มาตรการรัฐช่วยต่อลมหายใจ SMEs ได้แค่ไหน? จะไปต่ออย่างไร?

เอสเอ็มอีเพียง 30% เท่านั้น ที่เข้าถึงสินเชื่อเยียวยาโควิด-19 จึงอยากขอให้ลดขั้นตอนเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือ พร้อมเสนอภาครัฐ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้าง และจ่ายเงินเยียวยาแรงงานในระบบ

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีเดือดร้อนกันถ้วนหน้าจากวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจมีบางธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อย แต่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ซึ่งมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ บางเรื่องเราก็เข้าสู่มาตรการได้เร็ว เช่น การลดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% การลดค่าน้ำค่าไฟ

แต่ส่วนที่เข้าถึงและใช้เวลานานมากคือเรื่องของสินเชื่อ Soft Loans วงเงิน 5 แสนล้านบาท จากที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.สำรวจหลังจากมาตรการขับเคลื่อนมาแล้ว 2-3 เดือน พบว่าเอสเอ็มอีเข้าถึงได้ 30% อีก 70% ยังเข้าไม่ถึง จากสาเหตุหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของขั้นตอน เรื่องของเอกสาร กฎระเบียบที่อาจจะเยอะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่อาจจะมีสเกลใหญ่ระดับหนึ่ง และมีสินเชื่อเดิมอยู่ ที่อาจจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า และบางครั้งธนาคารก็โทรไปหาเลย

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

ในขณะที่ไซส์เอส หรือไมโครเอสเอ็มอี จะมีปัญหาและอุปสรรค ดังนี้ 1.ขั้นตอนยุ่งยาก และกฎระเบียบซับซ้อน ซึ่งพบว่าเป็นปัญหาถึง 40% ของปัญหาทั้งหมด 2.ประมาณ 26% เป็นเรื่องของการใช้เวลานาน เพราะความต้องการของทุกคนมาพร้อมกัน ในขณะที่ผู้ให้บริการมีอยู่จำนวนจำกัด ก็น่าเห็นใจธนาคาร แต่ก็อาจจะต้องมีรูปแบบอื่นๆ หรือลดความยุ่งยากซับซ้อนบ้าง เพื่อจะทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้น 3.ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเอกสารไม่ครบ ไม่เคยเดินบัญชี หรือไม่ผ่านเกณฑ์ความสามารถในการชำระ หรือ ธนาคารจะดู D/E Ratio 4.การเยียวยาสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังน้อยเกินไป ไม่ครอบคลุม

สิ่งที่อยู่ในใจเราตอนนี้ คือถ้าจะต้องช่วยเหลือกันเรื่องเยียวยา เรื่องยอดเงิน จำเป็นจะต้องพิจารณาให้ดีๆ เรื่องการลดขั้นตอนเรื่องกฎระเบียบ ช่วยเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ และยิงปืนให้ถูกเป้า เราก็เลยพยายามเสนอภาครัฐ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแบ่งกลุ่มย่อยๆ ในเงิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องโฟกัสไมโครเอสเอ็มอีว่าให้ได้กี่ราย เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือในวงกว้างมากขึ้น

แต่ถ้าเงิน 5 แสนล้านบาททำไม่ได้ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมียอดเงินจากความช่วยเหลือกองอื่นๆ ที่ไปรวมเงินจากที่เคยเหลือใช้ แล้วยังใช้ไม่หมด หรือจะดึงมาจากเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจรากหญ้า 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้นักรบทางเศรษฐกิจยังไม่ถูกฝังกลบทั้งเป็นในสนามรบปัจจุบัน ซึ่งได้เสนอไปแล้ว ภาครัฐก็ตอบรับในความคิดเห็น แต่ไม่แน่ใจว่ากระบวนการที่กำลังพิจารณากันอยู่เป็นอย่างไรบ้างแล้ว

โชนรังสี ยอมรับว่าที่ผ่านมา ไมโครเอสเอ็มอีใช้ Cash flow ของตัวเอง หรือกู้นอกระบบ ไม่เคยใช้บริการของธนาคารมาก่อน เมื่อจะมาขอสินเชื่อธนาคาร ทำให้มีปัญหาเรื่องบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งถ้าให้ทำเลยวันนี้ก็คงไม่ได้ ถ้าไม่ปรับหลักเกณฑ์ หรือมองข้ามบางเรื่อง และเลือกที่จะช่วยจริงๆ แต่ในแง่ระยะยาว สุดท้ายก็ต้องไปพัฒนาให้คนทำธุรกิจเป็นผู้ประกอบการอย่างมืออาชีพ

ซึ่งสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยก็ทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการทั้งจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สสว. ตอนนี้ สสว. กำลังดำเนินการอยู่ คือ การสอนไมโครเอสเอ็มอีในเรื่องของบัญชีเดียว การจัดทำบัญชีบันทึกรับจ่ายให้เป็นโดยใช้ซอฟต์แวร์ฟรี

เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงสูง ส่วนใหญ่จะมีเงินทุนหมุนเวียน เดือนชนเดือน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 0-3 เดือน ประมาณ 50-60% ที่เก่งอยู่ได้ 7-12 เดือน มีไม่ถึง 15% จะเห็นว่าส่วนใหญ่ 25% อยู่ได้แค่ 1-2 ดือน ขณะที่อีกกว่า 30% อยู่ได้ 3-4 เดือน มีการประมาณการว่า ถ้าภายใน 1-2 เดือนนี้ เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 เอสเอ็มอีจะปิดตัวเพิ่มขึ้น น่าจะเกิน 30-40%

เพราะตอนนี้แรงงานในธุรกิจไซส์เอสก็เริ่มถูกเลย์ออฟแล้ว และจะกลายเป็นแรงงานที่ต้องออกมาอยู่นอกระบบ และไปอยู่ในเงินเยียวยา แทนที่จะเยียวยาผู้ประกอบการไซส์นั้นให้อยู่ ให้ดึงแรงงานเอาไว้ เพราะการจะฝึกแรงงานจนทำงานให้เขาได้นั้นต้องใช้เวลา และเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เมื่อเขาต้องเลย์ออฟไป พอถึงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมา ก็ต้องเอาคนมาฝึกกันใหม่ ซึ่งเป็น cost ที่เกิดขึ้น

สำหรับมาตรการเยียวยาคงต้องแบ่งเป็น 3 ระยะ ช่วงนี้คือเยียวยา หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนการฟื้นธุรกิจ สุดท้ายก็เป็นการใส่วิตามิน ในส่วนการเยียวยา โชนรังสี กล่าวว่า เหมือนจะหมดแล้ว ไม่ค่อยมีอะไรมากแล้วในมาตรการของภาครัฐ แต่อยู่ในช่วงการกระตุ้นให้เปิดธุรกิจออกมาใหม่ รันธุรกิจใหม่ ค่อยๆ ฟื้นยอดขายกันใหม่ ก็เป็นช่วงที่ภาครัฐต้องกระตุ้นเรื่องของรายรับ

เคยมีการเสนอภาครัฐไปว่าในระยะสั้นๆ ถ้าภาครัฐทำได้ และเปิดนโยบายมากขึ้นให้กับเอสเอ็มอี สามารถใช้บริการเอสเอ็มอี จัดซื้อจัดจ้าง ทั้งบริการ ทั้งสินค้าให้มากขึ้นในปีงบประมาณถัดไป จะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นขึ้นมาได้ ที่ผ่านมา มีการซื้อของเอสเอ็มอี แต่ในปริมาณที่ไม่มากประมาณ 30% ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยมีแต้มต่อ มีสิทธิ มีการกำหนดโควต้า เพื่อให้สามารถสู้โรงงานใหญ่ได้ รวมทั้งเรื่องขั้นตอนเอกสาร กฎระเบียบ ต้องปรับให้เหมาะกับเอสเอ็มอี ซึ่งเรื่องจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐรับไปแล้ว เข้าใจว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะมีความคืบหน้า

โชนรังสี กล่าวว่า ในส่วนของเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจรากหญ้า 4 แสนล้านบาท ทราบว่าภาครัฐคงเน้นเรื่องตลาด ช่องทางให้ผู้ประกอบการ ซึ่งหลายที่ทำเรื่องแพลตฟอร์มการขายของประเทศ ก็หวังว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทำขึ้นมา ทำอย่างไรภาครัฐจะบูรณาการให้เกิดแพลตฟอร์มของประเทศแบบที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ได้จริงๆ อยากให้เกิดขึ้นเหมือนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของต่างชาติ

อีกเรื่องก็คือการพลิกเอสเอ็มอี เป็นเรื่องของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งไม่ใช่การขายออนไลน์อย่างเดียว แต่รวมถึงออนกราวด์ด้วย การใช้ดิจิทัลในองค์กรก็ไม่ใช่แค่เรื่องการขาย แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการในองค์กร การพัฒนาคนที่มีศักยภาพในองค์กรของเราให้ใช้ดิจิทัลเป็น บางทีการผลักพวกเราให้ขึ้นออนไลน์ แต่ทำการตลาดไม่เป็น ก็ทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังได้เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า เอสเอ็มอีจ้างแรงงานทั้งหมดกว่า 70% ของประเทศ แต่แรงงานในระบบที่เราจ่ายประกันสังคม มาตรา 33 ประมาณ 11 ล้านราย ไม่ได้รับความช่วยเหลือแบบที่แรงงานนอกระบบได้ จึงได้ขอไปว่า เงินเยียวยาจะเข้ามาช่วยในช่วงระยะที่ 2 เป็นเงินที่เข้ามาทำให้แรงงานในระบบยังคงอยู่ในระบบได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องออกมาเป็นแรงงานอิสระ อาจช่วย 5,000 บาท สัก 2 เดือน เพื่อช่วยในช่วงของล็อกดาวน์ เพื่อให้เขามี Cash flow กลับมาหลังจากที่ปลดล็อกดาวน์

ส่วนเรื่องสินเชื่อ ถ้ากองเงินต่างๆ ที่ออกไปแล้ว การปล่อยกู้ทำได้ยากมาก ในระยะยาวอยากจะให้รัฐบาลตั้งเป็นลักษณะเป็นกองทุนพิเศษเพื่อเอสเอ็มอีขึ้นมา  @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *