ในยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตผ่านโลกออนไลน์ ทุกอย่างสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน ดังนั้น การเข้าสู่”ถนนดิจิทัล” จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะต้องมีการ”คิดใหม่ ทำใหม่”
มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งรวมถึงประเทศไทย มีประชากรรวมกันประมาณ 360 ล้านคน พบว่า 90% จะใช้สมาร์ทโฟนในการทำงาน ดูหนัง
ฟังเพลง สนทนากับเพื่อนและครอบครัว ที่สำคัญคือการสั่งซื้อของออนไลน์ สั่งอาหารออนไลน์ สั่งรถออนไลน์
รวมทั้งการใช้ออนไลน์เพื่อการชำระเงินและโอนเงิน จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ต หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล ในภูมิภาคนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลายคนที่ยังไม่ได้เข้าถนนดิจิทัล จะต้องรีบเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะ
“ตกขบวนรถไฟ”
มูลค่าทางเศรษฐกิจของดิจิทัลในเมืองไทยในปีที่แล้ว ประเมินว่าสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท
ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เรื่องนี้จึงเป็นธุรกิจที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะเห็นได้ชัดว่า
การชำระเงินผ่านช่องทางที่เรียกว่า “ดิจิทัลเพย์เมนต์” เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เพราะการโอนเงินหรือฝากเงิน หรือชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่งผลทำให้บริการเรียกรถออนไลน์
บริการส่งอาหาร หรือการซื้อขายอีคอมเมิร์ซ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศ
อย่างมีนัยสำคัญ และกว่าครึ่งของตลาดวันนี้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ได้ผ่านจุดนี้ไปแล้ว ดังนั้น ประตูของเศรษฐกิจดิจิทัล
จึงเป็นบริการทางการเงิน ที่ทำให้พื้นที่ของธุรกิจดิจิทัลนั้นเติบโต
มงคล กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่จะก้าวไปสู่การให้ธุรกิจบริการ การให้สินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมา เอสเอ็มอีร้อยละ 80 ส่วนใหญ่
จะเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ต้องไปใช้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อเช่าซื้อ หรือสินเชื่อที่เรียกว่าจำนำรถ
เพราะข้อมูลประกอบพื้นฐานในการทำธุรกิจนั้นไม่มีประวัติ หรือไม่มีเอกสาร ไม่มีการทำบัญชี หรือการยื่นภาษีไว้เลย
แต่กรณีเศรษฐกิจดิจิทัล คนที่เข้าระบบ สมมติถ้าเป็นร้านอาหารจะเห็นได้ชัดเจนว่า ฟู้ดเดลิเวอรี่ที่สั่งอาหารมีกี่ราย
มาจากลูกค้าที่ไหนบ้าง ข้อมูลจะชัดเจนว่ารายได้สม่ำเสมอหรือไม่ ดังนั้นการขอสินเชื่อ หรือจะขยายกิจการ
ก็สามารถให้ข้อมูลธนาคารได้
แล้ววันนี้ การให้บริการสินเชื่อก็จะเปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะเป็นธนาคาร หลายคนรับทราบมาว่ากลางปีนี้ Grab
ซึ่งเป็นบริการส่งอาหาร และเรียกรถ จะเปิดธนาคารของอาเซียนขึ้นมา โดยสำนักงานใหญ่จะอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
แล้วจะใช้ข้อมูลที่มีร่องรอยในธุรกิจดิจิทัล ทั้งการเรียกรถ การสั่งอาหาร รวมทั้งการชำระเงิน การสั่งซื้อของต่างๆ
ในการให้สินเชื่อ
“ถ้าใครทำธุรกิจแล้วไม่อยู่ในระบบนี้ หรือเข้าไม่ถึงระบบนี้ก็จะตกรถไฟ เหมือนหลายปีที่ผ่านมา เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงการเงิน คือ ไม่ทำบัญชี ไม่เสียภาษี ผมจึงเชิญชวนเอสเอ็มอีว่า วันนี้ เศรษฐกิจดิจิทัล มันเริ่มจะเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจปกติแล้ว ยิ่งรายเล็กทั้งหลายยิ่งมีความจำเป็นที่จะปรับธุรกิจของตัวเองเข้าสู่ถนนดิจิทัล คือเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนี้ เพราะข้างหน้าไม่เพียงแต่มีบริการการเงินที่เป็นธนาคาร หรือธุรกิจเช่าซื้อต่างๆ ตอนนี้จะมีฟินเทค มีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีของผู้บริโภค ที่จะใช้เรียกรถ หรือซื้อของต่างๆ” มงคล กล่าว
การยกระดับธุรกิจให้ผ่านสมาร์ทโฟน เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นที่อยู่ในมือถือ จะทำให้ผู้บริโภคจะใช้งานง่าย
ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เพิ่มขึ้น แล้วก็มีตัวเลือกมากขึ้น ความเชี่ยวชาญในเรื่องพวกนี้ หรือการสร้างประสบการณ์
กับผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
มงคล กล่าวว่า การที่เอสเอ็มอีไม่ชอบเข้าระบบ เพราะทุกคนมีความเชื่อว่าการไม่เข้าระบบจะเกิดต้นทุนที่ต่ำกว่า
ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทัศนคติ และความรู้ที่มีอยู่ ทั้งที่ความจริงแล้วตรงกันข้าม คนที่เข้าระบบส่วนใหญ่จะมีความมั่นใจ
ยอดขายและกำไรก็จะเพิ่มขึ้น
ถ้าเราทำธุรกิจกันแบบง่ายๆ ไม่มีระเบียบ ไม่วินัย ไม่มีกฎเกณฑ์ ต่อไปความง่ายเหล่านี้จะกลายเป็นหอก
ย้อนกลับมา ที่จะทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพ หรือเกิดการทุจริตของผู้ร่วมงาน หรือลูกจ้างได้ เพราะ
เราไม่มีระบบควบคุม และไม่มีข้อมูลปรากฏยืนยันหรือตรวจสอบได้ บางครั้งดูเหมือนว่าเป็นธุรกิจเรา
แต่ลืมนึกไปว่าเราจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอีกหลายฝ่าย เช่น ลูกจ้าง ลูกค้า ซึ่งลูกค้าสำคัญที่สุด วันนี้
ความเป็นมาตรฐาน หรือความไว้วางใจได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าร้านจะรับแต่เงินสด ไม่รับเงินผ่านบัตร
ไม่รับโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่น เพราะต้องการหลบภาษี ต่อไปลูกค้าก็คงไม่ไปใช้บริการ
เวลาที่จะขยายกิจการ เปิดสาขาเพิ่ม หรือจะลงทุนซื้อเครื่องมือ สถาบันการเงินจะดูร่องรอยการเงินผ่านทาง
ระบบการชำระเงินทางอีคอมเมิร์ซ หรือออนไลน์ จึงขอเรียกร้องผู้ประกอบการว่ามาใช้ระบบการวางแผน
ทางภาษีดีกว่า เพราะการวางแผนทางภาษีจะทำให้เกิดการประหยัด ประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องหลบหนีภาษี
และถ้ามีการหนีภาษี แล้วเจ้าหน้าที่ตรวจเจอ จะถูกปรับถึง 3 เท่า แล้วมีโทษทางอาญาด้วย ถ้ามีการปลอมแปลงเอกสาร
ถ้าธุรกิจมีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาท/เดือน หรือมีเงินหมุนเวียนไม่เกิน 200,000 บาท/เดือน มงคลแนะนำว่า
ไม่ต้องทำบัญชี หรือไม่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ถ้าธุรกิจมีรายได้เกิน 150,000 บาท/เดือน หรือ
มีเงินหมุนเวียนเกิน 200,000 บาท/เดือน การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะเป็นประโยชน์มากกว่า และใช้
ข้อเท็จจริงทางด้านสภาพแวดล้อมที่สามารถวางแผนทางด้านภาษีต่างๆ ควบคุมการตัดสินใจทางข้อมูลต่างๆ
ควบคุมเรื่องทุจริต การรั่วไหลต่างๆ ได้มากกว่า และต้นทุนในการทำบัญชีสมัยนี้ก็ไม่แพง อีกทั้งสามารถใช้
แอปพลิเคชั่นได้ด้วย ซึ่งการเข้าถึงแอปฯ ในปัจจุบันนั้นไม่ยาก และต้นทุนก็ไม่แพง
มงคล กล่าวว่า การเข้าสู่ระบบภาษีดีแน่นอน และปีนี้รัฐบาลจะมีของขวัญให้เอสเอ็มอีเป็นระลอกๆ ใครที่
เตรียมการทั้งเข้าถนนดิจิทัล และเข้าสู่ระบบ ก็จะเป็นโอกาสในการคิดใหม่ ทำใหม่ แล้วก็อยู่รอด และมีความ
ยั่งยืนของกำไรได้ ทั้งนี้ ธุรกิจที่อยู่ในดิจิทัลที่สามารถยกระดับตัวเองเป็น 4.0 โดยใช้เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์
ที่เรียกว่านวัตกรรม หรืองานวิจัยต่างๆ เข้ามาเสริมตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ก็จะสามารถสร้างผลกำไรในระยะยาว
ได้เป็นอย่างมาก จะได้กำไรมากกว่า 25% ต่อยอดขายอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีจึงจำเป็นต้องเข้าสู่ถนนเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ ซึ่งต้องคิดใหม่ ทำใหม่ แล้วอย่าไปรอช้า วันนี้
เราจะต้องเข้าไปทำงานในธุรกิจมือถือตรงนี้อย่างแท้จริง ที่สำคัญคือการเข้าถึงและบริการทางการเงินเหล่านี้
จะเปิดโอกาสให้กับธุรกิจที่เกิดใหม่ด้วย ดังนั้น เราถ้าไม่นำเสนอ หรือปรับปรุงในสิ่งเดิม เราก็จะอยู่ยาก