กรมสรรพากรใช้ยุทธศาสตร์ 9 ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เข้ากับโลกยุคดิจิทัล พร้อมจัดเสวนา “วิถีใหม่…ให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย” 24 ส.ค.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรพยายามที่จะหาวิธีการในการให้บริการที่เข้ากับโลกยุคดิจิทัล โดยตอนนี้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ 9 ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือ 9 e
เริ่มจากตัวใหม่เป็น e-Tax Invoice กับ e-Receipt ปกติเราไปซื้อของก็จะได้รับใบกำกับภาษี หรือผู้ขายเวลาขายสินค้าหรือให้บริการ ก็จะมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี ซึ่ง e-Tax Invoice จะเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน e-Receipt ก็คือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่เราจะต้องลงลายมือชื่อด้วยดิจิทัล คือจะต้องออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย จากเดิมที่ออกเป็นกระดาษซึ่งมีต้นทุน และใช้พื้นที่เก็บเอกสารเป็นจำนวนมาก
e-Withholding Tax เราจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ปกติเวลาเราได้รับค่าจ้าง บริษัทที่จ่ายค่าแรงต้องออกหนังสือรับรองให้เป็นกระดาษ พอถึงเวลาการยื่นแบบอาจจะหาย ก็จะไม่ได้เอามายื่นและเสียสิทธิในการถูกหักไป ตอนนี้เป็น e-Withholding Tax เป็นระบบหักภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเอามาใช้ใหม่ในการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับผู้จ่าย ก็จะต้องผ่านธนาคารด้วยระบบ e-Withholding Tax แทนกระดาษ
e-Stamp Duty เมื่อเรามอบอำนาจให้ใคร เมื่อก่อนต้องไปซื้ออากรที่สรรพากรพื้นที่สาขา แต่ตัวนี้เป็นการชำระอากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต โดยสัญญานั้นจะต้องทำเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ แล้วเข้าไปในระบบของกรมสรรพากร แล้วจ่ายอากรสแตมป์ที่เป็น e-Stamp Duty
e-Donation กรมสรรพากรมีระบบการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าไปทำบุญที่วัดจะมีคิวอาร์โค้ด หรือบอกเลขบัตรประชาชนกับวัด ระบบนี้ทำให้ไม่ต้องเก็บใบอนุโมทนาบัตรไว้ และตัวนี้จะขึ้นไปอยู่ที่ระบบ My Tax Account ของกรมสรรพากร เวลาครบกำหนดการยื่นแบบ ก็เปิดเข้าไปที่เว็บไซต์กรม www.rd.go.th แล้วเข้าไปที่ My Tax Account ก็จะเห็นว่าบริจาค e-Donation ไว้เท่าไร ไม่ใช่เฉพาะวัด โรงพยาบาล โรงเรียน มูลนิธิ ก็มีเข้าระบบ e-Donation กับกรมสรรพากรแล้ว
ในส่วนของ My Tax Account สามารถเข้าไปดูข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพ เงินบริจาค (e-Donation) เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
e-VRT เปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นการคืนภาษีนักท่องเที่ยว แต่เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม มีโควิด-19 มา ก็เลยดรอปไป ต่อไปถ้ามีการเปิดประเทศ แล้วนักท่องเที่ยวเข้ามา ตัวนี้ก็จะช่วยในการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้เขาประทับใจในการได้คืนเงินเร็ว ซึ่งจะทำเป็น VRT on blockchain โดยเป็นที่แรกของโลกที่ทำก่อน จะไปเชื่อมกับธนาคาร กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และร้านค้าที่เข้าร่วม
สำหรับมาตรการขยายการยื่นแบบ จากปกติต้องยื่นวันที่ 31 มีนาคม แต่ถ้ายื่นทางอินเตอร์เน็ตก็จะได้อีก 8 วัน รัฐบาลคาดว่าโควิด-19 น่าจะยืดเยื้อ จึงขยายให้ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ทางกรมสรรพากรก็เลยทำเรื่อง TAX from Home ขึ้นมา สามารถยื่นได้จากที่บ้าน โดยเริ่มจาก e-Registration การลงทะเบียน เพื่อรับยูสเซอร์ และพาสเวิร์ด ต่อไปเป็น e-Filing คือการยื่นแบบ ก็เลือกช่องทางว่าจะเข้าทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือ แอปพลิเคชั่นของกรม คือ RD Smart Tax
เนื่องจากเป็นช่วงทดลอง แอปฯ RD Smart Tax จะยื่นได้เฉพาะ ภงด.91 แล้วต้องยื่นคนเดียว ถ้าจะเอาเงินได้ของคู่สมรสมายื่นนั้นไม่ได้ ซึ่งต่อไปทางกรมจะพัฒนาเพิ่มขึ้น เมื่อยื่นแบบแล้ว ถ้ามีภาษีเสียก็ใช้ e-Payment ชำระภาษีทางออนไลน์ ถ้ามีภาษีขอคืน ก็คือ e-Refund แนะนำให้ขอคืนผ่านพร้อมเพย์ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้คืนภายใน 3-7 วัน
สมหมาย กล่าวว่า กรมสรรพากรจะจัดงานเสวนาที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมนี้ เริ่มลงทะเบียน 9.00 น. ช่วงเช้า จะเน้นเรื่องการค้าขายออนไลน์ หัวข้อสัมมนาคือ “ยอดขายออนไลน์ปัง มาฟังเรื่องภาษี” ซึ่งเราจะเน้นเป็นบุคคลธรรมดา พวกเอสเอ็มอี นิติบุคคล ถ้าต้องการลงทะเบียน ให้เข้าไปที่เฟซบุ๊กกรมสรรพากร หรือเข้าไปดูที่เว็บไซต์กรมก็ได้ ช่วงบ่ายมีเสวนา “วิถีใหม่…ให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย”
สำหรับการลงทะเบียนจะลงได้เพียงช่วงเดียว โดยช่วงเช้าเปิดรับลงทะเบียน 200 คน ช่วงบ่าย 400 คน ถ้าใครลงทะเบียนไม่ทัน จะมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กกรมสรรพากร ภายในงานจะมีบูธเกี่ยวกับ e ต่างๆ และมี RD tax advisor คอยให้คำแนะนำ รวมทั้งสามารถยื่นแบบเสียภาษีได้ภายในงานด้วย @