“MICRON WARE” รีแบรนด์อย่างไร เมื่อสินค้าต้องบุกตลาดโลก

ภาพจาก Facebook : Super Lock by Micron Ware

หลายคนคงคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ลิ้นชัก ตะกร้าผ้า กล่องถนอมอาหาร ภายใต้แบรนด์ MICRON WARE และ SUPER LOCK

พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หจก.เจ.ซี.พี. พลาสติก เจ้าของแบรนด์ MICRON WARE และ SUPER LOCK ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ 2 กล่าวว่า ธุรกิจนี้เริ่มต้นในรุ่นคุณพ่อเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เริ่มจากบริษัทเล็กๆ เป็น OEM รับจ้างญี่ปุ่นผลิตเครื่องใช้ในบ้านที่เป็นพลาสติกทุกอย่าง โดยใช้โนว์ฮาวจากญี่ปุ่น แบรนด์แรกที่ก่อตั้งคือ MICRON WARE ขายในห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศและส่งออก

ส่วน SUPER LOCK เป็นแบรนด์ที่เกิดเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เทคโนโลยีป้องกันแบคทีเรีย Microban มาจากสหรัฐอเมริกา จึงนำมาใส่ในกล่องถนอมอาหารเพื่อป้องกันแบคทีเรีย

พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น

เมื่อพลาวุฒิเข้ามา ก็อยากจะทำแบรนด์ไฮเอนด์ ใช้ชื่อ AMATAS โดยร่วมมือกับบริษัทเดนมาร์ก สตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ที่มีชื่อเสียงมากในแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรป และอเมริกา และดีไซน์ให้แบรนด์ชั้นนำหลายๆ แบรนด์ โดยจะดีไซน์ในเชิงของสแกนดิเนเวีย

สตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ มาเปิดออฟฟิศในเมืองไทย และเขาอยากเผยแพร่แนวความคิดด้านดีไซน์ให้กับคนไทย จึงไปจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถือว่าโชคดีที่เราได้ร่วมงานกับเขา และคิดว่าเมืองไทยน่าจะทำสินค้าที่มีดีไซน์ได้ แล้วราคาไม่แพง

พลาวุฒิ ต้องการรีแบรนด์ให้ MICRON WARE และ SUPER LOCK มีความชัดเจนมากขึ้น แล้วสร้างแบรนด์ใหม่คือ AMATAS ควบคู่กันไปเลย ก่อนหน้านี้ MICRON WARE มีภาพลักษณ์แบบหนึ่งแต่อาจยังไม่ชัดเจนมาก สมัยก่อนคุณพ่อคุณแม่ทำไว้ดีมากแล้ว ทำให้สินค้าสวย ราคาไม่แพง ตอบโจทย์ผู้ใช้ แต่สิ่งที่ขาดไปคือขาดเอกลักษณ์ หรือขาดลายเซ็นต์ของสินค้า

“ถ้าเราเห็นลิ้นชักวางอยู่ในบ้าน เมื่อคนเดินผ่าน คนมองแล้วรู้ว่าเป็นแบรนด์เรา คล้ายๆ สินค้าแอปเปิล ถ้าแอปเปิลออกนาฬิกา ขวดน้ำ เขาจะมีภาษาดีไซน์ของเขา มีอัตลักษณ์ด้านดีไซน์ที่ชัดเจน ในการรีแบรนด์ครั้งนี้จะทำอย่างไรให้สินค้ามีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน อยากให้คนชื่นชอบสินค้าเรา ไปไหนไม่ต้องดูโลโก้ ก็รู้ว่าอันนี้เป็นสินค้าเรา” พลาวุฒิ กล่าว

พลาวุฒิ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเข้าใจผิดเรื่องดีไซน์ คิดว่าการดีไซน์ คือ การปรับแพกเกจจิ้ง ปรับโลโก้ใหม่
แต่ตอนเข้าใจแล้วว่า การที่จะมาปรับภาพลักษณ์นั้นรวมถึงทุกอย่าง ก่อนจะเริ่มโปรเจกต์ สตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ได้มาสัมภาษณ์ก่อนว่าเราเป็นคนอย่างไรในฐานะบริษัท คนที่อยู่ในบริษัทมีความเชื่ออะไร สัมภาษณ์ลูกค้า ซัพพลายเออร์ เขามองเราอย่างไร เรามองตัวเองอย่างไร คนอื่นมองเราอย่างไร แล้วเอามาแมทช์กัน มันก็จะเกิดเป็น Brand Identity

เมื่อ สตูดิโอ ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ได้ข้อมูลตรงนี้ ซึ่งเป็นเหมือนจิตวิญญาณของบริษัท สิ่งที่เขาสัมผัสได้เวลาที่เข้ามาที่บริษัทคือรู้สึกอบอุ่นเหมือนเข้ามาในบ้าน เขารู้สึกว่าเราเป็นกันเอง ซึ่งตรงนี้เป็น Identity ของบริษัท
เขาเลยเอาตรงนี้มาทำในเรื่องของภาพลักษณ์ สีสัน รูปแบบ เคิร์ฟ ฟรอนท์ ต้องออกมาอย่างไร จากภาพลักษณ์
ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่เราอยากจะเป็น เป็นภาพลักษณ์ที่เราเป็นแล้วทำให้มันชัดเจนขึ้น หรือ
ภาพลักษณ์ใหม่ที่คนจะมองเรา

การรีแบรนด์ครั้งนี้ทำให้โพรดักส์เปลี่ยนโพสิชั่นนิ่ง ทำให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้นเหมือนบ้านเราเคยรก เราก็มาจัดบ้าน
ให้เรียบร้อย ชัดเจน มีระเบียบ มีหลักการมากขึ้น พนักงานหรือคนในทีมก็จะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย เรามีสิ่งที่
เรียกว่า Brand Book ซึ่ง Brand Book เล่มนี้ก็ยังต่อยอดได้เรื่อยๆ ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริษัท มาร่วมงานกับเรา
ทั้งพนักงาน หรือซัพพลายเออร์ ก็จะยึดจากคัมภีร์เล่มนี้ว่าสิ่งนี้คือโนว์ฮาวของเราทั้งหมดที่อยากให้ทุกคนเดินตาม

แบรนด์ของเราส่งออกไปในอาเซียนเกือบทุกประเทศ เวียดนาม ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้ง ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งญี่ปุ่นนั้นเป็น OEM แต่ประเทศอื่นส่งออกในฐานะแบรนด์ของเรา

“แต่เรามองไปไกลกว่านั้น จะทำอย่างไรให้แบรนด์ไทยสามารถไปอยู่ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ได้อย่างภาคภูมิใจ เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ที่เราร่วมกับยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ถึงแม้จะแพงในมุมหนึ่ง แต่มันก็คล้ายกับบัตรเชิญเราเข้าไปในห้าง เช่น วอลมาร์ท ทาร์เก็ต เทสโก้ในต่างประเทศ และหลายๆ ห้างในญี่ปุ่น ที่เขาชื่นชอบในตัวดีไซน์ของสตูดิโอนี้อยู่แล้ว” พลาวุฒิ กล่าว

ในส่วนของ OEM นั้นเรายังไม่ทิ้ง ส่วนการสร้างแบรนด์ เรามี MICRON WARE , SUPER LOCK แต่จะมี AMATAS ที่จะไปบุกในตลาดอินเตอร์มากขึ้น โดยคุณภาพอินเตอร์ที่ยุโรป อเมริกายอมรับ แต่ราคาคนไทย เพราะปกติสินค้าที่ยุโรป ราคานี้ไม่แพงในมุมมองเขา แต่พอมาเมืองไทยราคาจะแพงกว่าสินค้าในตลาดประมาณ 2-3 เท่า ซึ่งตรงนี้มีช่องว่างอยู่ เราในฐานะที่เป็นโรงงาน เราผลิตได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด แล้วเราเป็นดีไซน์เนอร์ด้วย เอาจุดแข็ง 2 อย่างมารวมกัน เพื่อทำให้เขายอมรับ ให้เขาเซอร์ไพรซ์ว่าสินค้านี้มาจากเมืองไทย เราถึงจะสร้างชื่อให้เมืองไทยได้

พลาวุฒิ กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการรณรงค์เรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก และกลายเป็นปัจจัยบวกของบริษัท เพราะเราสนับสนุนการนำกลับมาใช้แล้วใช้อีก เราไม่ได้ทำสินค้า Single-use เราทำ Non Single-use และเมื่อ
ตนเองเข้าไปเฟซบุ๊กกลุ่มต่างๆ จะมีคอมมูนิตี้มาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการรักษ์โลก จะเห็นคุณลุงคนหนึ่งเอาสินค้า
ของเราไปซื้อข้าวมันไก่ หรือบางคนไปซูเปอร์มาร์เก็ต เขานำสินค้าเราไปให้พนักงานชั่งหมู ชั่งไก่ และติดบาร์โค้ดบนกล่องเลย แล้วไปจ่ายเงิน พอกลับบ้านก็นำเข้าตู้เย็นได้เลย

“เรื่องพลาสติกนั้น ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัวพลาสติก แต่อยู่ที่ขั้นตอนรีไซเคิลที่มันยากในปัจจุบัน เพราะพลาสติกจะต้องรีไซเคิลให้ถูกประเภท จะต้องมีการคัดแยกเพื่อจะรีไซเคิลได้ถูก และมีมูลค่า แต่ปัจจุบัน เราทำให้พลาสติกมีหลากหลายประเภทมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มปัญหาให้รีไซเคิลยากไปอีก เหมือนกับไปแก้ผิดจุด ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ทำอย่างไรให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ทุกคนมีความรู้ว่าจะคัดแยกอย่างไรให้ถูกวิธี และแก้ที่ต้นตอของปัญหาคือการทิ้งให้ถูกที่”

ส่วนเรื่องยอดขายนั้น ปัจจุบันสัดส่วนต่างประเทศอยู่ที่ 20% พลาวุฒิมองว่าภายใน 2-3 ปีนี้ อยากจะเพิ่มให้เป็น 30%
และภายใน 5 ปี เพิ่มเป็น 50% ของยอดขาย ข้อดีคือกระจายความเสี่ยง ถ้าเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี เราก็อาจไปโต
ในต่างประเทศได้ในประเทศที่เขาโต หรือถ้าต่างประเทศไม่ดี เราก็กลับมาโตที่ไทยได้ ส่วนยอดขายปีหน้า คิดว่าน่า
จะได้ประมาณ 800 ล้านบาท หรือโตประมาณ 10% จากปีนี้ที่น่าจะปิดประมาณ 700 กว่าล้านบาท @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *