สู้วิกฤติโควิด-19 ด้วยพลิกระบบทำงานสู่ “ถนนดิจิทัล-e-Service”

รัฐบาลนำร่องให้บริการประชาชนผ่าน “ถนนดิจิทัล-e-Service” เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และหลังจากวิกฤตินี้ไปแล้ว ช่องทางถนนดิจิทัลจะเป็นช่องทางหลักในการดำรงชีวิตของเรา

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องปรับเปลี่ยนแผนการทำงานเพื่อความพร้อมในภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์นี้อาจมีต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง และไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ดังนั้น ทุกคนต้องมีความพร้อมที่จะทำงานทางไกล หรือ work from home สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยไม่จำเป็นต้องมาเจอกันก็ได้

เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรีก็เริ่มใช้หน่วยงานรัฐเป็นหน่วยงานนำร่องเริ่มปฏิบัติตามแผนในภาวะการณ์เรื่องนี้ เพื่อให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกหน่วย มีความพร้อมที่จะให้บริการประชาชนในด้านดิจิทัล เป็นลักษณะทางไกล หรือ ออนไลน์ได้ ขณะที่ภาคเอกชนต่างๆ ก็คงจะสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของผู้ประกอบการ ที่สำคัญมากคือการเปลี่ยนความคิด ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพราะหลายคนยังมีความเคยชินอยู่ และหลายคนยังไม่ได้ค้นคว้าหาเครื่องมือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งก็มีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม หรือเท่าเดิมได้ ซึ่งหลายคนก็ใช้แอปพลิเคชั่นในการสื่อสารอยู่แล้ว เช่น เฟสบุ๊ก หรือไลน์

มงคล กล่าวว่า ไลน์ สามารถใช้ประชุมโทรศัพท์เป็นกลุ่มใหญ่ได้หลาย 10 คนได้ในคราวเดียว แล้วมีหลายโปรแกรมที่ใช้ฟรี เช่น Zoom สามารถโหลดได้ทั้ง iOS และ Android สามารถใช้ฟรีได้ประมาณ 40 นาที และคนสามารถเข้าร่วมประชุมได้ถึง 100 คนในคราวเดียวกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อีกแอปฯ คือ Cisco WebEx ที่เราสามารถติดต่อสนทนาได้เลย โดยมีเจ้าภาพสักคนที่มีความรู้ไอทีเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเรียกประชุมคนได้ร่วมหลายสิบคน แล้วก็มีเอกสารประกอบการสนทนาได้ ซึ่งฟรีด้วย

“ไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า หน่วยงานราชการรายใหญ่ที่จะให้บริการกับเรื่องการขอใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตต่างๆ ขอใบอะไรต่างๆ ขณะนี้หลายหน่วยงานพร้อมแล้ว หลายหน่วยงานเพิ่งเริ่ม คิดว่าภายในไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า จะสามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ต้องไปยื่นคิว หรือขอคำแนะนำต่างๆ ได้ ภายใต้กรอบต่างๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น ความพร้อมของผู้ประกอบการจึงต้องเริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็มีแผนความพร้อมในเรื่องนี้เพื่อให้ครอบคลุมการกำหนดมาตรฐานความพร้อมของหน่วยงานรับรองกับประชาชนได้ เช่น กรมสรรพากรทำได้หมดเลย เรื่อง e-Service แต่ขณะนี้ใช้อยู่เพียงแค่กว่า 20% เท่านั้น ถ้าหน่วยงานไหนสามารถใช้ e-Service ได้อย่างอย่างจริง ภาษีที่ต้องขอคืน เช่น ภาษีซื้อ เราอาจขอได้เร็วขึ้นไม่ถึง 1 เดือน ก็สามารถขอคืนได้เลย ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รายชื่อหน่วยงาน e-Service ผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้น ภายในปลายสัปดาห์นี้คงจะมีข้อมูลว่าหน่วยงานไหนพร้อมที่จะให้บริการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ อีเมลก็สามารถใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้แล้ว ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถใช้เป็นเอกสารการยืนยันตัวตน หรือใช้เป็นเอกสารต้นฉบับในบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย ดังนั้น ก็อยากจะฝากผู้ประกอบการทั้งหลายในการอนุมัติ อนุญาต รับรองจดแจ้ง หรือรับจดทะเบียนผ่าน e-Service ได้ในไม่ช้านี้

ส่วนการพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ผ่านข้อมูลบัตรประชาชน 13 หลัก มงคล กล่าวว่า ตอนนี้ระบบธนาคารได้เชื่อมโยงกับระบบข้อมูลพื้นฐานในหลายหน่วยงาน เช่น เครดิตบูโร ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์อย่างสมบูรณ์แล้ว มีการตั้งบริษัท เรียกว่า บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด เป็นหน่วยงานกลาง ประกอบด้วยหน่วยงานรัฐ ธนาคารรัฐ ธนาคารเอกชน สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวมต่างๆ ประมาณกลางปีนี้ก็สามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์

ซึ่งจะใช้การยืนยันโดยที่เราไม่ต้องเดินทางไปถึงสถานที่ ก็สามารถยืนยันตัวตนได้โดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ได้เลย คิดว่าต่อไปจะเป็นช่องทางหลัก เพราะสะดวกมาก ใช้ฐานเลขประชาชน 13 หลัก หน่วยงานรัฐรับรองว่าเป็นการยืนยัน KYC หรือ Know Your Customer ต่อไปจะใช้ช่องทางนี้เป็นหลักเวลาไปทำธุรกรรมกับธนาคาร หรือเอกชน และหน่วยงานรัฐในอนาคต

หน่วยงานในเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงมหาดไทย หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะสามารถให้บริการผ่าน e-Service ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแพลตฟอร์มเรื่องนี้หน่วยงานราชการหลายหน่วยงานก็พร้อมจะทำธุรกรรมออกมาเป็น e-Document คือเป็นเอกสารให้ผู้ประกอบการเลย รวมถึงจะออกมาเป็นใบอนุญาตเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังหน่วยงานราชการ หรือมานั่งรอบัตรคิวตามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

มงคล กล่าวว่า วันนี้ รัฐบาลมีการพัฒนารับชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า e-Payment หลายคนถ้ามีออนไลน์ สามารถโอนเงินในระดับไม่เยอะให้กับหน่วยงานราชการ โดยเป็นเรื่องค่าธรรมเนียม หรือเป็นเงินอื่นใดที่เราต้องจ่ายให้รัฐ หรือระหว่างประชาชนด้วยกัน ก็สามารถโอนผ่าน e-Service ซึ่งสะดวกมาก และมีผลทันทีเมื่อทำรายการเสร็จ

“ที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนขอรับเงินจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเวลา 2 วัน มีผู้ลงทะเบียนกว่า 20 ล้านคน เชื่อว่าความพร้อมเรื่องนี้ซึ่งเดิมมีมากกว่า 50% พอรัฐบาลกระตุ้นเรื่องนี้อย่างจริงจัง ช่องทางถนนดิจิทัลก็น่าจะครอบคลุมได้ 80-90% ในปี 2565 และหลังจากวิกฤตินี้ไปแล้ว ช่องทางถนนดิจิทัลจะเป็นช่องทางหลักในการดำรงชีวิตของเรา”

มงคล กล่าวว่า มติ ครม.วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา กำลังเพิ่มทางเลือกด้านการสาธารณสุขไปทาง e-Service โดยเพิ่มบริการทางเลือกในการจัดยาส่งถึงบ้านให้กับผู้ป่วยโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ เพียงกรอกข้อมูลต่างๆ ส่งให้แพทย์ เช่น เรื่องความดัน เพื่อช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางแพทย์จากการควบคุมโรคระบาด และลดความหนาแน่นในจุดบริการที่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งรัดระบบการแพทย์ทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร อุปกรณ์มัลติมีเดีย ควบคู่นวัตกรรม ที่ให้แพทย์และคนไข้สามารถดูแลสุขภาพโดยใช้ซอฟต์แวร์ หรือ แอปพลิเคชั่นด้านคัดกรองโรคอย่างเป็นระบบ โดยที่ประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่าตอนที่เราไปพบแพทย์  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *