ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ คือนำเข้าพลังงานมากกว่าส่งออก ในปีหนึ่งเรานำเข้าพลังงานคิดเป็นเงิน 1.4 ล้านล้านบาท แต่ส่งออกประมาณ 3 แสนล้านบาทเท่านั้น
มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตพลังงานได้ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าพลังงานเกือบทุกชนิดทั้งน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ขณะที่น้ำมันที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นในประเทศกลั่นได้เกินความต้องการ ส่วนน้ำมันดิบส่งออกน้อยมาก และเป็นน้ำมันดิบที่โรงกลั่นน้ำมันไม่อยากได้ เนื่องจากคุณภาพน้ำมันดิบส่วนนี้ไม่ตรงกับความต้องการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ผู้ประกอบการจึงส่งออกน้ำมันส่วนนี้ไปขายให้โรงกลั่นต่างประเทศที่มีความต้องการมากกว่า
ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงทางด้านพลังงานมากขึ้น เพราะแหล่งพลังงานในประเทศจะลดน้อยลง ส่วนที่เราผลิตได้ทั้งก๊าซและน้ำมันก็ลดลงไปเรื่อยๆ ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าก๊าซประมาณ 25% ของความต้องการก๊าซทั้งหมด และนำเข้าน้ำมันประมาณ 85% ของความต้องการทั้งหมด ในอนาคตเราก็อาจต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซ เกือบ 100% แม้กระทั่งการผลิตไฟฟ้า ต่อไปเราก็ต้องไปนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ประเทศไทยนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศลาว ต่อไปก็อาจต้องนำเข้าจากกัมพูชาและเมียนมา
เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าเกือบทุกประเภทที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศไทยนั้นเกือบสร้างไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะจะถูกต่อต้าน แม้กระทั่งเขื่อนก็สร้างไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ อย่างโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่ประเทศลาว ต่อไปแม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เราก็อาจจำเป็นต้องไปสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน
มนูญ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นตอนนี้ก็กลับมาเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่แล้ว หลังเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่น 2.0 แต่รุ่นใหม่ที่สร้างจะเป็นรุ่น 3.0 จะมีมาตรการที่ป้องกันดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทันสมัย และเข้มงวดมากขึ้น
ขณะที่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยในระยะหลัง จะพบแต่แหล่งเล็กๆ เพราะแหล่งใหญ่ๆ เราพบไปหมดแล้ว
ถ้าเราไม่สามารถหาแหล่งปิโตรเลียมใหญ่ๆ อย่างพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ยังมีปัญหาเรื่องเขตแดนและไม่สามารถ
ตกลงกันได้ ทำให้ชะงักงันมาร่วม 20 ปีแล้ว เราก็จะไม่มีปิโตรเลียมในประเทศ
การบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศจะมีหัวใจสำคัญอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งภาคขนส่ง ภาคคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม จะทำอย่างไรให้การใช้ได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด ส่วนภาคการบริโภคก็คือภาคประชาชน ก็ต้องเข้าใจว่าพลังงานเป็นทรัพยากรที่มีค่า และเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลภาวะออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย ยิ่งเราใช้เยอะ มลภาวะก็ยิ่งเยอะ
“การที่เราเรียกร้องว่าพลังงานต้องราคาถูก ต้องให้มีใช้มากๆ ก็จะต้องระมัดระวัง และใช้สอยอย่างประหยัด ต้องให้เกิดความสมดุล เราไม่ได้หวังให้พลังงานราคาแพง แต่การเรียกร้องให้ราคาถูก โดยไม่ได้ดูว่าจริงๆ แล้วพลังงานมันมีราคาของมันเอง มันมีราคาอยู่ในตัว แล้วเราไปเรียกร้องให้รัฐจะต้องจัดหาให้ในราคาถูกจนเกินไป จะทำให้การใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากขึ้น และเกิดมลภาวะมากขึ้น และในฐานะประเทศผู้นำเข้าพลังงาน เรายิ่งใช้มากก็ยิ่งต้องนำเข้ามาก ก็สูญเสียเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศ”
อีกเรื่องคือการจัดหาพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล เป็นพลังงานทางเลือก ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้เราลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลลง และจะเป็นทางเลือกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องมลภาวะ การใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง และการที่เราพึ่งพาการนำเข้ามากจนเกินไป
พลังงานทางเลือกนั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ ซึ่งก็คือพวกก๊าซที่มาจากของเสียต่างๆ พลังงานชีวพืช ที่เอาพืชต่างๆ มาทำเป็นพลังงาน เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล แต่พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับบ้านเรามีอยู่ 2-3 อย่างเท่านั้น อย่างพลังงานลมอาจไม่เหมาะสม เพราะบ้านเราลมไม่แรง และมีพื้นที่เหมาะสมทำกังหันลมอยู่ไม่กี่แห่ง
สิ่งที่เหมาะสมกับบ้านเรา น่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะบ้านเรามีพื้นที่รับแสงอาทิตย์เยอะ อย่างที่สองคือพลังงานชีวมวล ซึ่งพวกไม้ เศษวัสดุเหลือใช้ เศษวัสดุทางการเกษตร ขยะ ไม้โตเร็ว ถือเป็นชีวมวลหมด ถ้าเราเน้นเรื่องการเอาขยะมาทำประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า และกำจัดขยะไปด้วย ก็สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องขยะล้นเมือง แก้ปัญหาขยะพิษ การปล่อยมลภาวะ น้ำเสีย ออกมาทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้
และอย่างที่สาม คือ เรื่องชีวพืช พลังงานชีวภาพ เอาน้ำเสียมาทำเป็นไบโอแก๊ส เอาพวกเอธานอล ไบโอดีเซลมาทำเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น
มนูญ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพยายามเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนไปตามชุมชนต่างๆ เช่น เรื่องโซลาร์ ตอนนี้ก็มีโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนติด “โซลาร์ รูฟท็อป” บนหลังคาบ้าน ให้มีพลังงานใช้เอง และส่วนที่เหลือก็อาจขายเข้าระบบ ที่เราเรียกว่า Prosumer คือผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานในเวลาเดียวกัน
นอกจากนั้นมี เรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ซึ่งกรมการปกครองเป็นเจ้าภาพ โดยกรมการปกครอง และ
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จะร่วมมือกับ อปท. อบต. องค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินการว่า
จะส่งเสริมให้ชุมชนมาดำเนินการเรื่องโรงไฟฟ้าจากขยะอย่างไร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการอยู่
ส่วนการทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ก็มีโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานให้แก่สื่อมวลชน และต้องการจัดตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนขึ้นมา เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถที่จะประสานงานร่วมกับ กกพ. เพื่อที่จะไปขับเคลื่อนให้ชุมชน หรือประชาชน ได้เข้ามาร่วมมือกันในการทำกิจการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ หรือโรงไฟฟ้าจากขยะ โดยจะจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ใน 6 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย @