ศก.ไทยจะทรุดยาวแค่ไหน ไวรัสอู่ฮั่น..ปัจจัยหลักชี้ชะตา?

สถานการณ์ไวรัสอู่ฮั่นที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการแพร่ระบาด

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ถ้าใช้สมมติฐานว่าการแพร่ระบาด
ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน น่าจะควบคุมได้ ผลกระทบก็จะมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้
ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งปีจะหดตัว เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงต่ำ ขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินกันไว้

ดร.เชาว์ เก่งชน

อย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เคยคาดการณ์ปีนี้ เศรษฐกิจจะโตที่ 2.8% ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ขยายตัวปีนี้ 2.7% โดยให้กรอบล่างที่ 2.5% ซึ่งก็อาจไปแตะกรอบล่าง หรืออาจจะหลุดกรอบล่าง แต่ไม่น่าจะเป็นภาวะถดถอย หรือหดตัวสำหรับทั้งปี เบื้องต้นถ้าอยู่ในช่วงไม่เกิน 3 เดือน ตัวเลขก็อาจไป 2.5% หรืออาจหลุดกรอบ 2.5% ยังอยู่ที่หลายๆ ปัจจัยด้วย

ประเด็นแรกคงต้องติดตามเคสของการแพร่ระบาดใหม่รายวัน ตัวเลขนี้น่าจะสำคัญที่สุด เพราะจะชี้ว่าสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมได้ดีเพียงใด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความสนใจกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีการรายงานทุกวัน โดยแยกรายละเอียดเป็นที่อยู่ในมณฑลหูเป่ย ซึ่งมีเมืองอู่ฮั่น ที่เป็นจุดตั้งต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า กับนอกมณฑลหูเป่ย

ถ้านอกมณฑลหูเป่ย มีการแพร่ระบาดของเคสใหม่ในอัตราที่ชะลอลง ก็แปลว่าการแพร่ระบาดจำกัดพื้นที่ได้ในเฉพาะหูเป่ยเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความรุนแรงหรือโอกาสที่สถานการณ์จะลากยาวน่าจะจำกัด แต่ถ้าเคสใหม่เพิ่มในอัตราที่ไม่ลดลงเลยจากมณฑลหนึ่งไปอีกมณฑลหนึ่ง นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง ดังนั้น เราติดตามตัวเลขนี้ทุกวัน

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกมณฑลหูเป่ย และผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกประเทศจีน ซึ่งนอกประเทศจีน ขณะนี้
จะอยู่ที่หลัก 10 เท่านั้น แต่นอกมณฑลหูเป่ยตอนนี้อยู่ที่ 600 กว่าคน ซึ่งลดลงติดต่อกันประมาณ 3 วันแล้ว
จากที่เคยอยู่เกือบ 900 คน ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อวานนี้ก็ลดลงเหลือ 696 คน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราคิดว่า
สำคัญ เพราะจะบอกระยะเวลาของเหตุการณ์และขอบเขตของการแพร่กระจายของโรคนอกมณฑลที่รัฐบาลจีน
พยายามจะควบคุม

ถ้ายังลดลงเรื่อยๆ จะเป็นสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะที่คาดกันว่าไวรัสจะฟักตัวอยู่ในผู้ป่วยประมาณ 14 วัน ดังนั้น
ระยะเวลาที่ติดตามตัวเลขนี้อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ก็น่าจะเห็นภาพแล้วว่าเหตุการณ์นี้จะอยู่ภายใต้การควบคุม
ได้ดีเพียงใด

“ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าไม่เกิน 3 เดือน ผลกระทบหลักคงเป็นเรื่องการท่องเที่ยว หลังจากนั้นเหตุการณ์คลี่คลายลง ถือว่าเป็นผลกระทบแค่ระยะสั้น ไม่น่าจะมีผลข้ามไปถึงภาคอุตสาหกรรมในระดับที่มากนัก ถ้าผลจำกัดอยู่ที่การท่องเที่ยว แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวคงหายไป และรายได้จากการท่องเที่ยว เราประเมินในกรอบไม่เกิน 3 เดือน รายได้หายไป อาจประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย คงจะอยู่ในช่วงประมาณ 2% หรือ 2.5% แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ มาเป็นตัวประกอบด้วย”

ดร.เชาว์ กล่าวว่า ถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสไม่เกิน 3 เดือน ก็จะมีผลกระทบในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงไปแย่มากๆ
แต่ถ้าเกิน 3 เดือน ก็คงต้องมานั่งดูกันอีกครั้ง เพราะยิ่งนาน ผลกระทบจะไม่ได้ผ่านช่องทางการท่องเที่ยวอย่างเดียว
ในกรณีที่จำนวนการแพร่ระบาดออกไปนอกมณฑลหูเป่ย ยังเพิ่มในอัตราที่ไม่ลดลง ส่วนหนึ่งจะกระทบการผลิต
ในภาคอุตสาหกรรมของจีน หรือกระทบการค้าขายในซัพพลายเชนระหว่างไทยจีน ก็จะเป็นกรณีที่มีผลด้านการค้า
มาซ้ำเติมผลด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ขณะนี้เราให้น้ำหนักไปที่กรณีไม่เกิน 3 เดือนก่อน และติดตาม
ตัวเลขเป็นรายวัน

ส่วนเรื่องความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้า ดร.เชาว์ กล่าวว่า ปกติงบตัวที่จะมีผลต่อ
เศรษฐกิจคือเม็ดเงินการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาล ซึ่งขนาดของงบลงทุนในไตรมาสหนึ่ง เฉลี่ยแล้วประมาณ
แสนล้านบาท ถ้าเป็นรายเดือนก็ประมาณสามหมื่นล้านบาท ดังนั้นถ้าการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าออกไป
1 เดือน ก็ส่งผลต่องบลงทุนเฉลี่ย สามหมื่นล้านบาทต่อเดือน ยิ่งล่าช้าไปไตรมาสหนึ่ง ก็เป็นแสนล้านบาทได้

ก็เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่เราติดตามอยู่ อย่างไรก็ดี ตัวงบประมาณถ้าล่าช้าไม่มาก รัฐบาลมีความเป็นไปได้ว่า
ในช่วงที่เหลืออาจมีมาตรการกระตุ้นอะไรออกมาชดเชยได้ในภายหลัง ดังนั้นผลกระทบรายเดือนที่กล่าวข้างต้น
ก็เป็นผลกระทบเฉพาะในช่วงแรก ถ้ารัฐบาลดำเนินการได้ทันและมีเวลาพอที่จะมีมาตรการกระตุ้นออกมาในภายหลัง
ผลกระทบทั้งปีก็คงจะน้อยลงไป

ส่วนการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1% ดร.เชาว์ กล่าวว่า เมื่อมีผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ธปท. โดย กนง.ก็ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ
ซึ่งเรามองเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยว่าเป็นมาตรการที่ช่วยผ่อนคลายภาระของคนที่ต้องแบกเรื่องหนี้อยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี หรือบุคคลธรรมดาซึ่งมีภาระหนี้อยู่แล้ว แล้วเจอสถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดไม่ถึง
อย่างนี้ การลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยลดภาระของเขาลงได้

สำหรับเรื่องค่าเงินบาท ดร.เชาว์ กล่าวว่า แม้เราจะเจอเรื่องไวรัส หรือ เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว แต่ดุลการค้า
ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็ยังเกินดุลอยู่ ฉะนั้นเราเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงน่าจะถึงจุดนี้สักประมาณ 4% จาก
ปลายปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะสะท้อนประเด็นข้อกังวลของตลาดต่อทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือแนวโน้มอัตรา
ดอกเบี้ยของประเทศ

แต่กรอบการอ่อนค่าน่าจะจำกัด และคงไม่ได้เจอภาวะผันผวนรุนแรง เมื่อเทียบกับปี 2540 ที่ตอนนั้นเรา
ขาดดุลการค้ามาก หนี้ต่างประเทศก็มีเยอะกว่าทุนสำรอง ดังนั้น ถึงจะมีประเด็นที่กระทบเศรษฐกิจ ทำให้
เงินบาทอ่อนค่ามาก แต่ไม่น่าจะนำไปสู่ปัญหาไร้เสถียรภาพเหมือนกับที่ผ่านมาในปี 2540 ตอนนี้ระบบ
ทุกอย่างไม่เหมือนกัน สมัยโน้นอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว โอกาสที่จะโจมตี
ค่าเงินบาทในลักษณะอย่างนั้นก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว

ดร.เชาวน์ สรุปว่าเรื่องไวรัสโคโรน่านั้น จะให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ คิดว่าภายในช่วง
1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ภาพน่าจะชัดขึ้นว่าขนาดของกรอบการแพร่ระบาดนอกมณฑลหูเป่ยอยู่ในลักษณะที่
ควบคุมได้ หรือยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง ถ้าควบคุมได้สมมติฐานที่เราใช้กันไม่เกิน 3 เดือน น่าจะยืนได้
ก็จะเป็นผลกระทบระยะสั้น หลังจากนี้เราก็คงผ่านเรื่องนี้ไป ก็อาจมีตัวเลขไตรมาสแรกที่ดูแย่หน่อยของปีนี้
และคงจะดีขึ้นในไตรมาสถัดๆไป แต่ถ้าการแพร่ระบาดไม่เป็นอย่างนั้น ยังไปในอัตราที่ไม่ลดลง ก็คงต้อง
ติดตามกันต่อไป  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *