แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากอย่างไรให้ตอบโจทย์ชุมชน & แก้จนได้จริง!!

ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากต้องมองให้ครบวงจร ทั้งการผลิต การตลาด และการบริโภค โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ต้องเปิดกว้างรับความรู้ใหม่ การต่อจุดความสำเร็จ และรู้จักการแบ่งปัน เพื่อให้รากฐานชุมชนเข้มแข็งขึ้น

ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ กรรมการบริหารศูนย์สร้างสรรค์และนวัตกรรม คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ NIDA กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากต้องเริ่มจากความจริงที่เราเจอในชีวิตประจำวันว่ากำลังติดขัดปัญหาอะไร โดยให้มองวงจรครบทั้ง 3 อย่าง คือ ทั้งการผลิต การตลาด และการบริโภค ถ้าบอกว่ามีปัญหาเรื่องการผลิตแล้วไม่สามารถขายของได้ แสดงว่าเรายังมองไม่ครบวงจร เพราะยังไม่ได้เอาเรื่องการตลาดมามองก่อนที่จะไปผลิต

ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ

สำหรับชาวบ้านในชุมชนที่เป็นคนที่ผลิตนั้นมีความมุ่งมั่นมาก ดังนั้น ส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องดำเนินการและเพิ่มเข้าไป ก็คือความเชื่อมั่นกับความศรัทธาในตัวของเขา พลังในตัวของเขา อย่างแรกคือการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หลังจากเราเข้าไปสัมผัสแล้ว เขาค้นหาพลังในตัวเองเจอและระเบิดจากภายใน แล้วนำเอาความรู้จากส่วนกลางไปกระตุ้นทำให้เกิดลักษณะของความคิด ไม่ว่าจะผ่านโดยตรง หรือผ่านโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใส่เข้าไปให้พลังในตัวของผู้ที่อยู่ในชุมชนเกิดขึ้นมา

พอเกิดขึ้นแล้ว เมื่อระเบิดจากภายในออกมาแล้ว เขาจะสามารถรับรู้ความพอดี ก็คือจากความชำนาญที่เกิดในอดีต เอามาตัดสินใจว่าจะเดินต่อไปในอนาคตอย่างไร นี่คือการนำเอาหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ หลังจากนั้นก็เกิดการลงมือทำ แล้วก็เชื่อมต่อ จากที่ระเบิดภายใน พัฒนาตนเอง ให้ชุมชนนั้นพยายามที่จะรับทราบแล้วสื่อสารซึ่งกันและกันเองให้ได้ แล้วก็สร้างเครือข่ายของชุมชนเหล่านั้นขึ้นมา ด้วยการสร้างคุณค่ากับมูลค่าเพิ่มขึ้นมา

“การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ เบื้องต้นต้องเกิดจากเรื่องของการมีความมานะ มุ่งมั่น เชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งที่ตนกำลังทำ เชื่อมั่นในตนเองที่กำลังทำสิ่งเหล่านี้ สอง ต้องเปิดกว้างในการรับเอาความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเสมอ

สาม คือการต่อจุดความสำเร็จ หรือความจริงก็คือหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถที่จะเอามาเชื่อมต่อในจุดของสิ่งซึ่งทำเล็กๆ แล้วทำให้มองเห็นภาพรวมใหญ่ให้ได้ และสุดท้ายคือรู้จักการแบ่งปัน ความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นเสมอจากการแบ่งปัน ไม่ว่าจะแบ่งปันไปสู่คนประกอบอาชีพเดียวกัน หรือแบ่งปันไปสู่ผู้บริโภค”

การแบ่งปันหรือคุณค่าเพิ่มที่แลกเปลี่ยนตรงนี้ จะทำให้เกิดความขวนขวายในการหาความรู้ใหม่ๆ ในชุมชน ดังนั้น รากฐานของชุมชนก็จะเข้มแข็งขึ้น ทั้งในแง่ของความรู้ใหม่ที่เข้ามา นวัตกรรมที่เกิดขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รายจ่ายที่ลดลง

นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมต่อของเครือข่ายทั้งหมด จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจครบถ้วนตลอดเวลา เพราะเมื่อคนจำนวนมากเข้ามาอยู่รวมกัน เขาจะเติมเต็มในส่วนประกอบที่แตกต่างกัน เช่น คนหนึ่งทำอาหาร อีกคนทำเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำยารักษาโรค ทั้งหมดจะกลายเป็นส่วนที่ประกอบเป็นธรรมชาติภายในตัว แล้วฐานรากทั้งหมดจะยกขึ้นมาพร้อมๆ กัน

ดร.พีระพงษ์ กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ความรู้ได้เห็นทั้งภาพ ทั้งเสียง ทั้งคลิป หรือความรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ง่าย หรือแม้กระทั่งความรู้จากภาครัฐและเอกชนจะส่งให้กับชุมชนสามารถไปได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเป็นตัวที่ทำให้เกิดการแชร์ได้อย่างดี

“จากการที่ตนเองลงพื้นที่ชุมชนในปัจจุบัน ได้เห็นว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบในชีวิตประจำวันไปแล้ว แล้วสิ่งที่ภาครัฐมอบให้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เอกชนหลายบริษัทลงไปแล้วมีโครงการซีเอสอาร์ ทำให้ความกลัวเทคโนโลยีของชุมชนในประเทศเราลดลงอย่างมาก แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของวัยเลย เพราะที่ตนลงพื้นที่พบว่ามีตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าถึงแปดสิบกว่าเกือบเก้าสิบก็สามารถใช้เทคโนโลยีได้”

นอกจากนี้ ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างให้กายกับใจสมดุลได้ด้วย เช่น บางช่วงถ้าต้องการกำลังใจมาก การใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าเฟซบุ๊ก ไลน์ ไลฟ์ของผู้สูงอายุ เพื่อให้กำลังใจกับเด็กหรือเยาวชนที่อยู่ห่างไกลกัน ให้มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้ ให้คติ ให้กำลังใจทางโซเชียลมีเดีย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาด้านภาวะจิตใจได้ด้วย  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *