กกร. เสนอมาตรการให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มเติม หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนตกงานหลายล้านคน รวมทั้งต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เมดอินไทยแลนด์
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.
กล่าวว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะจีดีพีของประเทศไทย 70% ขึ้นอยู่กับส่งออก และอีกเกือบ 20% ขึ้นกับการท่องเที่ยว
หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวของไทยตอนนี้แทบจะไม่เหลืออะไรเลย ขณะที่การส่งออกนั้น เดิมตอนที่ประเทศจีนมีปัญหา เราก็คิดว่าจะกระทบแค่จีน แต่ตอนนี้กระทบไปทั่วโลก ทั้งยุโรป และอเมริกา ซึ่งสหรัฐเป็นประเทศที่เราส่งออกเป็นรายใหญ่สุด รองลงมาก็คือจีน แต่ตอนนี้ทั้งโลกมีปัญหาหมด การส่งออกเราก็จะเริ่มสะดุด ในประเภทที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร ประเภททั่วไปก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ
ถือได้ว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว วิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้การสั่งซื้อน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเวชภัณฑ์ป้องกันตัวเอง เพราะฉะนั้นผลกระทบก็จะโดนไปถึงอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนของเรา เป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาเราเจอมาหลายวิกฤติ ทั้งต้มยำกุ้ง น้ำท่วม กีฬาสีการเมือง ก็ไม่หนักเท่านี้ ไม่ส่งผลรุนแรงขนาดนี้
เซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ก็คือภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งโรงแรม การบิน ส่วนทางด้านบริการทั้งหมดก็โดนให้ปิด พวกนวด ตลาดรีเทลก็โดนผลกระทบทั้งหมด ส่วนจะยาวมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แล้วอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเหล่านี้ก็จะมีปัญหาตามมาด้วย
ถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นอย่างนี้ ยังคุมไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบกับคนหลายล้านคน โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งมีคนอยู่ประมาณ 1-2 ล้านคน ก็จะมีปัญหา แล้วยังมีธุรกิจด้านอุตสาหกรรมส่งออกหลายๆ อุตสาหกรรมที่ตอนนี้เริ่มมีปัญหา และอุตสาหกรรมในประเทศก็เริ่มมีปัญหา เพราะบางคนเกี่ยวข้องกับร้านผลิตและขายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งตอนนี้ทุกห้างก็ปิดหมด เพราะฉะนั้น ช่องทางเขาก็น้อยลง เหลือแต่ช่องทางอีคอมเมิร์ซ
สินค้าพวกเครื่องสำอาง เสื้อผ้า กระเป๋า คนก็เริ่มให้ความสำคัญน้อยลง สินค้าพวกไวท์กู้ด เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ ก็กระทบกระเทือนด้วย พอรถยนต์โดนกระทบ ก็จะไปถึงชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมเรียลเอสเตท ตอนนี้ทุกคนก็พยายามจะเก็บเงินไว้ การซื้อบ้านใหม่ รถใหม่ ซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยใหม่ ก็จะไม่ค่อยมี แล้วหน้าร้าน การขายก็ไม่ค่อยมีด้วย ทำให้เกิดผลกระทบเป็นระลอกคลื่น ซึ่งธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กก็อาจจำเป็นต้องเอาคนงานออก ต้องลดโอที ลดพนักงานชั่วคราว จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้
“ตอนนี้มีมาตรการภาครัฐออกมา 3 มาตรการแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ภาคเอกชนผ่อนคลายลง เพราะมีมาตรการทางด้านไฟแนนซ์ให้ผู้ประกอบการ เพราะสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการคือเรื่องของ Cash flow เรื่องของการเงิน ณ วันนี้ ธนาคารเริ่มยืดการชำระหนี้ให้ ยืดการชำระดอกเบี้ยออกไป ยังไม่เก็บช่วงนี้ ก็ทำให้เขาหายใจคล่องขึ้น เพราะฉะนั้น มาตรการของรัฐที่ออกมาทั้งหลายมีความสำคัญมากกับภาคธุรกิจ ภาคเอกชนโดยทั่วไป ถ้าตอบโจทย์ได้ มันก็สามารถทำให้เขาอยู่ต่อได้อีกสักระยะหนึ่ง มาตรการของรัฐที่ออกมา จะช่วยทั้งผู้ประกอบการ ทั้งผู้จ้างงาน ผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งผู้ที่อยู่ในภาคทั่วไป ก็มีโอกาสที่จะทำให้ความรุนแรงเบาลงได้”
สุพันธุ์ กล่าวว่า มาตรการที่รัฐออกมาถือว่าใช้ได้ สามารถช่วยได้เยอะระดับหนึ่ง แต่ก็ยังครอบคลุมไม่หมด ยังขาดบางส่วนซึ่งทาง กกร. ได้แจ้งไป เพื่อที่จะช่วยให้ครอบคลุมเพิ่มเติมได้ เช่น ในส่วนของลูกจ้างที่ยังมีปัญหา สำหรับคนที่รัฐบาลสั่งปิด เช่น สั่งปิดโรงแรม รัฐบาลก็ไปช่วยดูแลลูกจ้าง เขาก็มีเงินประกันสังคมมาช่วยจ่ายให้ แต่ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กที่ตอนนี้ค้าขายไม่ดี ร้านก็ยังปิดไม่ได้ คนงานก็ยังต้องจ่ายอยู่ รัฐก็ยังไม่ช่วยจ่าย ก็พยายามบอกรัฐให้ช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย ถ้าเขาไม่สามารถจ่ายลูกจ้าง ลูกจ้างจะได้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐโดยทางประกันสังคมมากน้อยแค่ไหน ก็ยังเป็นประเด็นอยู่
ส่วนเรื่องที่รัฐลดค่าไฟ 3% เราเคยเสนอขอไปที่ 5% ก็อยากให้ได้ที่ 5% รวมทั้งเรื่องประกันสังคม จากเดิม 5% รัฐลดให้ลูกจ้างเหลือ 1% แต่ลดให้นายจ้างแค่ 1% คือเหลือ 4% ก็อยากให้เหมือนกันคือเหลือ 1% เท่ากัน เพราะนายจ้างก็แย่ ตอนนี้ก็ลำบาก ส่วนเรื่องชดเชยเงินเดือนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี หรือธุรกิจที่มีปัญหาอยู่ อยากให้รัฐเอาเงินประกันสังคมมาชดเชยเงินเดือนให้เขาสัก 3-6 เดือน โดยให้ชดเชยสักครึ่งหนึ่งคือ 50% ส่วนนายจ้างออกให้ 25% และลูกจ้างก็ยอมลดลงไป 25%
สำหรับบริษัททั้งหลายในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่บริษัทซื้อหน้ากากอนามัยแจกลูกน้อง ต้องคลีนนิ่ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันเยอะแยะ ทั้งเจลล้างมือ เครื่องตรวจ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ขอให้หักภาษี 3 เท่าได้หรือไม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราได้ร้องขอเพิ่มเติมไป ส่วนมาตรการเรื่องซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ที่จะให้ธนาคารพาณิชย์มาปล่อยกู้ให้ลูกค้านั้น ก็สามารถช่วยภาคเอกชนได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องถึงมือลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจริง หวังว่าออกมาแล้วจะมีมาตรการที่เงินไปถึงมือลูกค้าอย่างจริงจังและรวดเร็ว
มาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 รวมวงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล ก็น่าจะช่วยอุตสาหกรรมไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมาดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะยังมีปัญหาต่อไปอีกหรือไม่ ถ้าลากยาวต่อไปก็เหนื่อยกันหมด และภาครัฐเป็นส่วนสำคัญมาก จะเห็นได้ว่าโควิด-19 ไปที่ไหน รัฐบาลของทุกประเทศต้องเข้าไปช่วยอุ้มภาคธุรกิจเป็นจำนวนเงินมหาศาล ทุกคนพยายามที่จะอัดเม็ดเงินเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
ส่วนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศในระยะยาว หลังจากที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลักนั้น สุพันธุ์ กล่าวว่า เราคงจะต้องฟื้นฟูให้คนไทยหันมาใช้ของไทย ใช้อุตสาหกรรมไทย เรื่องผลิตภัณฑ์ไทยเมดอินไทยแลนด์ ขณะที่การฟื้นฟูคือเรื่องสภาพการทำงานของเรา ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนมากขึ้น ภาคการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรา ต้องเพิ่มการแปรรูปให้ได้เยอะขึ้น และเพิ่ม Value Added ภาคการเกษตรให้ได้ เพราะเรามีวัตถุดิบที่เป็นเกษตรเยอะ เราสามารถเอาวัตถุดิบเกษตรมาแปรรูปให้เป็นอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ไม้แปรรูปทั้งหลาย ก่อสร้าง หรืออื่นๆ ก็สามารถช่วยเราลดต้นทุน หรือมาแปรเป็นพลังงานก็ได้ @