ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ก่อนที่จะกลายเป็นคนตกยุค หรือถูกเทคโนโลยีไล่ล่าจนไม่มีที่ยืน
ทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI กล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ว่า เราเริ่มใช้ชีวิตอยู่กับเอไอ ที่มีความฉลาดซึ่งถูกฝังอยู่ในเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ แล้วก็ทำงานแทนคน และ
ความฉลาดของเอไอก็จะนำเอาข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ ใช้เทคโนโลยีทำให้มันมีความคิดได้เอง ซึ่งก็จะมีผลกับ
หลายๆ อย่าง
เช่น เวลาเราใช้งานแอปพลิเคชั่น หรือโปรแกรมอะไรอยู่ เราก็จะเริ่มเห็นว่าหน้าตาของมันไม่ได้เหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลา แต่จะปรับตามเรา เราชอบแบบไหนมันจะปรับเข้าหาเรา และจะไม่ได้เป็นแบบเดียวแล้วใช้กับทุกๆ คน หรือ เรื่องแชทบอท เวลาเราเข้าไปซื้อของออนไลน์แล้วคุยกับแม่ค้า ตอนนี้เรายังพอจับได้ว่าไม่ได้คุยกับคน แต่ต่อไปเราจะเริ่มจะจับไม่ได้ เพราะเขาจะใส่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปผสมด้วย จนถึงจุดหนึ่งเราจะไม่รู้ว่านี่คือเอไอ
เอไอจะเริ่มเก่งขึ้นเรื่อยๆ และมีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น เช่น การใช้จีพีเอสในการขับรถ ซึ่งเอไอจะเก่งขึ้น ฉลาดมากขึ้น และเริ่มแยกไม่ออกว่าเป็นเอไอ เพราะมันเริ่มแสดงความรู้สึกได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรามีความรู้สึกว่าเอไอเป็นเสมือนคนหนึ่งคน เมื่อจุดนั้นมาถึง คนบางคนหรือบางตำแหน่งอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะใช้เอไอแทนได้
ทินกรเตือนคนที่ทำธุรกิจว่า ถ้าเราอยู่ในธุรกิจอะไร ก็พยายามดูว่า Platform Business Model แพลตฟอร์มไหนที่จะมีผลกระทบกับเราทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เช่น แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เป็นแง่บวกกับหลายคน แต่ก็เป็นแง่ลบกับอีกหลายคน ซึ่งตนเองไม่ได้เชียร์ให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม ด้วยปัจจัยต่างๆ เขาอาจคิดว่าเขาเหมาะกับแบบที่เป็นอยู่ แล้วการเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จหมด
แพลตฟอร์มที่มีร้านอาหารเข้าไปอยู่เยอะๆ แต่ละคนก็ต้องแข่งขันกัน ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องดีใจ
อยู่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือทุกร้านก็ต้องมาแข่งกันโฆษณาบนแพลตฟอร์มนี้ แข่งกันให้ส่วนลด ในช่วงแรก
เจ้าของแพลตฟอร์มก็จะช่วยเจ้าของร้านออกค่าส่วนลดให้ เพื่อที่คนจะได้มาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้เยอะๆ
เมื่อมีคนใช้แพลตฟอร์มนี้เยอะแล้ว เจ้าของแพลตฟอร์มก็จะไม่ง้อเจ้าของร้านแล้ว และจะถามเจ้าของร้านว่า
จะโฆษณาหรือไม่ ถ้าโฆษณาจะได้อยู่อันดับดีๆ ถ้าไม่โฆษณา ร้านก็ยังคงอยู่ในระบบ แต่ออเดอร์อาจลดลง
ซึ่งบางคนก็ยอมทำส่วนลด บางคนก็ไม่ยอม ทำให้ตัดสินใจยากมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เราทำแบบนี้ถูกหรือไม่
ที่ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม หรือวันหนึ่งที่เขาบอกเราต้องโฆษณา เราควรจะโฆษณาหรือไม่โฆษณาดี
ดังนั้น เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับแพลตฟอร์ม แล้วตัดสินใจว่าเหตุการณ์แบบไหนจะเหมาะกับเรา
เช่น บางร้านที่เขาขายบรรยากาศในร้านแบบสวยงาม สงบ นั่งชิลๆ แต่ร้านก็มีบริการแบบเดลิเวอรี่
มีรถจักรยานยนต์มารอรับของยืนเต็มหน้าร้าน 10 คน 20 คน ถ้าเราเป็นลูกค้าไปถึงแล้วเราอยากจะเดิน
เข้าไปในร้านหรือไม่ หรือเวลาเราสั่งอาหาร ปกติ 3 นาที 5 นาที ก็จะได้ของ ตอนนี้เราอาจต้องรอ 20 นาที
เราต้องเรียนรู้ว่ากำลังเกิดสิ่งไหนอยู่ ส่วนที่มีผลกระทบกับเรา เราก็ต้องตัดสินใจให้ถูกว่าจะเลือกทำแบบไหน
บางร้านอาจไม่ใช่ร้านที่เราจะไป เพราะไม่เหมาะกับเรา เขาอาจขายดีกับขายออนไลน์ บรรยากาศที่เราจะไป
นั่งทานอาหาร หรือขับรถไม่สะดวก บางร้านรู้แล้วก็ตัดสินใจว่าไม่เข้าแพลตฟอร์มก็มี ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ต้องเข้าใจ
ให้ชัดเจน และทุกคนควรจะเรียนรู้ว่าแพลตฟอร์มนั้นเป็นอย่างไร
“การเป็นแพลตฟอร์มไม่ใช่ว่าดีทั้งหมด คนในวงการดิจิทัลจะคุยกัน มันมีคำที่เรียกว่าการสูญเสียเอกราชทางดิจิทัล ก็คือสูญเสียให้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามา หลายๆ แพลตฟอร์มที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยก็จะกระทบกับคนที่ทำธุรกิจคล้ายกันในเมืองไทย หรือบางส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วต้องล้มหายตายจากไป เพราะฉะนั้นในมุมหนึ่ง เขาก็มาทำลายธุรกิจไทยบางธุรกิจ แล้วแพลตฟอร์มต่างประเทศบางแพลตฟอร์มก็มีเงื่อนไข มีข้อได้เปรียบบางอย่าง เราเองจะใช้บริการของแพลตฟอร์มไหน อาจต้องพยายามคิดให้มากหน่อย”
ทินกร กล่าวว่า ATSI พยายามรณรงค์ ถ้าใครทำด้านดิจิทัล ทำแพลตฟอร์มของไทยอยู่ ก็อยากให้ติดต่อมาทาง
สมาคม เพื่อที่เราจะได้รวบรวมแพลตฟอร์มคนไทย เช่น เวลาเราไปคุยกับภาครัฐ หลายครั้งจะถูกถามกลับมาว่า
แพลตฟอร์มไทยมีใครบ้าง ทางสมาคมจะได้ยื่นรายชื่อไปให้ภาครัฐ เพราะปัจจุบันยังค่อนข้างกระจัดกระจายกันอยู่
สำหรับแพลตฟอร์มต่างชาติอย่าง กูเกิล และเฟสบุ๊ก 2 รายนี้มีผลกระทบต่อธุรกิจสื่อในไทย เพราะรายได้ของ
การโฆษณาในประเทศไทย เกินครึ่งไปอยู่ที่ 2 บริษัทนี้ และยังมีประเด็นเรื่องภาษี ที่ส่วนใหญ่เก็บไม่ได้ แต่กลับกัน
ถ้าเป็นธุรกิจไทย หรือแพลตฟอร์มไทยต้องเสียภาษีแน่นอน ก็จะมีความเหลื่อมล้ำตรงนี้อยู่ ซึ่งในหลายๆ ประเทศ
ก็ทำกันหลายๆ แบบ ล่าสุด เพิ่งได้ข่าวเมื่อต้นปีว่า ประเทศมาเลเซียมีการประกาศใช้ภาษีดิจิทัลแล้ว ในส่วนของ
รัฐบาลไทยก็พยายามอยู่ แต่การจะตัดสินใจอะไร ก็ต้องคิดซับซ้อนหลายขั้นตอนพอสมควร
ส่วนเรื่อง Data Privacy ทินกร กล่าวว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ แต่การรับรู้ของประชาชน
ยังไม่มากพอ หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าจะมีผลกระทบอะไรกับตัวเอง ซึ่งความจริงแล้วกฎหมายนี้จะมีความเกี่ยวข้อง
มากเลยทีเดียว เพราะเป็นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลของบุคคลที่ให้กับธุรกิจต่างๆ
ธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ที่มีข้อมูลของบุคคล จะมีหน้าที่มากขึ้นตามกฎหมายว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะสม เช่น
ร้านค้าทั่วไปที่มีระบบสมาชิก ก็ต้องขอข้อมูลลูกค้า เขาต้องแจ้งทางกฎหมายก่อนว่า จะขอสิทธิพวกนี้ แล้วจะเอา
ข้อมูลไปทำอะไรบ้าง ต้องขอให้ลูกค้ามอบสิทธินั้นก่อน กระบวนการจะรับข้อมูลลูกค้าก็จะยากขึ้น ถ้าจะให้ถูกต้อง
ตามกฎหมาย 100%
นอกจากนี้ยังมีเรื่องทางเทคนิคอีกว่า ข้อมูลที่ได้มาจะต้องจัดการอย่างไร จะมีข้อกำหนด เช่น คุณต้องสามารถ
ลบข้อมูลของคนๆ นั้นได้ทั้งหมด ถ้าถูกร้องขอให้ลบ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ง่ายอย่างนั้น และคำว่าข้อมูลของแต่ละธุรกิจ
แต่ละอุตสาหกรรม ก็จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น
ทินกร กล่าวว่า มีคนมาถามว่าเวลาออกใบเสร็จ ใบกำกับภาษีแล้ว ขอชื่อที่อยู่ของลูกค้า ถ้าเขาให้ลบออก จะทำ
อย่างไร ถ้าทางร้านไม่เก็บประวัติไว้ ก็จะถูกสรรพากรต่อว่าที่ไม่เก็บประวัติใบเสร็จ ก็จะขัดแย้งกัน ในทางปฏิบัติ
ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา แล้วทำให้คนที่เกี่ยวข้องเริ่มจะวางตัวลำบาก อีกทั้งเป็นการเปิดช่องให้คนบางกลุ่ม
ที่รู้ว่ามีช่องว่าง ก็จะไปไล่ฟ้อง ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายได้ @