กกพ.จัดตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า

กกพ.จัดตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ขับเคลื่อนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องด้านพลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงขยะ สู่สังคม

ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 63) มีการประชุมและแถลงข่าวการจัดตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย

ทั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมครั้งแรกของโครงการฯ หลังเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 มีการเชิญสื่อมวลชนจากทุกภูมิภาค สื่อทุกประเภท ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ออนไลน์ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ มาเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ได้พูดคุยหารือวางกรอบแนวทางที่จะขับเคลื่อนเครือข่ายในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อจากนี้ เบื้องต้นตกลงกันว่าเราจะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงขยะ

และได้ข้อสรุปร่วมกันว่าบทบาทของสื่อมวลชนนั้นจะทำหน้าที่แค่ให้ข้อเท็จจริงจากข้อมูลทุกฝั่งทุกฝ่าย ซึ่งผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นข้อมูลชุดที่ถูกต้อง แต่ในแง่ของกระบวนการการตัดสินใจก็เป็นเรื่องที่ผู้ชมและผู้ฟังต้องใช้วิจารณญาณ และองค์ความรู้เดิมประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม อยากให้เชื่อได้ว่าข้อมูลใดที่เผยแพร่ผ่านเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้าจะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพราะผ่านกระบวนการกลั่นกรองว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจได้เลย

ดรุณวรรณ กล่าวว่า สื่อมวลชนที่เข้าร่วมเครือข่ายได้ผ่านกระบวนการคัดกรองมาในระดับหนึ่งจากกิจกรรมสัมภาษณ์เชิงลึก (Focus Group) กับสื่อมวลชนใน 6 ภูมิภาค ซึ่งแต่ละครั้งจะมีสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 20-25 คน แต่สื่อมวลชนที่เราคัดมาเป็นเครือข่ายจริงๆ จะมีสัดส่วนที่น้อยลงมาก เนื่องจากเราอยากจะเชิญคนที่มีความสนใจจริงๆ ที่จะเผยแพร่ข้อมูลทางด้านพลังงาน เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้จะมีประสบการณ์และองค์ความรู้ในระดับที่ลึกกว่าสื่อมวลชนที่อาจไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องพลังงานโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นองค์ความรู้ที่มีก็เลยแค่มาถูกเติมเต็มและทำให้ถูกต้องในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย

สำหรับทิศทางในการทำกิจกรรมหลังจากนี้ จะมีการประชุมเครือข่ายกันอีก 3 ครั้ง ซึ่งจะไปต่างจังหวัดอีก 3 ที่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งจะเป็นการเจาะประเด็นข้อมูลที่ลึกไปกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีภารกิจร่วมกันในการไปดูโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับโรงไฟฟ้าขยะ อีกอย่างละครั้ง

“จะพยายามผลักดันให้กิจกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นได้ภายในเดือนกันยายนนี้ และหวังว่าจะไม่มีโควิด-19 ระลอกสอง จะพยายามขับเคลื่อนกิจกรรม เพราะเวลารอไม่ได้ ตอนนี้เรื่องของพลังงานถูกพูดถึงทุกวัน ถ้าสื่อมวลชนมีองค์ความรู้เร็วขึ้นและมากขึ้นเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวสื่อมวลชนเอง และผู้ได้รับข่าวสารซึ่งก็คือประชาชน ส่วนตัวโครงการฯ ก็จะมีการเขียนถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับสื่อมวลชนที่มาเข้าร่วมเครือข่ายในการทำงานร่วมกันต่อจากนี้”

ดรุณวรรณ กล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการฯ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนนี้ จากเดิมที่วางแผนไว้ในเดือนสิงหาคม เราก็จะสำรวจการรับรู้ของสื่อมวลชน เปรียบเทียบระหว่างก่อนเข้าร่วมเป็นเครือข่าย และหลังเข้าร่วมเป็นเครือข่ายแล้ว ว่าอะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม อะไรคือองค์ความรู้ที่สื่อมวลชนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าการมีเครือข่ายนี้สร้างองค์ความรู้ให้สื่อมวลชนได้มากน้อยแค่ไหน เป็นตัวชี้วัดที่เราจะต้องทำ เพื่อที่เราจะได้รับทราบ  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *