ทำอย่างไร..ให้ค้าปลีกรายย่อย “อยู่รอด” ในวิกฤติ Covid-19

ค้าปลีกรายย่อยต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 อย่าขายแค่หน้าร้านเพียงช่องทางเดียว ต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มพื้นที่การขายให้เป็นระดับประเทศ ไม่ใช่ขายเฉพาะในพื้นที่ตัวเอง

อัครเดช จันทาวรากุล กรรมการบริหาร บริษัท ทราคูล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ จำหน่ายและพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการธุรกิจทุกประเภท รวมทั้งตลาดฮาร์ดแวร์ที่เพิ่งทำ เกี่ยวกับสายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เครื่องปริ้นท์ ใน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้เชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว

อัครเดช จันทาวรากุล

ธุรกิจประมาณ 70% มีผลกระทบด้านรายได้ ย่านสำคัญหลายที่ของเชียงใหม่ปิดกิจการไปมาก ธุรกิจที่ปิดตัวไป ก็เป็นพวกโรงแรม ร้านอาหาร ร้านงานบริการต่างๆ ที่อาศัยนักท่องเที่ยว ถนนเส้นนิมมานเหมินทร์ เมื่อก่อนร้านอาหาร ร้านกาแฟเยอะมาก ช่วงหลังปิดตัวลงไปเยอะพอสมควร เพราะโควิด-19

บริษัททราคูลก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ธุรกิจจะหายไปประมาณ 20-30% แต่เราก็ต้องหาวิธีปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่า ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือลดค่าเช่าใช้โปรแกรมลง เพราะลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นเช่าซื้อ ให้ลด 50% นาน 3 เดือน ทำอย่างไรก็ได้ให้เรารักษาเขาไว้ได้ ซึ่งเขาก็จะอยู่รอดในธุรกิจของเขาด้วย พอเขารอด เขาก็จะช่วยเราคืน ทุกอย่างมันต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป และอีกช่องทางหนึ่งที่ทำก็คือเพิ่มการขายออนไลน์มากขึ้น แพลตฟอร์มที่เราดึงมาใช้มีทั้ง LINE Facebook Lazada Shopee

อัครเดช กล่าวว่า หลายธุรกิจที่โดนผลกระทบจากโควิด-19 ต้องหาวิธีปรับตัวก่อน เมื่อก่อนเราหากินกับนักท่องเที่ยวเยอะ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เราก็ต้องหาวิธีทำอย่างไรก็ได้ให้คนในพื้นที่ออกมาใช้บริการกันเอง อาจใช้วิธีลดแลกแจกแถม หรือทำโปรโมชั่น ให้คนออกมาใช้เงิน เพื่อที่เศรษฐกิจในพื้นที่จะได้มีการหมุนเวียนของเม็ดเงิน

ส่วนการช่วยเหลือของภาครัฐ อยากให้ช่วยเอสเอ็มอีที่มีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง เพราะไม่ได้ขายสินค้า โดยให้ภาครัฐลดมาตรการคัดกรองในการขอกู้เงินลง เพราะหลายเอสเอ็มอีที่ไปขอกู้เงินธนาคารแต่ไม่ผ่าน ทำให้ต้องปิดกิจการ แต่ถ้าภาครัฐช่วยเหลือลดมาตรการคัดกรองลงช่วยเหลือเอสเอ็มอี ก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน คนที่ได้เงินเดือนก็จะใช้เงินจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า ทำให้เกิดการหมุนเวียนในธุรกิจของภาคนั้นๆ ถ้าเรามีการใช้จ่ายที่เพียงพอและพอดี ก็จะทำให้เกิดสภาพคล่องในเขตชุมชนหรือในภาคนั้นๆ

สำหรับเอสเอ็มอีที่เราดูแลอยู่ โดยใช้โปรแกรมของทราคูล พบว่าสิ่งที่เขาได้รับกระทบน่าจะเป็นเรื่องการขาย เราจึงช่วยเหลือลูกค้าด้วยการนำเสนอ จากเขาขายออฟไลน์ ขายหน้าร้านอย่างเดียว เป็นเพิ่มการขายออนไลน์ ด้วยแพลตฟอร์ม เช่น LINE Facebook ไม่ต้องเลิกจ้างคน แต่เปลี่ยนคนขายของหน้าร้านเป็นรับออเดอร์ออนไลน์ หรือให้เป็นไรเดอร์ไปส่งของให้ลูกค้า

“มันจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวคิดนิดหนึ่ง ถ้าเราขายแบบเดิม แน่นอนจะกระทบพอสมควร เราต้องดูว่าปัจจุบัน New Normal ทุกอย่าง เปลี่ยนเป็นออนไลน์หมดเลย ซื้อขายกดในแอปพลิเคชั่นมือถือแป๊บเดียวก็ได้ของแล้ว ซึ่งหัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนตรงนี้ คือ “ง่าย เร็ว ดี” ง่ายคือสั่งซื้อดี ขนส่งเราต้องเร็ว ดีคือสินค้าคุณภาพเราต้องมี ถ้าเราได้ตรงนี้ไม่ว่าทำธุรกิจไหนถ้าต้องปรับเปลี่ยนก็คิดว่าอยู่รอดแน่นอน”

อัครเดช กล่าวว่า ค้าปลีกรายย่อยต้องปรับเปลี่ยน ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยน ก็ไม่สามารถเดินไปกับโลกปัจจุบันได้ เราอย่าขายแค่ช่องทางเดียว ช่องทางอื่นที่มีที่ช่วยเรา เช่น การขายออนไลน์ หรือการขายอะไรที่นอกเหนือจากการขายหน้าร้าน ให้เราดึงมาประยุกต์ใช้ แพลตฟอร์มออนไลน์ถ้าเราใช้ได้ มันจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังพอสมควร เพราะมันไม่ได้ขายเฉพาะคนในพื้นที่

“ตัวออนไลน์ ถ้าเราทำเพจ ก็จะสามารถโปรโมท ยิงแอดได้ระดับประเทศเลย เราไม่ได้ขายแค่คนในพื้นที่ ถ้าเราเปิดใจตรงนี้ ก็จะทำให้ธุรกิจของเราขายได้ อาจมีค่าขนส่งนิดหน่อย แต่แลกกับการขายสินค้าในภาพกว้างมากขึ้น ตรงนี้สำคัญที่สุด หรือบางคนก็ทำกลุ่ม LINE@ ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นลูกค้าที่เขามีฐานข้อมูลอยู่ในระบบอยู่แล้ว ในช่วงโควิด-19 ที่ลูกค้าไม่ได้ออกมาซื้อที่หน้าร้าน เขาก็จะยิง LINE@ ไป ถ้าลูกค้าสนใจก็จะสั่งสินค้า เราก็ส่งสินค้าไปให้ แค่เปลี่ยนกลยุทธ์จากการที่เราจะขายหน้าร้าน ให้เป็นขายถึงเขา โดยการที่เปิดแอปฯ มือถือขึ้นมาก็เจอสินค้าของเรา คิดว่าจะช่วยได้เยอะ”

อัครเดช กล่าวว่า ตอนนี้อินเตอร์เน็ตน่าจะเข้าถึงเกือบทุกพื้นที่ ยกเว้นบางพื้นที่จริงๆ ที่ไม่มี ถ้าเป็นอย่างนั้นเขาก็คงต้องขายในรูปแบบเดิมไปก่อน แต่ในเมื่อโอกาสทุกอย่างมาถึงแล้ว เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนมุมมองคิดนิดหนึ่งในการขาย เราอย่าขายในช่องทางเดียว ต้องหาวิธีขยายช่องทางในการขาย ถ้าเราขายในพื้นที่ เราก็จะได้แค่คนในพื้นที่ แต่ถ้าเราขายออนไลน์ เราก็จะได้ในระดับประเทศ มันจะต่างกันเยอะกับบางเอสเอ็มอี ก็ลองพิจารณาดู  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *