จากแนวคิดเกษตรอินทรีย์ ที่ทำให้เกิด”สามพรานโมเดล” ขับเคลื่อนเข้าสู่ปีที่ 10 ล่าสุด มีการเปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Thai Organic Platform ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อินทรีย์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ประธานจัดงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 6 กล่าวว่า “สามพรานโมเดล” คือ โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ เป้าหมายคือเราอยากให้ทุกคนมีชีวิตที่สมดุล โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่เราให้เกษตรกรใน อ.สามพราน จ.นครปฐม หยุดใช้สารเคมี แล้วปลูกผลผลิตอินทรีย์ส่งมาขายเรา และเมื่อเรามีประสบการณ์ก็เริ่มขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ
เป็นการเชื่อมโยงให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กับกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร มาขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ด้วยกัน โดยที่เราดึงลูกค้าผู้บริโภคมามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งการทำแบบนี้ทุกคนก็ได้ประโยชน์ทั้งห่วงโซ่ ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกษตรกรก็ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต สุขภาพดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะไม่มีสารเคมีตกลงไปในดิน ในน้ำ ผู้ประกอบการก็ได้ประกอบธุรกิจที่ดี ได้วัตถุดิบที่ดี ในราคาที่เป็นธรรมไปบริการผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคก็มีสุขภาพที่ดี และได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตรงนี้ด้วย ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกันว่านี่คือทางออกของสังคมที่ยั่งยืน
ปีนี้ สามพรานโมเดล ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ ททท. สสปน. สกว. สสส. เซ็นทรัล และเกษตรกร จัดงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2562 ที่สวนสามพราน จ.นครปฐม ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ช้อปเปลี่ยนโลก….ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตสมดุล” เป็นงานรวมพลคนขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ มีสินค้าอินทรีย์มาจำหน่ายมากมายกว่า 100 บูธ
นอกจากนี้ ยังมีเวที 2 เวที โดยเวทีหลักจะเป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจ เป็นเรื่องราวการขับเคลื่อน หรือเสวนา จากคนที่ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ อาจเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ จังหวัดต่างๆ มาแชร์ประสบการณ์เพื่อให้คนได้แรงบันดาลใจ กลับไปปรับเปลี่ยน และมาร่วมขับเคลื่อนกับเรา
ส่วนเวทีรอง จะเป็นเวทีเวิร์คชอปให้ความรู้ มีตารางให้เข้าไปดูกิจกรรมได้ที่ Facebook : งานสังคมสุขใจ สวนสามพราน และปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดรถตู้รับส่งฟรี ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT หลักสอง หน้าเดอะมอลล์ บางแค (เฉพาะวันที่ 14-15) ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. และยังจัดที่จอดรถให้ผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวมา โดยใช้พื้นที่ลานจอดรถของโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์เป็นที่จอด และจัดรถไปส่งภายในงาน
ภายในงานยังมีการเปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เริ่มเปิดใช้ที่งานสังคมสุขใจเป็นครั้งแรก ชื่อว่า Thai Organic Platform ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้การเชื่อมโยง การเก็บข้อมูล การซื้อขาย ระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขยายผลได้ดีขึ้นด้วย
“เรื่องการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มนั้นเกษตรกรต้องปรับตัว ซึ่งคิดว่าเกษตรกรเขาเคยปรับตัวครั้งใหญ่แล้ว ตอนที่หยุดใช้สารเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นเรื่องยากที่สุดแล้ว และสมัยที่ตนเองทำงานกับเกษตรกรเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เกษตรกรก็ไม่เคยใช้สมาร์ทโฟน แต่ตอนนี้ใช้สมาร์ทโฟนกันหมด มีการปรับตัวเรื่องเทคโนโลยี เล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊กได้” อรุษ กล่าว
Thai Organic Platform จะช่วยเกษตรกรบันทึกข้อมูล คำนวณต้นทุน และประมาณการผลผลิตในแต่ละช่วงฤดู
เขาจะได้ทำเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การมีแพลตฟอร์มยังช่วยให้คนเห็นได้มากขึ้น
เห็นได้ทั้งประเทศ เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหรือลูกค้าของเขา
เพราะข้อมูลจะเป็นข้อมูลที่โปร่งใส และเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาดูได้
ส่วนผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ที่ซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์มาบริการลูกค้า ก็จะใส่ข้อมูลลงไปในแพลตฟอร์มว่าแต่ละสัปดาห์ซื้ออะไรบ้าง ผู้บริโภคก็จะเห็นข้อมูลนี้ จะทำให้เขามั่นใจที่จะเลือกไปใช้บริการที่ร้านอาหาร โรงแรม หรือร้านกาแฟที่มีวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรที่อยู่บนแพลตฟอร์ม หรือผู้บริโภคอาจเลือกไปทำกิจกรรมกับเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เพราะเกษตรกรอินทรีย์จะมีการประชุมกลุ่มทุกเดือน มีกิจกรรมแปลงที่เปิดกว้างให้ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมได้
อรุษ กล่าวว่า เมื่อมีแพลตฟอร์มทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น ทุกคนก็จะเจอกันง่ายขึ้น เห็นกันง่ายขึ้น ข้อมูลก็จะโปร่งใสถึงกันมากขึ้น ทุกคนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนี้ได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคมเป็นต้นไป เราอยากให้ทุกคนมาร่วมใช้ ร่วมเป็นเจ้าของ และร่วมพัฒนา เพราะเป็นช่วงที่เทสต์แพลตฟอร์ม เราจะได้นำฟีดแบ็คจากผู้บริโภคที่ทดลองใช้ไปปรับปรุงตัวแพลตฟอร์มต่อไป ส่วนการสั่งซื้อของจากแพลตฟอร์มนี้ มีการวางแผนไว้ว่าช่วงกลางปีหน้า ประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงจะซื้อขายได้ @