเรื่องราวที่เรียกว่าวัฒนธรรมเดิม เอามาดีไซน์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะต้องเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เรียกว่าดีไซน์ เพื่อเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้

4. Certificate มาตรฐาน การที่เราจะเอาของดั้งเดิมที่มีวิถีไทย ไปให้คน 2,000 กว่าล้านคนใช้ โดยใช้ภาษาสากล
ก็ต้องใช้มาตรฐานวิทยาศาสตร์ เราต้องแปลสิ่งเหล่านี้ในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าสินค้าของเราปลอดภัย และไม่เป็นพิษ
ต่อสิ่งแวดล้อม

5. Online การสื่อสารผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งคนตัวเล็กจะมีโอกาสเท่ากับคนทั่วไป เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เวลาทำงานเราต้องไปที่ออฟฟิศ หรือโรงงาน แต่สมัยนี้เอางานไปทำที่บ้าน หรือในชุมชนได้

“เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ จะทำให้คนตัวเล็กมีโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหม่ บอกกล่าวเล่าเรื่องวิถีไทยลงมาสู่ชีวิตประจำได้ โดยใช้นวัตกรรม และเข้ามาตรฐานสากล สามารถบอกกล่าวช่องทางทั่วโลกได้”

มงคล กล่าวว่า การเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในอนาคตนั้น อาจเป็นโอกาสของเอสเอ็มอี ของชุมชน ที่คนอาจปรับเปลี่ยนมาใช้ตะกร้าสาน ถุงผ้าแทน ทุกอย่างกลับไปสู่ยุคเดิม แต่ของเดิมอาจไม่สะดวกใช้ในชีวิตประจำ จะต้องดัดแปลง ต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ดีไซน์ ถือเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่อาจเป็นผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้ ให้คิดหานวัตกรรมใหม่แล้วผลิตสินค้าออกมาทดแทนถุงพลาสติกหูหิ้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันเรา อยู่ที่ใครคิดนวัตกรรมก่อน ก็จะได้รับโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และจะเปลี่ยนประเทศไทยทั้งประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย โดยเฉพาะประชาชนต้องปรับตัว เพราะเราทำลายสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *