เอสซีจี พัฒนานวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit หรืออุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ สามารถติดตั้งได้รวดเร็ว มีน้ำหนักเบา เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า เอสซีจีเป็นบริษัทที่มีความห่วงใยเรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของคนไทย ในวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้เราได้รับการติดต่อจากทางแพทย์และพยาบาลให้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเรื่องการใช้งานเม็ดพลาสติก มีประสบการณ์ในการขึ้นรูป เราก็ทำนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันโควิด-19 เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากแพทย์และพยาบาล
โดยโซลูชั่นที่ใช้เราเน้น Mobile Isolation Unit ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ง่าย ติดตั้งได้รวดเร็ว น้ำหนักเบา เพราะฉะนั้นเราก็สามารถส่งมอบไปที่ไกลๆ ในต่างจังหวัดได้รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ทันเวลา ในการทำนวัตกรรมเราทำงานใกล้ชิดกับแพทย์และพยาบาลจาก 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ทั้งคุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ จะเป็นคนให้ข้อมูลเรื่องความต้องการ หรือฟังก์ชั่นต่างๆ ของโซลูชั่นว่าต้องการอะไรบ้าง
เป็นเรื่องที่เราต้องทำแข่งกับเวลา เพราะเราเพิ่งได้รับการติดต่อเข้ามาประมาณกลางเดือนมีนาคม ภายใน 3 สัปดาห์ เราทำโซลูชั่นต่างๆ ส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ โดยเริ่มแรกมูลนิธิเอสซีจี สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท แล้วเราก็มีมูลนิธิชัยพัฒนามาติดต่อเรา และเราก็ช่วยสนับสนุนโซลูชั่นต่างๆ ไปให้ เราสามารถส่งไปที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา ซึ่งอยู่ค่อนข้างไกล แต่ด้วยความที่ระบบเราเป็นแบบโมบาย ติดตั้งได้ง่าย เราสามารถส่งมอบโดยที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหาสามารถติดตั้งและใช้งานได้เอง
ดร.สุรชา กล่าวว่า นวัตกรรมที่เราส่งมอบเหล่านี้ไม่ใช่เราทำคนเดียว เอสซีจีโชคดีที่มีคู่ค้า และพาร์ตเนอร์ต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันมากกว่า 30 ปี เรามีความศรัทธาและเชื่อถือซึ่งกันและกัน ทำให้การร่วมมือกันค่อนข้างไปได้รวดเร็ว เขาก็เห็นถึงความตั้งใจดีของเรา เขาก็รีบช่วยทำ ทุกอย่างที่เราทำเน้นความปลอดภัย และการออกแบบเชิงวิศวกรรม ถึงจะเร็วแต่ก็ต้องชัวร์ เอสซีจีทำอะไรเราต้องรับผิดชอบ ผลิตภัณฑ์โซลูชั่นนี้ต้องใช้งานได้จริง ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นมา เอสซีจีก็ต้องรับผิดชอบและนำไปแก้ไขให้ใช้งานได้จริง
ตอนนี้เราส่งมอบไปมากกว่า 10 โรงพยาบาลแล้ว เราจะส่งไปช่วยสนับสนุนที่เป็นโรงพยาบาลหลักที่มีจำนวนคนไข้ หรือมีความต้องการมาก เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้งโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเราก็ทยอยส่งมอบ ที่ภาคใต้เราค่อนข้างเน้นเป็นพิเศษ เพราะร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา
สำหรับนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ประกอบด้วย 1.ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ สำหรับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือเป็นห้องพักผู้ป่วย 2.ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถสอดมือเข้าไปทำหัตถการ โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย 3.แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 4.แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเข้าเครื่อง CT Scan 5.อุปกรณ์ครอบศีรษะคนไข้เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อ สำหรับงานทันตกรรม
ถึงแม้ตอนนี้การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบ้านเราจะน้อยลง แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ไว้ก่อน เพราะเชื้อโรคยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ และเรายังไม่มีวัคซีน คิดว่าเรื่องนวัตกรรม เรื่องโซลูชั่นที่เราทำมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์และเจ้าหน้าที่อย่างไรก็เป็นเรื่องสำคัญ สมมติรอบนี้จบเรื่องโควิด-19 แต่ในอนาคตพวกโรคหวัด หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจก็อาจเกิดขึ้นมาอีก ก็คิดว่านวัตกรรมเหล่านี้ยังสามารถใช้ต่อไปได้ ศักยภาพการผลิตในประเทศไทยก็คงจะมีโอกาสมากขึ้น ยังมีโอกาสอีกเยอะ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ สามารถบริจาคเงินสมทบ “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)” หรือร่วมบริจาคผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งมอบนวัตกรรมต่างๆ ให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2888 @