บริหารหนี้อย่างไร? ไม่ให้เป็น NPL ทั้งลูกหนี้ & เจ้าหนี้!

ผู้ประกอบการต้องบริหารหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19ให้ดี อย่ามองว่าเป็น NPL แต่เป็นหนี้ที่เราต้องช่วยฟื้นฟูกิจการให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยลูกหนี้ต้องเจรจาเจ้าหนี้ขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในศาลล้มละลาย

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า การก่อหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ ถ้าเป็นหนี้ที่เสริมรายได้ หรือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เป็นเรื่องของการดำรงชีวิต และเรื่องการค้า ซึ่งในภาวะยุคโควิด-19 ทำให้รายได้หดหาย และเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ไม่ได้เตรียมตัว บางคนรายได้ลดลงไปถึง 70% บางคนโชคดีก็ลดแค่ 20-30% เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องวางแผนให้ดี

ตนเองอยากเสนอว่าใครที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ถึงขั้นต้องขอชะลอจ่ายเงินต้น และหรือดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เป็นจำนวนเงินที่มหาศาลมาก คือประมาณ 7 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 50% ของจีดีพี รายได้ประชาชาติของประเทศไทยเลยทีเดียว แล้วมีคนเกี่ยวข้องร่วม 16 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของวัยทำงานของประชากรไทย ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มาก

จึงต้องถือโอกาสนี้ให้ลูกหนี้บริหารภาระหนี้ให้ดี ส่วนสถาบันการเงินที่มีมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป ซึ่งลูกหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้ขอเลื่อนชำระหนี้แล้ว ก็จะต้องเปิดดำเนินการธุรกิจแล้ว หลายคนอาจจะยังไม่ปกติ แต่อย่ามองว่าเป็นหนี้เสีย หรือ NPL อยากให้มองว่าเป็นหนี้ที่ต้องฟื้นฟูการดำเนินงานของกิจการ ทั้งของตัวผู้ประกอบการเอง หรือของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ก็อาจไปไม่รอดกันทั้งสองฝ่าย

จะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนจาก ธปท.ว่า ช่วงนี้ไม่อยากให้สถาบันการเงินจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เพื่อจะได้มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะช่วยเหลือให้ลูกหนี้กู้ได้ และไม่อยากให้เข้มงวดเรื่องการให้สินเชื่อเหมือนกับตอนเศรษฐกิจถดถอย เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นภาวะถดถอยที่เราควบคุมได้ หรือเกิดจากวัฏจักรของธุรกิจ แต่มาจากกระบวนการสาธารณสุขด้วยกฎข้อระเบียบต่างๆ ซึ่งวันนี้ การบินระหว่างประเทศก็ยังไม่ได้ข้อตกลงที่ชัดเจน ก็คงทยอยทำกันเป็นคู่ๆ ของแต่ละประเทศ เพื่อจะได้มีการกำกับหรือข้อมูลทางด้านสาธารณสุขที่จะส่งผ่านให้บุคคลเดินทางกันมาได้อย่างปกติเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา

มงคล กล่าวว่า ได้พูดส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคนตัวเล็กว่า วันนี้คงทำเหมือนเดิมที่เคยทำมาก่อนไม่ได้แล้ว สืบเนื่องมาจากปัจจัยของโควิด-19 มีผลทำให้รูปแบบของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป อำนาจซื้อและพฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ประกอบกับเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่ 70-80% ผูกขาดกับการส่งออกและท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศถูกผลกระทบจากโควิด-19 ก็กระทบกับประเทศไทยค่อนข้างสูงมากกว่าประเทศอื่นๆ การคาดการณ์เศรษฐกิจที่จะติดลบในปีนี้ จะมากกว่าประเทศเวียดนามเกือบสองเท่าตัว

ตนเองจึงส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองใหม่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้อาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ถ้าใครเปลี่ยนได้เร็ว แล้วลงมือทำจริงเลย ก็อาจจะอยู่รอดได้ แต่ถ้าใครคิดจะทำเหมือนเดิม ก็จะอยู่ยาก ทุกคนต้องใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อที่จะขยายกิจการให้กลับคืนมาสู่ยอดขายเท่าเดิม แล้วต้องเปลี่ยนโครงสร้างค่าใช้จ่าย หรือการเงินที่กู้ยืมใหม่หมดเลย เพราะถ้าจะใช้แรงงานเท่าเดิม ต้นทุนก็อาจสู้คนอื่นไม่ได้ จะทำอย่างไรให้กำไรขั้นต้นที่ตัวเองขายสินค้าอยู่นั้นเพิ่มขึ้น เพราะยอดขายน้อยลง เนื่องจากอำนาจซื้อของคนตอนนี้แย่ลงกว่าเดิม แล้วพฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไป ซื้อขายผ่านทางออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มใหม่ที่เรียกว่าตลาดดิจิทัล ที่จะมีผู้ซื้อจะน้อยกว่าผู้ขาย

ดังนั้นลูกหนี้ต้องกลับไปเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ขอปรับโครงสร้างหนี้ คือขอขยายระยะเวลาการผ่อนเดิม เช่น จากเดิม 7 ปี ก็ขอขยายเพิ่มอีก 2 หรือ 3 ปี เพื่อให้จำนวนงวดที่จะชำระนั้นน้อยลง แล้วถ้าธุรกิจเรากำไรหดหาย ลูกหนี้ต้องคุยกับเจ้าหนี้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งวันนี้ ธปท.ก็ส่งสัญญาณลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อทุกประเภทของระบบธนาคาร หรือผู้ให้บริการที่ ธปท.ควบคุม ขอให้เขาช่วยเหลือในระยะเวลาส่งผ่านนั้นในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

จากเดิมผ่อน 100 วันนี้อาจต้องผ่อนเหลือ 1 ใน 3 หรือกว่า 30% เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยหรือการผ่อนชำระเงินต้นก็ต้องเลื่อนออกไป และต้องขยายหนี้ออกไปให้มาก เพื่อที่เราจะได้ไม่ผิดนัด พร้อมกันนั้นเราก็ต้องแสวงหาความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ มาเสริมธุรกิจให้ปรับเปลี่ยนได้ทันกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็ต่อสู้ให้สินค้าเรามีต้นทุนต่ำลง ค่าใช้จ่ายก็ถึงขั้นต้องมีหลายอย่างมาทดแทนพนักงานที่ทำอยู่ เพราะมีความจำเป็น แต่ก็ต้องส่งผ่านตรงนี้ด้วยการทำจริง และต้องทำด้วยความรวดเร็ว

ลูกหนี้บางรายอาจถึงขั้นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในศาลล้มละลาย ซึ่งคนยังไม่ทราบว่าสินเชื่อบุคคลเกินสองล้านบาท ถ้าเป็นนิติบุคคล หรือสินเชื่อธุรกิจ เกินสามล้านบาท สามารถขอยื่นแผนฟื้นฟูไปสู่ศาลล้มละลายโดยผ่านกรมบังคับคดีได้ กฎหมายนี้เพิ่งแก้ไขเมื่อปี 2562 คงจะสามารถหยุดดอกเบี้ยที่จะชำระของเจ้าหนี้ทั้งหมด เหมือนที่การบินไทยได้รับ เรียกว่า Automatic Stay

คือเจ้าหนี้ทุกคนต้องหยุดกระบวนการการเร่งรัดหนี้ หรือการคิดดอกเบี้ย แล้วทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกันที่จะทำแผนชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ดำเนินการธุรกิจต่อไป โดยจะเสียค่าธรรมเนียมประมาณพันบาทในการยื่นเรื่อง และเสียค่าธรรมเนียมศาลหมื่นบาท จากนั้นก็ยื่นเรื่องเข้าไปที่ศาลล้มละลายเพื่อการฟื้นฟู ก็จะสามารถหยุดดอกเบี้ยให้เหลือศูนย์ได้ในช่วงที่ทำการฟื้นฟู ซึ่งสินเชื่อบุคคลสามารถฟื้นฟูได้ 3 ปี แล้วต่ออีก 1 ปี และ 1 ปี รวมเป็น 5 ปี

ทั้งนี้ กรมบังคับคดีมีหน่วยงานเรื่องนี้อยู่โดยเฉพาะ แต่ถ้าใครสนใจก็มาคุยกับ SME Development Bank ก็ได้ เพราะ SME Development Bank ก็เป็นพันธมิตรหนึ่งที่ทำร่วมกับกรมบังคับคดีในช่วงเวลานั้น ซึ่งได้ยื่นไปประมาณ 2-3 ราย ก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้ต่างๆ ให้ลูกหนี้ผ่อนชำระจนอยู่รอดได้ ต้องมองว่าลูกหนี้เหล่านี้ไม่ใช่หนี้เสีย แต่เป็นหนี้ที่เราต้องช่วยฟื้นฟูกิจการให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เกิดการจ้างงาน ต้องยอมรับว่าเอสเอ็มอีมีคนเกี่ยวข้องร่วมสิบล้านคน สร้างรายได้ประชาชาติถึง 40% ของประเทศ

มงคล กล่าวว่า ธปท.ได้เปิด “คลินิกแก้หนี้” ที่บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ซึ่งเป็นหนี้บุคคลที่ไม่มีหลักประกัน จำนวนจะไม่เกินสองล้านบาท กลไกนี้จะประสานงานกับบรรดาสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เพื่อไปแก้ไขหนี้ สามารถโทรเข้าไปได้ที่เบอร์โทร 02-610-2266

ส่วนลูกหนี้ที่มีหนี้เกินสองล้านบาท หรือหนี้ธุรกิจเกินสามล้านบาท ให้ลูกหนี้ไปหาเจ้าหนี้ที่เป็นรายใหญ่ที่สุด ไปคุยกับเขาก่อนเพื่อขอเลื่อนการชำระ หรือลดดอกเบี้ย ในระดับหนึ่งก่อน แล้วให้เขาช่วยเหลือเรื่องการฟื้นฟู ปกติเจ้าหนี้จะมีบุคลากรที่มีความเข้าใจเรื่องการบริหารเงินและแก้ไขหนี้ ก็จะให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้ได้

แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้การแก้ไขหนี้ด้วยการฟื้นฟู ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการค้า และเป็นเรื่องที่เราเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่ควบคุมไม่ได้มาก่อน ก็เลยมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ที่จะสร้างกลไกพิเศษ อาจมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมที่จะขยายบทบาทหน้าที่ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้เป็นแกนหลักให้ลูกหนี้ที่มีจำนวนเป็นล้านๆ รายในประเทศ ซึ่งจะสามารถเข้าฟื้นฟูในเวลาพร้อมๆ กันใน 2-3 เดือนข้างหน้า  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *