“SME อยู่ให้เป็น อยู่อย่างไร? ให้เย็นใจสู้โควิด-19”

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องดูแลสุขภาพตัวเอง สุขภาพธุรกิจ ปรับตัวเข้าสู่ถนนดิจิทัล ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และมาตรฐาน เพื่อให้อยู่ได้และรอดพ้นจากวิกฤติ

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ผู้นำหลายประเทศบอกว่าสถานการณ์จะไม่สงบโดยเร็ว อาจอยู่กับเราเป็นปี และสถานการณ์ต่างๆ เมื่อสงบแล้วก็ไม่กลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกคนจะต้องระวัง และควรจะดูแลใน 4 เรื่องต่อไปนี้ ได้แก่ สุขภาพตัวเอง สุขภาพธุรกิจ ช่องทางที่ธุรกิจจะเปลี่ยนแปลง ตัวผลิตภัณฑ์และมาตรฐานสินค้า

เรื่องสุขภาพตัวเอง ผู้ประกอบการจะต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีตามหลักสุขอนามัย ไม่สัมผัสผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน และในสถานการณ์นี้ จะต้องพักผ่อน ทำให้ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้มีภูมิต้านทาน ต้องหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเวลาไปอยู่ในที่สาธารณะ

เรื่องสุขภาพธุรกิจ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่จะกระทบก็คือรายได้ เมื่อรายได้หาย ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะลดค่าใช้จ่ายลง บางแห่งตัดสินใจลดพนักงานลง ซึ่งความจริงพนักงานมีความสำคัญมากต่อธุรกิจ ยิ่งธุรกิจบริการ เรื่องต้นทุนของพนักงานเป็นเรื่องใหญ่ พนักงานด้านบริการกว่าจะฝึกฝนมีทักษะได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายเท่าของเงินเดือน การเลิกจ้าง หรือให้เขาลาโดยไม่จ่ายเงิน ทำให้เขาอยู่ในภาวะมีหนี้สิน เมื่อธุรกิจกลับมาปกติ พนักงานก็ไม่มีกำลังใจที่จะกลับมาทำงานให้

เพราะฉะนั้นขอให้ผู้ประกอบการตระหนักในเรื่องของคน ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพทางธุรกิจ คือสภาพคล่อง หลายอย่างกำลังจะขับเคลื่อน ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทุกธนาคารมีมาตรการปรับสภาพคล่อง โดยให้พักชำระเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ เติมทุนดอกเบี้ยถูก และขณะนี้กำลังดำเนินการเรื่องซอฟต์โลน ดอกเบี้ย 2% 2 ปี ออกมาโดยเร็วที่สุด คาดว่าสิ้นเดือนนี้น่าจะสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้น

เรื่องช่องทางธุรกิจ หลายคนที่ยังไม่อยู่ในแผนที่ดิจิทัล จะต้องรีบดำเนินการ ให้ถือโอกาสนี้ปักตัวเองเข้าไปอยู่ในแผนที่ดิจิทัลให้ได้ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผู้ประกอบการขายของได้ในถนนดิจิทัล ในแพลตฟอร์มการค้าหลายอย่าง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการพบกันระหว่างลูกค้าและผู้ประกอบการ สามารถใช้เครื่องมือนี้เป็นหน้าร้านในการขายของหรือให้บริการ แม้กระทั่งอาหารก็สามารถสั่งซื้อ ติดต่อกับลูกค้าได้สะดวก มีระบบชำระเงินที่ง่ายดาย ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ตัวผลิตภัณฑ์และมาตรฐานสินค้า มงคล กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขายผ่านช่องทางดิจิทัลจะไม่เหมือนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านทางหน้าร้าน หรือช่องทางปกติทั่วไป ถ้าใครสนใจเรื่องนี้จะต้องยกมาตรฐานตัวเองให้สูงขึ้น เพราะเรื่องสุขอนามัยต่อไปจะเป็นเรื่องใหญ่และคนจะใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น โดยต้องมีเครื่องหมายรับรองต่างๆ อย่างน้อยก็ต้องมีเครื่องหมาย อย. ก็อยากฝากให้ทุกคนเอาใจใส่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ร้านอาหารต่างๆ มักจะมีอาหารจานเด่นที่แนะนำลูกค้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนอาหารเหล่านี้เป็นของฝากได้ โดยนำมาบรรจุหีบห่อ ดีไซน์ใหม่ แล้วส่งขายผ่านทางออนไลน์และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ หรือบริการต่างๆ เมื่อตอนที่เศรษฐกิจดี นักท่องเที่ยวมากันเยอะ ก็ไม่มีใครสนใจจะยกระดับ

เช่น การทำธุรกิจนวดแผนโบราณ จะมีการทดสอบทักษะการนวดแผนโบราณในระดับต่างๆ แล้วมีประกาศนียบัตรให้ ทำให้ลูกค้ามั่นใจเรื่องการให้บริการ และแข่งขันกับร้านค้าอื่นได้ ในช่วงนี้ที่มีคนมาใช้บริการน้อยลง ก็ส่งลูกน้องไปเรียนเรื่องพวกนี้ หรือ เรื่องเสริมสวย หรือ การฝึกบริกรในร้านอาหาร นอกเหนือจากทักษะแล้ว ก็ต้องย้ำเรื่องการบริการด้วยใจ และเปลี่ยนทัศนคติของพนักงาน ถือโอกาสนี้พาพนักงานไปอบรมเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลกำลังทำโปรแกรมเรื่องพวกนี้เพื่อยกระดับพนักงานบริการ

พนักงานขับรถ ที่ช่วงนี้รถท่องเที่ยวใช้น้อยลง ก็ให้พนักงานไปศึกษาอบรมกฎจราจร มาตรฐานการขับรถ ความเร็ว การดูแลบำรุงรักษารถ การปฐมพยาบาลนักท่องเที่ยวในกรณีฉุกเฉิน เพราะเรื่องมาตรฐาน เรื่องทักษะ เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนใครที่เข้าถึงเงินทุน ก็ถือโอกาสนี้มาปรับปรุงสถานที่ ห้องน้ำ ห้องครัว ทำให้คนมั่นใจขึ้น เวลาที่กลับมาใช้บริการ

ส่วนการอบรมที่หลายคนอาจกลัวเรื่องการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มงคล กล่าวว่า ปัจจุบันการอบรมไม่จำเป็นต้องไปนั่งเรียนในห้องเรียนแล้ว สามารถเรียนเมื่อไรก็ได้ เรียนที่ไหนก็ได้ โดยจะสอนเป็นคลิปวิดีโอต่างๆ การเข้าถึงก็เข้าใจง่าย มีการตั้งคำถามแลกเปลี่ยนกับครูที่ดูแล เป็นทางเลือกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมเรื่องพวกนี้ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามที่จะไม่ให้มีการใช้เรื่องของการตัดราคากัน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาแล้ว

สำหรับพืชผลการเกษตรที่จะออกตามมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับสถานการณ์ให้ดี ถ้าใครที่ซื้อของที่เก็บสะสมได้ก็จะมีประโยชน์มาก เช่น ทุเรียน ต้นฤดูราคาจะถูกกว่าปลายฤดู ถ้าสามารถเตรียมเงินทุนหมุนเวียนดีๆ ซื้อสต๊อกของทุเรียนสดเก็บไว้ไปทำเป็นทุเรียนกวน หรือแปรรูป จะได้กำไรเยอะกว่า เพราะฉะนั้น ต้องเตรียมสภาพคล่องให้พร้อมกับธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง

“ขอให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลายอยู่เป็น อยู่ได้ แล้วก็มีสติที่จะดูแลสภาพคล่องของธุรกิจให้รอด พัฒนาช่องทางใหม่ คือเทคโนโลยียุคใหม่ ที่มีการเร่งรัดจากสถานการณ์ ทำให้คนยิ่งต้องใช้ช่องทางนี้มากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปรับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพ ให้สอดคล้องกับช่องทางใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งความพึงพอใจของลูกค้าที่จะเปรียบเทียบสินค้าของเรากับของคนอื่นในเชิงการค้ายุคดิจิทัลด้วย”

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *