SME D Bank ออกมาตรการ “ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม” ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติไวรัสโควิด-19
จงรักษ์ โปลิตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank กล่าวว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีของ SME D Bank ได้รับผลกระทบแรงมากจากวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ ประมาณ 70-80% ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รองลงมาคือธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เป็นวิกฤติที่ค่อนข้างสาหัสสากรรจ์มากสำหรับเอสเอ็มอีบ้านเรา ซึ่ง SME D Bank ได้ออกมาตรการ “ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม” เพื่อให้การช่วยเหลือแล้ว
ลด คือ การลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ตรงๆ คือ กลุ่มท่องเที่ยว หรือที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น สปา ร้านอาหาร ภัตตาคาร บริการขนส่งเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว ใน 22 จังหวัดหลักท่องเที่ยว เราลดดอกเบี้ยให้ 1% เป็นเวลา 1 ปี
พัก คือ การพักหนี้ พักทั้งเงินต้นทั้งดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน เพราะลูกค้าช่วงนี้ไม่มีรายได้เลย เราช่วยเหลือให้เขาไม่ต้องผ่อนทั้งเงินต้นทั้งดอกเบี้ย เพื่อให้เขามีเวลา ไม่ต้องมาวุ่นวายกับเรื่องของการหาเงินมาชำระหนี้ธนาคาร และเอาเวลาไปคิดทำอย่างอื่น มีผลตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน ซึ่งประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าในเครดิตบูโรถือว่ายังเป็นหนี้ปกติอยู่ ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต
ขยาย คือ การขยายเวลาการชำระหนี้ ถ้าลูกค้ามีความเดือดร้อนมากกว่า 6 เดือน และอยากได้ความช่วยเหลือที่นานกว่านั้น เขาก็อาจขอขยายออกไปอีกนานถึง 5 ปีเลย สำหรับลูกค้าที่มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.ค้ำประกัน เป็นโครงการที่ SME D Bank ร่วมกับ บสย. ในโครงการ PGS ระยะที่ 5-7 และในช่วงที่ขยายเวลาการชำระหนี้ ลูกค้าก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
ผ่อน คือ การขอผ่อนปรนการชำระหนี้ โดยกลุ่มลูกหนี้ที่จัดชั้นปกติในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถ้าเขาจะขอพักชำระเงินต้น เขาสามารถที่จะผ่อนดอกเบี้ย ถ้าเป็นลูกหนี้ที่ได้อยู่เกรดเอ ผลการติดต่อดีมาตลอด ธนาคารก็ยินยอมให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเพียง 50% ของยอดดอกเบี้ยปกติที่ต้องชำระ ถ้าลูกค้าที่เป็นเกรดค้างชำระบ้าง 1-2 เดือน ธนาคารก็ยินยอมให้ผ่อนปรนในอัตราดอกเบี้ยอยู่ ผ่อนปรนให้ชำระได้ไม่น้อยกว่า 20%
เพิ่ม คือ การเพิ่มเติมทุนให้ลูกค้า เพราะช่วงนี้เอสเอ็มอีจะขาดสภาพคล่อง แต่ความจำเป็นในการใช้เงินยังมีอยู่ เพราะบางค่าใช้จ่ายเป็น Fixed Cost ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าตึก เงินเดือน ธนาคารมองว่าเอสเอ็มอีมีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 จึงมีมาตรการเติมทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำให้กับเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ซึ่งเรามี 4 โครงการ วงเงินที่เตรียมไว้รองรับสำหรับกลุ่มเติมทุน เราเตรียมไว้ 7 หมื่นล้านบาท ที่จะมาเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี ได้แก่
1.กลุ่มท่องเที่ยวซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบ เราเรียกว่าวงเงิน Extra Cash ช่วยในเรื่องของโควิด-19 ก็คือกลุ่มท่องเที่ยวที่เป็นนิติบุคคล เราเตรียมวงเงินไว้หมื่นล้าน และให้สูงสุด 3 ล้านบาท/ราย ดอกเบี้ยค่อนข้างถูก คือ 2 ปีแแรก 3% เงินต้นนานสูงสุดถึง 5 ปี
2.เป็นสินเชื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน หรือ LEL วงเงินที่เตรียมไว้ 5 หมื่นล้านบาท เราให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดอกเบี้ยนิติบุคคล 3% ใน 3 ปีแรก และดอกเบี้ยบุคคลธรรมดา 5% ใน 3 ปีแรก
3.Transformation Loan เป็นซอฟต์โลนเพื่อซื้อเครื่องจักร หรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ในช่วงที่การค้าขายอาจเบาลง เพื่อรอการฟื้นตัว วงเงินที่เตรียมไว้ 7,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% ระยะเวลา 7 ปี
4.ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย ดอกเบี้ย 2%ต่อปี และ 6 เดือนแรก รัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยให้ เป็นสินเชื่อที่มาช่วยต่อลมหายใจให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่กำลังจะหมดแรง ซึ่งธนาคารสามารถสนับสนุนลูกค้าเก่าได้ทันที ไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้างที่เขามีอยู่ เป็นมาตรการตาม พ.ร.ก.ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้
จงรักษ์ กล่าวว่า SME D Bank ได้จัดตั้งกลุ่ม Market Place ภายใต้ชื่อ “ฝากร้านฟรี SME D Bank” อยู่ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก powersmethai ตั้งเป้าหมายไว้ 4,000 ราย แต่เปิดไปได้เพียงวันเดียว ก็มีคนสมัครเข้ามาแล้ว 2,200 รายแล้ว เกินกว่าที่เราคาดหมายไว้
โครงการนี้เราสร้างขึ้นมาเพื่อหาช่องทางให้กลุ่มเอสเอ็มอีในช่วงวิกฤติตอนนี้ มีช่องทางที่จะขายสินค้าของเขาผ่านออนไลน์ หรือพบปะกัน แมชชิ่งกัน เป็นการช่วยเพิ่มช่องทางในการหารายได้เข้าสู่ธุรกิจของเขา ซึ่งผู้ประกอบการต้องกรอกรายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าของตัวเองให้ครบถ้วน โดยมีข้อกำหนดว่า สินค้าต้องไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดต่อศีลธรรม และการพูดคุยในกลุ่มต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ศาสนา หรือสถาบัน
สำหรับช่องทางในการติดต่อกับ SME D Bank มีหลายช่องทาง ทางไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ สามารถจะแอดไลน์เข้าไปได้เลยที่ SME Develoement Bank หรือสแกนคิวอาร์โค้ดได้ที่เว็บไวต์ของธนาคาร www.smebank.co.th หรือติดต่อคอลเซ็นเตอร์ 1357 @