“เครือข่ายผู้บริโภคเรียกร้องสินค้าเกษตรใช้เคมีติดฉลากระบุให้ชัด !”

ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 มีมติเลื่อนการแบน 2 สารเคมีเกษตร คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคม 2562 เป็น 1 มิถุนายน 2563 ส่วนสารไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืนยันว่าทั้ง 3 สารเคมี เป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยพาราควอตมีปัญหาเรื่องพิษเฉียบพลัน ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศใช้เป็นเหตุผลในการแบน ที่สำคัญคือไม่มียาถอนพิษ และการสัมผัสสารนี้จะสามารถซึมเข้าไปในร่างกายได้ พาราควอตมีอันตรายมากกว่าสารเคมีที่ถูกแบนไปแล้วอย่าง คาร์โบฟูรานถึง 43 เท่า และเมโทมิล 3 เท่า หมายความว่าความเป็นพิษเฉียบพลันของพาราควอตแรงมาก

สารี อ๋องสมหวัง

ส่วนประเด็นพิษเรื้อรัง พบว่าพาราควอตถ้าอยู่ในร่างกายคนนานๆ จะทำให้เกิดปัญหาโรคพาร์กินสัน ล่าสุด ในหลายประเทศบอกว่าพาราควอตส่งผลต่อการตั้งครรภ์ และพัฒนาการของตัวอ่อน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบสารพาราควอตในปูนาและสัตว์น้ำในนาทั้งหลาย รวมทั้งพบในน้ำปู๋ ที่เป็นอาหารแปรรูปด้วย

และยังพบพาราควอตตกค้างในมนุษย์ด้วย โดยตกค้างในสะดือทารก และในขี้เทาเด็กแรกเกิด ซึ่งต่างประเทศเลิกใช้พาราควอตแล้วกว่า 50 ประเทศ และใช้วิธีทดแทน เช่น ใช้แทรกเตอร์ในกรณีแปลงขนาดใหญ่

สำหรับคลอร์ไพริฟอสก็ไม่แตกต่างกัน มีผลต่อพัฒนาการของแม่และเด็ก มีผลต่อระยะสืบพันธุ์ ในประเทศไทยตรวจพบคลอร์ไพริฟอสในน้ำนมแม่ ซีรั่มของแม่ และสะดือทารก ถึง 50%

ส่วนไกลโฟเซตนั้น พวกเราผิดหวังมากที่ทำเพียงแค่จำกัดการใช้ เพราะกรณีไกลโฟเซตมีการฟ้องคดีในสหรัฐ และผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะ บริษัทผู้ผลิตต้องจ่ายค่าชดเชย 78 ล้านเหรียญ ขณะนี้มีการฟ้องรอการพิจารณาคดีอยู่หมื่นกว่าคดีว่าทำให้เกิดมะเร็ง โดยสำนักงานเพื่อการวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ หรือไอเออาร์ซี ระบุว่า ไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่ม 2 เอ ขณะที่งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่าไกลโฟเซตตกค้างในแม่และเด็กเหมือนกัน

“การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ บอกว่า ไกลโฟเซตไม่อันตราย จึงแค่จำกัดการใช้ จึงไม่เป็นความจริง ผู้บริโภคอย่างเราไม่เชื่อแน่นอน เพราะข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือ กับข้อมูลของนักวิชาการที่ทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันชัดเจนว่าไกลโฟเซตเป็นอันตราย และเป็นสารก่อมะเร็ง 2 เอ” สารี กล่าว

การที่มี 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ทำให้สารีมองว่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองแน่นอน แต่ก็ไม่ควรมองว่าพรรคนี้ทำเรื่องนี้เพราะอยากได้คะแนนเสียง หรือพรรคนี้ไม่ทำเรื่องนี้
เพราะไม่สนใจประชาชน เพราะสุดท้ายแล้วก็จะแสดงจุดยืนของนักการเมืองให้เห็นว่า คุณเลือกที่จะอยู่ข้างประชาชน
หรือเลือกที่จะอยู่ข้างบริษัทสารเคมี ซึ่งประชาชนผู้บริโภคพร้อมที่จะเชียร์นักการเมืองที่อยู่ข้างสุขภาพของประชาชน
เราไม่พร้อมที่จะเชียร์พรรคการเมืองที่อยู่ข้างบริษัทสารเคมี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติ 423 – 0 เสียง สนับสนุนให้ประเทศไทยมีเกษตรกรรมยั่งยืน 100%
ในปี 2573 ในเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีนโยบายแบบนี้ ในทางปฏิบัติก็ต้องจริงจังด้วย เพราะฉะนั้นการที่ไม่ยกเลิกสารเคมี
จึงเรียกได้ว่าดีแต่พูด แต่ไม่ทำจริง และเรื่องนี้ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเหมือนกับพรรคร่วมรัฐบาล
มีความเห็นไม่ตรงกัน

สารี กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภค หรือเครือข่ายที่ทำเรื่องยกเลิก 3 สาร 600 กว่าองค์กร คิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสิทธิของ
เกษตรกรที่จะใช้สารเคมีอย่างเดียว แต่ความจริงเป็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภค เป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค
และเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เครือข่ายผู้บริโภคได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เสนอว่าเมื่อเกษตรกรยืนยันว่าสารเคมีกลุ่มนี้จำเป็น แต่ผู้บริโภคบอกว่าไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นก็ต้องให้โอกาสผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือก ด้วยการติดฉลากระบุแหล่งที่มาของสินค้า(Food Origin) มาจากจังหวัดไหน ใช้สารเคมีชนิดใด

ขณะเดียวกันก็มีสินค้าทางเลือกที่ไม่ได้ใช้สารเคมี เป็นเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ผ่านกระบวนการรับรอง
โดยชุมชน โดยองค์กรในประเทศ หรือต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิได้เลือกจริง และได้รับการคุ้มครองว่า
เมื่อบริโภคอะไรเข้าไปแล้วเราก็ควรจะมีความปลอดภัย ซึ่งรัฐมนตรีช่วยฯ มนัญญา ก็บอกว่าเห็นด้วยกับเรื่องนี้

เครือข่ายผู้บริโภคยังเสนอให้ผ่าตัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อสนับสนุนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืน
เพราะคนมักจะคิดว่าเรื่องเกษตรอินทรีย์จะผลิตเป็นการค้าไม่ได้ แต่สารียืนยันว่าสามารถทำได้จริง จากที่เคยฟัง
เครือข่ายเกษตรทางเลือก หรือเกษตรยั่งยืนพูดในเวที สามารถทำเกษตรอินทรีย์เป็นรูปธรรมได้ในทุกระดับ
แต่กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้มีกลไกไปสนับสนุนในเรื่องนี้เลย

ทั้งนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจมาก คือ การลดภาษีเครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือระบบที่จะช่วยสนับสนุนเกษตรกร
ให้ยืมเครื่องจักรไปใช้งาน โดยคิดค่าเช่าที่ถูกมาก เพื่อให้เกษตรกรนำเครื่องจักรมาใช้แทนสารเคมี หรืออีกแนวคิดหนึ่ง
คือเกษตรอินทรีย์จะมองว่าหญ้าไม่ใช่วัชพืช แต่คือสิ่งที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ย หรือคลุมดินให้ดินมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็น
ส่วนหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องผ่าตัด เพื่อให้มีระบบสนับสนุนให้มีการทดลองทำเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
แทนที่คิดแจกแต่สารเคมีเพียงอย่างเดียว

“กระทรวงเกษตรฯ ควรมีหน่วยงานที่ทำเรื่องเกษตรยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อทำให้เป้าหมายเรื่องพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นจริง ผู้บริโภคก็คาดหวังอยากเห็นประเทศไทยมีข้าวที่เป็นเกษตรอินทรีย์บริโภคในประเทศ 100% ไม่ใช่ข้าวที่มีแต่สารเคมี ขณะนี้ก็ตั้งเป้าหมาย ปี 2573 เราจะมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 100% ถ้าเราแค่พูด แต่ไม่มีหน่วยสนับสนุน ไม่มีคนไปทำงาน ไม่มีคนไปติดตาม มันก็เป็นเพียงนโยบาย แต่ไม่ได้ถูกปฏิบัติ” สารี กล่าว

สารี กล่าวว่า ปัญหามะเร็งของคนไทยปัจจุบันอยู่ในอัตราการเสียชีวิตสูง จึงควรที่จะต้องทบทวนเรื่องอาหารการกิน
เรื่องการบริโภคทั้งหลาย และคิดว่าต้องผ่าตัดกระทรวงเกษตรฯ อย่างจริงจัง โดยคิดเรื่องทางเลือกอื่นๆ แทนการใช้
สารเคมี ไม่ใช่แบน 3 สารนี้แล้ว ก็ไปใช้สารเคมีตัวอื่นอีก นี่ไม่ใช่ข้อเสนอของเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ หรือเครือข่าย
ผู้บริโภค เราอยากเห็นการทำเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ การใช้เครื่องมืออื่นๆ ในการทำการเกษตร มากกว่าการใช้
สารเคมีตัวใหม่ ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้บริโภคต้องช่วยกันผลักดัน เพราะรัฐบาลก็ยังเลือกข้างใช้สารเคมี เลือกข้างที่จะ
อยู่กับบริษัทสารเคมี เพราะฉะนั้นเราต้องผลักดันเรื่องติดฉลากให้สำเร็จ เพื่อคุ้มครองสิทธิของเราในฐานะที่เป็นผู้บริโภค

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *