“ขยะมีค่า ผลิตไฟฟ้าได้” เทคโนโลยียุคใหม่จัดการผลกระทบได้

โรงไฟฟ้าขยะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า ปัจจุบันพลังงานฟอสซิลกำลังจะหมดไป ดังนั้นพลังงานทางเลือกอื่นๆ จึงมีความสำคัญ และมีความจำเป็นต่อประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของพลังงานไทย ซึ่งพลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากขยะ หรือ RDF เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำลังผลักดันและร่วมสนับสนุน

ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย

โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยฯ มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขยะของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ที่ จ.สระบุรี ทำให้ได้ความรู้และมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งการที่เราไม่แยกขยะ ทำให้กระบวนการเวลาที่เอาขยะไปทำเชื้อเพลิงนั้นยากขึ้น ดังนั้น กระบวนการคัดแยกขยะที่ดีจะส่งผลต่อการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงที่ดี

เนื่องจากขยะแห้ง มีข้อดีคือเวลาที่เขานำไปทำเป็นเชื้อเพลิง จะทำให้ค่าความร้อนสูงขึ้น แต่ถ้าขยะเปียกจะต้องมีกระบวนการทำให้ขยะแห้ง ซึ่งจะทำให้งบประมาณสูงขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็สูงขึ้น ผู้บริหารของ TPIPP บอกว่าการเอาขยะไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงนั้น ที่สุดแล้วก็ยังมีขยะเหลือให้ฝังกลบบ้าง เพราะบางอย่างไม่สามารถเผาไหม้ต่อได้ โดยเฉพาะขยะที่มีความชื้นสูงมากๆ ทางโรงไฟฟ้าของ TPIPP ได้คิดโมเดลไว้ว่าจะนำตัวนี้ไปแปลงเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำกลับเข้ามาใช้ ทำประโยชน์ให้กับเกษตรกร และท้ายที่สุดแล้วจะนำขยะไปฝังกลบให้น้อยที่สุด

ดรุณวรรณ กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเกิดขึ้นให้มากในประเทศไทย ซึ่งประเด็นสำคัญคือเรื่องของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยตั้งแต่กระบวนการคัดแยก แยกขยะเปียก ขยะแห้ง กระบวนการเผา หรือฝังกลบ ซึ่งจากที่เข้าไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขยะของ TPIPP พบว่ามีการบริหารจัดการที่ดี กลิ่นขยะไม่รบกวนมาก เพราะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต และบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำที่เกิดจากการใช้ในระบบก็มีรูปแบบการบำบัดที่ดี

“สิ่งที่เราไปดู สิ่งที่อยากนำมาถ่ายทอด คือ อยากให้เข้าใจโรงไฟฟ้าขยะมากขึ้น และเห็นว่าโรงไฟฟ้าขยะมีประโยชน์ นอกจากนำขยะมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ยังสามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และสามารถที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ด้วย ถ้าโรงไฟฟ้ามีเทคโนโลยีที่ดีพอ ที่ผ่านมา เมื่อใดที่มีเรื่องโรงไฟฟ้าขยะจะมาเกิดในชุมชนของตัวเอง จะเกิดกระแสต่อต้าน ด้วยความที่ไม่เข้าใจว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากแล้ว ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่กลางชุมชนเลย รูปแบบสวยงาม ดูไม่ทราบเลยว่าเป็นโรงไฟฟ้า”

ทั้งนี้ ทีพีไอได้นำไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะมาใช้ในกระบวนการผลิตในโรงปูนซีเมนต์ของเขา และนำมาจำหน่ายเข้าระบบด้วย เป็นข้อตกลงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. คือ ไฟฟ้าส่วนหนึ่งที่ผลิตได้ก็จะขายกลับเข้าไปในระบบให้กับ กฟภ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มพลังงานไฟฟ้ากลับเข้ามาในระบบให้พอเพียง และใช้ได้อย่างเพียงพอภายในประเทศ

ดรุณวรรณ กล่าวว่า โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า อยู่ในกรอบงบประมาณของปี 2562 จะไปสิ้นสุดเดือนกันยายน 2563 ซึ่งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ได้ย้ำเน้น 2 เรื่อง คือ อยากให้เราร่วมให้ความรู้หรือการตระหนักรู้ไปยังสาธารณชน โดยผ่านเครือข่ายสื่อมวลชน เพราะเล็งเห็นว่าสื่อมวลชนจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

เมื่อเรานำสื่อมวลชนไปเรียนรู้ ไปทำความเข้าใจ และไปเห็นด้วยตัวเอง เวลาที่สื่อกลับมาถ่ายทอดไปยังสาธารณชน ก็จะเป็นการถ่ายทอดบนองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ที่ผ่านมา ปัญหาของบ้านเรา เมื่อสาธารณชนได้รับข้อมูลชุดใดชุดหนึ่งที่ผิดเพี้ยนไป แล้วข้อมูลเรื่องพลังงานก็มีหลายกลุ่มที่ออกมาพูด ในการเลือกที่จะเชื่อว่าอะไรคือข้อเท็จจริง จำเป็นต้องเลือกเชื่อแหล่งที่ถูกต้อง

แหล่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือสื่อมวลชน เชื่อว่าเมื่อสื่อเองเข้าใจแล้ว การนำมาถ่ายทอดไปยังสาธารณชน ก็จะถ่ายทอดสิ่งที่ถูกต้อง และสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องได้ไปพร้อมๆ กัน

วันนี้ เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของการหันมารณรงค์ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขยะ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะพลังงานสะอาดเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการลด และแก้ปัญหามลพิษในอากาศ รวมทั้งปัญหา PM2.5 ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจ ก็อยากจะรณรงค์ให้เกิดโรงไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานสะอาดให้เกิดมากขึ้นในประเทศไทย  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *