การค้าขายในยุคที่มีการแข่งขันสูง พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปมากจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องรู้จักใช้”นวัตกรรม” เพื่อทำให้สินค้าขายดีและมีกำไรมากขึ้น
มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า การแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาในตลาด และใช้เรื่องราคาที่ถูกกว่าเป็นจุดขายสินค้านั้น ผู้ประกอบการจะต้องลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อสู้เรื่องราคากับผู้ประกอบการรายใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามจูงใจให้ผู้ประกอบการรายเล็กหันมาสนใจนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่ง“นวัตกรรม”ก็คือการทำอย่างไรให้สินค้าของเราแตกต่าง และโดดเด่นกว่าสินค้าของคนอื่น
บางครั้งไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงถึงขั้นใช้วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีมาก เช่น การทำหีบห่อให้พอดี ก็อาจทำให้
ขายสินค้าดีขึ้น เดิมเราเคยขายสินค้าห่อละ 50 บาท ทำอย่างไรให้ขายได้ในราคาห่อละ 10 บาท หรือ 15 บาท
เป็นการทำราคาให้ต่ำลง และสำหรับคนที่มีกำลังซื้อมาก เราก็ใส่หีบห่อ 10 บาท 15 บาท มัดรวมเป็นแพ็กขาย
ในราคา 100 บาท แล้วแถมไป 1 ห่อ เป็น 11 ห่อ รายได้เราก็จะเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็น“นวัตกรรม”แบบง่ายสุด คือ
การลดขนาดแพ็กเกจจิ้ง เพื่อทำให้ราคาถูกลง
นวัตกรรมอีกอย่างก็คือ การเปลี่ยนแปลงกรรมวิธี และแหล่งการซื้อวัตถุดิบ เดิมเราซื้อวัตถุดิบจากที่ไหนเป็นประจำ
ก็จะมีคนมาแย่งซื้อ ทำให้วัตถุดิบนั้นมีราคาสูงขึ้น หรือไม่สามารถต่อรองให้ลดราคาได้ เราอาจต้องไปหาแหล่งซื้อใหม่
ซึ่งอยู่ไกลมากกว่าเดิม ก็อาจต้องพัฒนานวัตกรรมว่าด้วยการเก็บรักษาวัตถุดิบ หรือการขนส่งที่ทำให้ต้นทุนออกมา
ไม่แพง
ส่วนกรรมวิธีที่เราจะเก็บรักษา ถ้าเป็นพืชผลที่เกี่ยวกับเกษตร ราคาจะขึ้นกับฤดูกาล เพราะต้นฤดู หรือในฤดูกาล
สินค้าจะราคาถูก แต่ถ้านอกฤดูกาล ราคาจะแพง เพราะฉะนั้นห้องเย็น หรือกรรมวิธีจัดเก็บในรูปแบบต่างๆ เช่น
มะนาว ก็สามารถดำเนินการได้ ถ้าวางแผนให้ดี มีการลงทุนอย่างถูกวิธี เราก็สามารถบริหารต้นทุนอย่างสม่ำเสมอได้
และนวัตกรรมเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรมากกว่าการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องพยายามอย่างมาก คือ การสังเกตและไปพบปะผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา เพราะวันนี้
เทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก เปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และสื่อที่จะเข้าถึงผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย สมัยก่อนเวลาเราจะขายของ หรือออกสินค้าอย่างหนึ่ง ก็จะไปผ่านช่องทางการสื่อสารแบบหนึ่ง แต่วันนี้ทุกอย่างจะผ่านมือถือหมด
มีการทำวิจัยมาว่าคนไทยหยิบมือถือขึ้นมาวันหนึ่งประมาณ 400 ครั้ง แล้วใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง แต่ละครั้งที่ดู
ก็ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที ดังนั้นเราจึงต้องมาทบทวนความต้องการที่ลูกค้าเปลี่ยนแปลง เดิมสินค้าเราจะแข่งกัน
ภายในประเทศ แต่เดี๋ยวนี้การสั่งซื้อสินค้าต่างๆ อยู่ที่ปลายนิ้วมือ แล้วบริษัทขนส่งก็จะมาส่งถึงที่เลย ทำให้หลายคน
ต้องเผชิญหน้าการแข่งขันของตลาดต่างประเทศตามไปด้วย และสมัยนี้คนไม่ภักดีต่อตัวแบรนด์แล้ว ดังนั้น จะทำให้
เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก
“การเปลี่ยนแปลงของตลาดบางทีก็มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากกว่าวัฏจักรการผลิต ดังนั้น สิ้นปีนี้ขอให้มาดูกำไรขั้นต้นที่เรามีด้วยการวัดกำไร คือเอาที่ขายได้ตั้ง แล้วหักด้วยต้นทุน ถ้าขายแล้วยังมีกำไรมากกว่า 25% ก็ยังถือว่าดีอยู่ แต่ถ้าใครต่ำกว่า 25% ก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้นวัตกรรม หรือการแปรรูปอะไรหลายอย่างเข้าช่วยมากขึ้น แต่ถ้าใครถึงจุดที่ต่ำกว่า 15% ถือว่าเป็นจุดที่อันตราย จะถึงขั้นที่แย่ลงเลย” มงคล กล่าว
มงคล กล่าวว่า เมืองไทยหนีไม่พ้นในการใช้นวัตกรรม เพราะเมืองไทยนับวันจะมีค่าแรงสูงขึ้น และจะขาดแคลนแรงงานมาก เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และเราจะใช้แรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเศรษฐกิจเขาเติบโตกว่าบ้านเรา 2 เท่า ท้ายสุดแรงงานเหล่านี้จะกลับไปทำงานที่ประเทศตัวเอง เพราะค่าแรงประเทศเขาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ดังนั้น ต้นทุนตรงนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องใช้เครื่องเครื่องมือ เครื่องทุ่นแรกมากขึ้น จะใช้แรงงานเป็นหลักไม่ได้
และตลาดโลกข้างหน้าจะแข่งขันกันในเรื่องของสุขภาพ เพราะผู้บริโภคหลักข้างหน้าจะเป็นสังคมสูงวัย คนที่จะบริโภค
จะใช้สินค้าด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัย และสุขอนามัย เพราะฉะนั้นมาตรฐานจึงเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าสินค้าไม่ผ่านมาตรฐานสากลก็ยากที่จะขายสินค้าได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึง คือ การเปลี่ยนแปลงช่องทางของผู้บริโภค เพราะวันนี้ถ้าไม่เข้าช่องทางที่เรียกว่าส่งของบริการถึงที่แล้ว ก็จะไม่มีใครซื้อสินค้า หรือซื้อน้อยมาก เพราะกำลังซื้อส่วนใหญ่ไปอยู่ตรงนี้ มีคนหลักล้านที่ใช้บริการนี้ เพราะคนจะเริ่มคิดถึงต้นทุนเวลาขับรถออกไปซื้อสินค้าเอง ก็จะยอมเสียค่าส่ง แต่ได้รับความสะดวกสบายมากกว่า
ผู้ประกอบการจะต้องคิดเรื่องของการเงินด้วย เพราะการเงินในระบบสมัยใหม่จะต้องเข้าระบบภาษี ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ผ่านเพย์เมนต์ออนไลน์ ที่รัฐบาลสามารถตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากการตรวจสอบปริมาณการค้า การเสียภาษีต่างๆ ได้ ดังนั้น ทัศนคติเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วว่าไม่เข้าระบบภาษีก็ยังอยู่ได้ ไม่เข้าระบบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็อยู่ได้นั้น วันนี้การค้าในระบบออนไลน์ ถ้าไม่จดทะเบียน ไม่ขึ้นเป็นหลักฐานไว้ เขาก็ไม่รู้ว่าคุณทำจริง เป็นตัวจริงหรือไม่ ก็จะทำให้ยากที่จะเติบโตเช่นกัน ดังนั้น ก็อยากให้ทุกคนเตรียมตัว เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนทัศนคติเก่าๆ เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น @