“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับ “ธนาคารกรุงเทพ” สร้างระบบนิเวศธุรกิจในยุคดิจิทัล เพื่อกรุยทางไปสู่ “มหาวิทยาลัยสังคมไร้เงินสด” เต็มรูปแบบ พร้อมพัฒนา TU GREATS App ยกระดับการให้บริการชาวธรรมศาสตร์ ด้วยการรวมทุกอย่างไว้ในช่องทางเดียว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital Ecosystem) รองรับความต้องการของคนสมัยใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลนักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครอง ไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ภายใต้ชื่อ TU GREATS App โดยความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Cashless Campus หรือ “มหาวิทยาลัยสังคมไร้เงินสด”
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เป้าหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือการก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับนานาชาติ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมศักยภาพทางการแข่งขัน (Digital Transformation)
สำหรับความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ชาวธรรมศาสตร์ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางเดียว ซึ่งครอบคลุมทั้งบัตรนักศึกษาสมาร์ทการ์ด การชำระค่าลงทะเบียน การชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ผ่านระบบ Bill Payment ซึ่งทั้งหมดจะนำมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสังคมไร้เงินสด” ได้อย่างแน่นอน
“ทุกวันนี้ คนนิยมทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจำเป็นต้องสร้าง Digital Ecosystem หรือระบบนิเวศธุรกิจในยุคดิจิทัลขึ้นมารองรับ เพื่อให้เท่าทันและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดย TU GREATS App ก็นับเป็นหนึ่งในสมาชิกของระบบนิเวศนั้น” รศ.เกศินี กล่าว
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพจะเดินหน้าพัฒนาบริการให้สามารถรับรอง Digital lifestyle ของชาวธรรมศาสตร์ทั้งมิติด้านวิชาการ และบริการอื่นๆ อันประกอบด้วย TU GREATS App ที่ใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android การทำบัตรนักศึกษา Virtual ID Card ที่มีระบบป้องกันการถูกปลอมแปลง
สำหรับ TU GREATS App จะช่วยให้นักศึกษาสามารถเช็คตารางเรียน ผลการเรียน ข้อมูลอาจารย์ที่ปรึกษา ข้อมูลรายวิชา การสื่อสารระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ การนัดหมาย บริการให้คำแนะนำ ตลอดจนการชำระเงิน การลงทะเบียน การซื้อสินค้า และยังเป็นช่องทางรับข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยด้วย
ในส่วนของบัตรนักศึกษา จะมีฟังก์ชันควบคู่กับบัตรเดบิต Be 1st Smart TPN Mastercard จึงสามารถใช้ทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ได้เช่นเดียวกับบัตรเดบิตของธนาคารกรุงเทพ โดยรูปแบบบัตรเป็นการออกแบบของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงที่สุด
“จากนี้จะขยายความร่วมมือเพื่อสร้างให้ธรรมศาสตร์เดินหน้าไปสู่ Cashless Campus อย่างเต็มรูปแบบ โดยเราจะร่วมมือกันในการพัฒนา Digital Ecosystem โดยล่าสุดได้มีการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ สำหรับการชำระเงินทั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้รองรับการใช้จ่ายผ่านระบบอีเพย์เมนต์ และ QR Code รวมถึงกำลังเร่งพัฒนาให้รองรับการทำธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น” นายจรัมพร กล่าว