กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนผู้ประกอบการโลจิสติกส์สมัครเข้าประกวดรางวัล ELMA เพิ่มความน่าเชื่อถือ พัฒนาศักยภาพองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สัดส่วนโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 13.8% ซึ่งโครงสร้างต้นทุนด้านค่าขนส่งสินค้าของไทยค่อนข้างสูง คือ 7.5% ต่อจีดีพี
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทางมาตรฐานสากลจะใช้ LPI หรือ Logistic Performance Index ซึ่งใช้กันทั่วโลก ในปี 2018 ที่มีการวัดดัชนีชี้ประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์ ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 32 ของโลก ขึ้นมา 13 อันดับ จากอันดับที่ 45 ในปี 2016 รอดูของปี 2020 ว่าจะมีการวัดอีกหรือไม่ ซึ่งคิดว่าถ้ามี LPI ประเทศไทยก็น่าจะดีขึ้น
เมื่อเทียบกันในอาเซียน ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ ที่มี LPI ด้านโลจิสติกส์ดีมาก เนื่องจากสโคปและสเกลของประเทศเขาไม่ได้กว้างมาก คือ เขาอาจไม่ได้มีการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ที่จำเป็นต้องมีเครือข่ายสูงนักภายในประเทศ แต่เรื่องการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องศุลกากร เรื่องกระบวนการการขนส่งด้านการส่งออกนำเข้า เขาทำได้ดีมาก เพราะใช้ดิจิทัลมาเป็นตัวช่วย
ต่อไปต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศไทยน่าจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เราใช้ระบบดิจิทัลต่างๆ ระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการ Track-and-trace ช่วยในการบันทึกข้อมูล สามารถทำให้เรามีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการขนส่งสินค้า ซึ่งจะเป็นตัวหลักสำคัญที่ทำให้ LPI ของเราดีขึ้น
ขณะเดียวกันการลดต้นทุนที่มีนัยสำคัญก็จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะอย่างที่ประชาชนทั่วไปจะรู้สึกกับการขนส่งที่เป็น B2C คือ การขนส่งในบ้านเราที่มีผู้เล่นเข้ามามากมาย ทั้งบริษัทต่างชาติ และบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ซึ่งการขนส่งภายในประเทศก็ยังต้องใช้ผู้ประกอบการไทยที่มีเครือข่ายครบถ้วน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานโลจิสติกส์ที่ดีของไทยเรื่องการขนส่งทางบกในประเทศ
อารดา กล่าวว่า สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีหน้าที่สำคัญคือ การพัฒนา
และการส่งเสริม สิ่งที่กรมฯ ช่วยพัฒนาก็มีหลายด้าน สำหรับเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดธุรกิจโลจิสติกส์ หรือเคยเป็น
ผู้ประกอบการให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์แบบดั้งเดิมมาก่อน สิ่งที่กรมช่วยพัฒนาเขาก็คือ พยายามที่จะให้ความรู้
แชร์ประสบการณ์ หาผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลใหม่ๆ รวมถึงช่วยเรื่อง Business Matching ให้เขาได้เจอกับเน็ตเวิร์คกิ้ง
ที่จะช่วยทำให้เขาต่อยอดศักยภาพเขาได้ดีขึ้น
“บางเรื่องถ้าเราอยากจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเราอาจต้องเรียนรู้จากคนอื่น ซึ่งเขามีการพัฒนาที่เร็วกว่าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลจิสติกส์ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการค่อนข้างมาก ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีสำนักงานในต่างประเทศมากกว่า 58 แห่งทั่วโลก และเราจะมีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศเหล่านั้น เราก็จะรู้ว่าใครคือกูรู ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดี เราก็จะพยายามเอาข้อมูลเหล่านั้นส่งมาให้ผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีของไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปหาข้อมูลเหล่านี้ได้ที่เว็บไซต์ ditp.go.th และ tradelogistic.go.th ได้ตลอดเวลา”
ส่วนอีกด้านคือการส่งเสริม นอกจากการให้ความรู้ พัฒนาต่อยอดศักยภาพให้ผู้ประกอบการแล้ว เวลาเขาลงมือทำธุรกิจจริงๆ ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีความพิเศษ เพราะทำคนเดียวไม่ได้ ไม่มีบริษัทไหนที่จะสามารถซื้อทั้งรถ ทั้งเรือ ทั้งรถไฟ ทั้งราง แค่ในประเทศก็ไม่ไหวแล้ว การที่เราจะสามารถเป็นเทรดโลจิสติกส์ ส่งเพื่อการค้าระหว่างประเทศได้นั้น เครือข่ายของเราเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีความเชี่ยวชาญและมีความเข้มแข็งมาก เพราะกรมฯ ก็เป็นเหมือนมาร์เก็ตเตอร์ ของประเทศ เรามีหน้าที่แมทช์กับเครือข่ายเหล่านี้ เพื่อที่จะให้เขามาเจอกับคนที่ใช่ และแต่งงานทางธุรกิจ ซึ่งเราต้องคัดกรองอย่างดี และเราก็มีแพลตฟอร์มต่างๆ ในการที่จะช่วยให้เขาเจอคนที่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นงานแฟร์ ซึ่งกรมฯ จัดงาน TILOG – LOGISTIX ประมาณเดือนสิงหาคม เป็นประจำทุกปี ซึ่งจัดมากว่า 20 ปีแล้ว งานนี้เป็นงานที่ให้คนไทยได้แสดงศักยภาพของการเป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเราพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นอาเซียนโลจิสติกส์ฮับ
อารดา กล่าวว่า โลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับการยอมรับเรื่องความน่าเชื่อถือ ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง เราจึงคิดว่ารางวัลเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความน่าเชื่อถือแบบก้าวกระโดดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะการได้รับรางวัลจากรัฐบาลไทยเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้ค้ามีความเชื่อถือต่อเรามากขึ้นแบบเท่าตัว เพราะปกติการที่รัฐบาลจะให้รางวัลใครได้ ต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเห็นความสำคัญตรงนี้ จึงจัดทำโครงการประกวดให้รางวัล Excellent Logistics Management
Award หรือ ELMA เพื่อเป็นรางวัลมอบให้กับผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ โดยวิธีการประเมินเราใช้แนวทางมาตรฐานสากล ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ ทั้งการประเมินในแง่การดำเนินการบริหารจัดการตัวธุรกิจเอง ผลประกอบการ ความโปร่งใส ความมีธรรมาภิบาลกับผู้รับบริการ เราดูครบหมด
รางวัล ELMA จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการ ช่วยทำให้เขาเป็นที่รู้จักและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นรางวัล โดยรางวัลมี 4 สาขา ได้แก่ 1.สาขาผู้ให้บริการขนส่งสินค้า 2.สาขาผู้ให้บริการคลังสินค้า 3.สาขาผู้ให้บริการตัวแทนในการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ ตัวแทนออกของ 4.สาขาผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร
ผู้ประกอบการที่สมัครเข้าประกวดรางวัล ELMA จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการที่มาขอรับการประเมิน โดยเขาจะได้รับการอบรม มีเวิร์กช็อปให้ มีผู้ให้คำแนะนำมาบอกว่าเขาต้องทำอย่างไรเพื่อพัฒนาให้เขาสามารถไปได้ถึงมาตรฐานสากล และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละสาขาจะได้รับการเสนอชื่อพิจารณาเข้ารับรางวัล Prime Minister’s Export Award 2020 หรือ PM Award ด้วย
สำหรับเกณฑ์การประเมินมอบรางวัลนั้นมี 7 ด้าน ได้แก่ เรื่องวิสัยทัศน์องค์กร เรื่องการวางแผน เรื่องการให้ความสำคัญกับลูกค้า เรื่องการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เรื่องการให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กร เรื่องการบริหารจัดการกระบวนการทางโลจิสติกส์ และเรื่องผลประกอบการของบริษัท
ผู้ประกอบการที่สนใจจะสมัครเข้าประกวดรางวัล ELMA สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยจะเปิดรับสมัครวันที่ 2 มีนาคม – 20 พฤษภาคม 2563 และมีกิจกรรมเสวนา”ยกระดับโลจิสติกส์ไทยด้วยรางวัล ELMA” ในวันที่ 5 มีนาคม 2563 @