สสว. “ของบ 5 หมื่นล้าน” ฟื้นฟู SMEs-ธุรกิจรายย่อยก้าวผ่านวิกฤติ Covid-19

ภาพจาก Facebook : สสว. OSS Center

สสว.เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติ 5 หมื่นล้าน เติมพลัง ชุบชีวิต SMEs กู้ 1 ล้าน ผ่อนได้นานถึง 10 ปี ธุรกิจรายย่อยกู้ 1 แสน 6 เดือนแรกไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมเตรียมติวเข้มมองโอกาสธุรกิจรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุค New Normal

ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. กล่าวว่า ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 สสว.จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาเบื้องต้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถค้าขายได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นออนไลน์ ทั้งเรื่องการทำตลาด การอบรม หรือปัญหาด้านการเติมทุนต่อยอดที่ติดขัดอยู่ในช่วงนี้ และต้องช่วยให้ผู้ประกอบการมองถึงโอกาสทางธุรกิจข้างหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปตาม New Normal เมื่อพูดถึงเอสเอ็มอี แต่ก่อนเราจะนึกถึงระดับ Small หรือ Medium  แต่ปัจจุบันจะรวมไปถึงระดับ Micro ด้วย

ดร.วีระพงศ์ มาลัย

สำหรับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก สสว.ได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ในการปล่อยสินเชื่อ“SMEs One” ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มเปิดรับคำกู้ ก็เต็มวงเงิน 5,000 ล้านบาท เร็วมาก เพราะความต้องการค่อนข้างสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหลังการพิจารณา ในส่วนของเอสเอ็มอีที่ยื่นกู้ไม่ผ่าน ก็จะนำวงเงินที่เหลือมาเปิดรับคำขอกู้รอบสอง โดยให้รอ SME D Bank ในอีก 1-2 สัปดาห์

ดร.วีระพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ วงเงินรวมประมาณ 50,000 ล้านบาท คุณสมบัติเบื้องต้นเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ประกอบการค้า ทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน หมายรวมถึงวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนที่ไม่จดทะเบียนก็ได้ ทั้งหมดต้องมีหลักแหล่งแน่นอน ต้องมีหน้าร้าน มีที่อยู่ ที่พิสูจน์ได้ว่าได้ดำเนินกิจการทำธุรกิจนี้มาระยะเวลาหนึ่ง เป็นเกณฑ์เบื้องต้น

เมื่อผ่านหลักเกณฑ์เบื้องต้น คนกลุ่มนี้ต้องไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคาร หรือเคยกู้ได้แต่ไม่มียอดคงค้างแล้ว วันนี้ไม่มีภาระหนี้ปรากฏอยู่ในระบบ เพราะฉะนั้นก็อาจหมายถึงร้านเล็กร้านน้อยริมถนน ซึ่งจริงๆ กู้ไม่ได้ ก็อาจกู้นอกระบบ โดยเงื่อนไขแรกคือทุกคนต้องมาขึ้นทะเบียนที่ สสว. แล้วมีกติกาที่ต้องปฏิบัติซึ่งไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการ

ลักษณะของการให้ที่เสนอไปมี 2 ส่วน กรณีแรก เมื่อผู้ประกอบการรายย่อยยื่นเรื่องเข้ามา เราตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลักแหล่ง มีกิจการอยู่จริง เบื้องต้นจะจ่ายให้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ถ้าคิดผ่อนชำระตกเดือนละ 200 กว่าบาท เพราะดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ผ่อนนาน 10 ปี โดย 6 เดือนแรก ไม่ต้องส่งทั้งดอกทั้งต้น แปลว่าเราเติมทุนเติมพลังให้ก่อนเลย ถ้าผู้ประกอบการการค้า มีธุรกิจแล้วยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินทุน

กรณีที่ 2 ซึ่งยื่นมาครั้งเดียวพร้อมกัน ถ้าผู้ประกอบการต้องการใช้เงินมากกว่านั้น เราก็ให้เป็นเงินวงกู้ระยะยาว 10 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 9,000 กว่าบาท โดยการปล่อยกู้จะประเมินแบบผ่อนปรนและเข้าถึงได้ง่ายกว่า ไม่ได้ประเมินตามแบบวิธีการของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

ทั้งกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 เราได้มีการกันเงินไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเติมทุนเข้าไปก่อน เราเรียกว่าเหมือนการร่วมทุน

สำหรับผู้ประกอบการที่รับสิทธิดอกเบี้ยถูก มีกติกาที่ต้องทำคือ ใน 1 ปี ทุกคนต้องเข้าอบรม Reskill, Upskill กับหน่วยงานใดก็ได้ และ สสว.ก็จัดอยู่แล้ว เพื่อเสริมศักยภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตลอดอายุเวลาของสัญญากู้ นอกจากนี้ จะต้องเข้าเป็นสมาชิกของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะได้เก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูล เพื่อใช้ในการติดตามประเมินผล

โดยผู้ประกอบการรายย่อยเล็กๆ ที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล เป็นบุคคลธรรมดา อาจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. หรือเข้าไปเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หรือสภาวิชาชีพอะไรก็ได้ เพราะเราต้องการให้เขามีแหล่งความรู้เพิ่มเติม

ดร.วีระพงศ์ กล่าวว่า เรื่องการอุดหนุนส่งเสริมเอสเอ็มอีในภาวะวิกฤติ เราเรียกแคมเปญนี้ว่า “เติมพลังฟื้นชีวิต” กรณีเติมพลังไม่เกิน 1 แสนบาท จะดูตามสภาพของกิจการ ส่วนกรณีฟื้นชีวิต 1 แสนบาทคงฟื้นไม่ไหว ก็ใช้เงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นวงเงินกู้ที่ช่วยเข้าไปเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการทำงานได้ เพื่อให้เอสเอ็มอียังสามารถอยู่รอด และอยู่ในภาวะวิกฤตินี้ได้ เพราะจีดีพีโดยรวมของเอสเอ็มอีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35 ของจีดีพีของประเทศ

ซึ่งหลังจากผ่านการอนุมัติของ ครม.แล้ว คิดว่าไม่เกิน 1 เดือน ก็น่าจะดำเนินการเรื่องทั้งหมดไปถึงผู้ประกอบการได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าเรื่องเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี 50,000 ล้านบาท จะผ่าน ครม.วันใด  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *