Appใหม่ ข้อมูลส่วนบุคคลสู้ภัยโควิด-19 ติดตาม Timeline ใครไปไหนมาบ้าง?

แอปพลิเคชั่น YourQR ใช้เช็กอินจุดต่างๆ บันทึกข้อมูลการเดินทางส่วนบุคคลที่สามารถบอกวัน เวลา สถานที่ได้ เพื่อประโยชน์ในการสู้กับไวรัสโควิด-19

ทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI กล่าวว่า เมื่อมีคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีการแสดงไทม์ไลน์ให้เห็นว่าเขาไปที่ไหนมาบ้าง เมื่อไปดูให้ละเอียดแล้วจะพบว่ามีรายละเอียดน้อยมาก ซึ่งถ้ามีรายละเอียดที่มากพอ เราจะแยกแยะได้ว่าใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยง ใครบ้างที่ไปตรงนั้น เวลานั้นบ้าง เรื่องนี้เทคโนโลยีช่วยได้

ทินกร เหล่าเราวิโรจน์

ด้วยการใช้เทคโนโลยีเรื่องคิวอาร์โค้ด ให้ทุกคนมีแอปพลิเคชั่นประจำตัว และจะมีการเซ็ตข้อมูลไว้ โดยจะมีชื่อ มีนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ แล้วเวลาที่คนนั้นเดินทางไปที่จุดไหน จุดที่มีคนชุมนุมกันเยอะๆ ก็ให้เขาสแกนคิวอาร์โค้ด ใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที แอปฯ ก็จะบันทึกว่าเขาเดินทางไปที่ไหน ซึ่งเขาสามารถดูในแอปฯ ได้ว่าเขาไปที่ไหนมาบ้าง เวลาไหนบ้าง

นอกจากนี้ ยังส่งข้อมูลโดยอัตโนมัติไปให้เจ้าของสถานที่รู้ได้ด้วยว่ามีใครเข้ามาเช็กอินวันไหน เวลาไหนบ้าง ทำให้รู้ประวัติการเดินทางของคนนั้น ณ จุดต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร ร้านอาหาร โรงงาน ธนาคาร โรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานที่ทำงานทั่วไป ถ้าเกิดเหตุอะไร เจ้าของสถานที่จะได้รู้ว่าเขาต้องติดต่อใคร แจ้งใครบ้าง จะต้องเฝ้าระวัง หรือจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร นี่ถือเป็นงานของสมาคม เป็นความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสมาคม

ขณะที่มีอีกหนึ่งบริษัทที่ทำเรื่องของ เอไอ อนาไลติกส์ สมมติถ้าเกิดเหตุ ณ จุดไหน เวลาไหนก็ตาม เขาจะสามารถดึงข้อมูลโยงมาเป็นเส้นได้เลยว่า มีใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงไปในที่เดียวกับคนๆ นั้น ในช่วงวันที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์บอกได้เลย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนทั่วไป

สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการใช้งาน ให้ไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น YourQR แล้วกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เพียงแค่ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จ ก็เหมือนเรามีข้อมูลที่พร้อมจะไปแลกเปลี่ยน ณ จุดที่เราต้องการจะแลกเปลี่ยน ทุกครั้งที่เราไปเช็กอิน ณ จุดต่างๆ ที่มีความเสี่ยง เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร บีทีเอส ซึ่งโครงการนี้เราเรียกว่า คิวอาร์เช็กอิน

ทินกร กล่าวว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมติดต่อเข้ามา บอกว่าเขามีพนักงานเป็นพันคน ถ้าเขาไม่มีข้อมูล เกิดมีพนักงานคนหนึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา เขาก็ต้องปิดโรงงานทั้งโรงงาน ซึ่งไม่คุ้ม แต่ถ้าเขามีข้อมูล เขาก็สามารถกันคนเพียงแค่ 50 คน ให้กันตัว 14 วัน ส่วนที่เหลืออีก 900 กว่าคน ก็ทำงานได้ตามปกติ

งานนี้ถือว่าเป็นงานเพื่อสังคมของ ATSI ซึ่งฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่ หรือผู้ประกอบการ สามารถเข้าไปในลิงก์ในเว็บไซต์ของสมาคมฯ ไปสร้างคิวอาร์โค้ดของสถานที่ได้เองอยู่แล้ว เช่น บริษัทมีรถรับส่งพนักงาน 10 คัน ก็เข้าไปสร้างคิวอาร์โค้ด 10 อัน ไปแปะที่รถแต่ละคัน 1 คิวอาร์โค้ด ถ้าพนักงานคนไหนจะขึ้นรถ ก็หยิบแอปฯ ขึ้นมาสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนขึ้นรถ ก็จะรู้ว่ารถคันนี้ วันนี้ เวลานี้ มีใครขึ้นบ้าง ข้อมูลก็จะส่งไปโดยอัตโนมัติ ถ้าหลังจากนั้นพบว่ามีคน 1 คนในรถคันนั้นติดเชื้อ บริษัทจะรู้ทันทีว่ามีใครบ้างที่ควรจะต้องกักตัว ที่จะต้องไปแจ้งให้ทราบว่าเขาควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ทินกรมองว่าสิ่งสำคัญในเรื่องนี้มี 2 ส่วน คือ 1.เป็นการลดการสัมผัส ถ้าไม่ทำแบบนี้ ก็จะต้องใช้การกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งจะต้องเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับกระดาษ และ 2.เรื่องของข้อมูล ด้วยความที่เราเป็นด้านไอที เรามองว่าเรื่องข้อมูลสำคัญมาก ถ้าเราสามารถทำให้มีข้อมูลในปริมาณมากๆ ไหลเข้ามา ก็จะเอาไปช่วยวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น

ในอนาคตหลังจากนี้ ทินกรมองเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่เรายังต้องอยู่กับโควิด-19 กับช่วงหลังโควิด-19 ไปแล้ว ในช่วงที่อยู่กับโควิด-19 คิดว่าอาจต้องอยู่กันเป็นปี คืออยู่กันจนกว่าจะมีวัคซีน ถึงแม้เราจะกลับไปทำงานได้ แต่ยังไม่มีวัคซีน เราเชื่อว่าการที่เรามีเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและลดการสัมผัส จะช่วยให้คนอยู่ในช่วงเวลานั้นได้อย่างสบายใจมากขึ้น

คือทุกคนจะต้องรู้ เข้าใจว่า เรามีความเสี่ยงทั้งเป็นผู้ติดเชื้อ หรือรับเชื้อจากคนอื่น ถ้าเราทุกคนช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม แล้วแค่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน แค่สแกนคิวอาร์โค้ดทุกครั้งที่เราไปจุดต่างๆ เราก็ได้ช่วยเหลือสังคมและได้ช่วยเหลือตัวเองด้วย

ในช่วงที่รัฐบาลจีนปิดเมืองอู่ฮั่น รัฐบาลจีนได้ทำส่วนหนึ่งที่เรียกว่า Health Code คือทำให้ประชาชนทุกคนมีคิวอาร์โค้ดของตัวเอง แต่คิวอาร์ของเขาพิเศษตรงที่จะแยกเป็น คิวอาร์สีเขียว สีเหลือง สีแดง โดยดูจากประวัติของคนแต่ละคน ซึ่งรัฐบาลเป็นคนจัดทำร่วมกับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน แล้วทุกคนจะถูกบังคับให้จะต้องมีแอปฯ ใดแอปฯ หนึ่งที่มี Health Code ของคนๆนี้

เมื่อเขาเดินทางไปไหน หรือขับรถผ่านจุดต่างๆ ตำรวจจะตรวจวัดอุณหภูมิ แล้วจะสแกนคิวอาร์โค้ดของคนๆ นั้น เพื่อเก็บบันทึกไว้ว่า คนนี้อุณหภูมิเท่าไรที่จุดนี้ ข้อมูลจะไหลเยอะมาก แล้วข้อมูลนี้เขาจะใช้ตลอดเวลา สมมติคนนี้เป็นคนที่มีรายชื่อต้องกักตัว พอเขาโชว์ Health Code มันก็จะโชว์เป็นสีแดง หรือสีส้มเลย เทคโนโลยีไปได้ถึงขนาดนั้น แต่ก็ต้องได้รับการผลักดันจากภาครัฐด้วย

ทินกร กล่าวว่า การจะทำแบบรัฐบาลจีนนั้น เรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะงบในการผลิต คิดว่าไม่ถึง 5% หรือ 10% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ปัจจัยหลักคือการผลักดันให้มีการใช้งานจริง ที่ยากที่สุดคือทำอย่างไรให้คนในสังคมรับรู้และตระหนักว่ามีเครื่องมือนี้ ทำไมถึงควรจะต้องใช้เครื่องมือนี้ ใช้แล้วจะเกิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างไร การจะประชาสัมพันธ์ให้คนใช้ถือว่าเป็นเรื่องยากที่สุด  @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *